ประเพณีการแต่งกายไว้ทุกข์ และวางดอกไม้จันทน์

ประเพณีการแต่งกายไว้ทุกข์ และวางดอกไม้จันทน์

ไทยเราสมัยก่อนมีการไว้ทุกข์โดยการโกนหัว และใส่เสื้อผ้าด้วยสีที่แปลกจากธรรมดา เช่น สีดำ ขาว น้ำเงิน ตามยุคตามสมัย

นับแต่วันตายเป็นต้นไปญาติพี่น้องจะไว้ทุกข์ให้แก่ผู้ตายรวมทั้งผู้ที่มาช่วยงานศพด้วยการไว้ทุกข์ ผู้รู้คาดว่าคงเกิดจากความเศร้าใจของญาติ เพื่อแสดงความเศร้าสะเทือนใจ ความอาลัยอาวรณ์ในผู้ตายให้ปรากฏ โดยทำตัวให้แปลกจากธรรมดา เพื่อแสดงว่ากำลังมีทุกข์ เป็นต้นว่าร้องไห้รำพันกลิ้งเกลือกตัวไปมา ไม่แต่งตัว ไม่หวีผม ไม่ไปเที่ยวงานอื่นๆ เลย ด้วยเศร้าโศกเสียใจมาก อาการเหล่านี้แรกๆ คงเป็นด้วยความจริงใจ ภายหลังคนอื่นเห็นอาการเหล่านี้เป็นที่ซาบซึ้งใจมาก เลยเอาอย่างจนกลายเป็นประเพณีไป ดังปรากฏว่าสมัยหนึ่ง เราเคยมีนางร้องไห้อาชีพ คอยรับจ้างร้องไห้ในงานศพก็มี

แต่นักปราชญ์ทางมานุษยวิทยาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ หลังจากรวบรวมเรื่องประเพณีไว้ทุกข์ของชาติต่างๆ ที่เจริญและไม่เจริญแล้วว่า การไว้ทุกข์น่าจะเกิดจากเรื่องกลัวผี จึงแต่งตัวปลอมให้ผิดปกติเสียเพื่อมิให้ผีรู้หรือจำได้ บางชาติโกนผม ทำร้ายร่างกายหน้าตาให้เป็นตำหนิ ใส่เสื้อผ้าต่างจากธรรมดา เช่น นุ่งกระสอบ เอากระสอบหรือผ้าคลุมหัว และอื่นๆ ถ้าไม่ทำเช่นนี้ผีจำได้จะมาทำร้ายให้เดือดร้อน จึงทำต่อๆ มาจนกลายเป็นประเพณีไป

ไทยเราสมัยก่อนมีการไว้ทุกข์โดยการโกนหัวและใส่เสื้อผ้าด้วยสีที่แปลกจากธรรมดา เช่น สีดำ ขาว น้ำเงิน ตามยุคตามสมัย ซึ่งการไว้ทุกข์ด้วยการแต่งสีนั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีความเห็นว่า แรกๆ คงแต่งด้วยสีขาวก่อน พร้อมกันนั้นก็ทรงสันนิษฐานเกี่ยวกับการแต่งตัวด้วยสีอื่นๆ ดังปรากฏในสาสน์สมเด็จว่า

“...การนุ่งขาวในงานศพน่าจะมีมาก่อนเก่าช้านาน ข้อนี้พึงเห็นด้วยประเพณีนุ่งขาวในงานศพมีทุกประเทศทางตะวันออกนี้ ตั้งแต่อินเดียตลอดไปจนเมืองจีน เมื่อคิดต่อไปว่าเหตุใดจึงนุ่งขาว เห็นว่าผ้าขาวเป็นขั้นต้นของเครื่องนุ่งห่มที่ใช้กันในบ้านเมืองเป็นสามัญ คือเอาฝ้ายอันเป็นธรรมชาติสีขาวมาปั่นทอเป็นผืนผ้าจึงเป็นสีขาวใช้นุ่งห่มกันเป็นปกติ การนุ่งห่มด้วยสิ่งอื่นเป็นของมีมาก่อนรู้จักทอผ้า เป็นแต่คงนุ่งอยู่ตามแบบเดิม ที่นุ่งห่มผ้าย้อมฝาดก็เพื่อรักษาให้ผ้าทนทาน เพราะอัตคัดผ้าขาวนุ่งห่มต่อบุคคลที่มั่งมีศรีสุขหาผ้าขาวได้ง่าย ปรารถนาจะแต่งตัวให้สวยงามกว่าเพื่อน จึงคิดทำผ้านุ่งห่มย้อมสีสันเขียนลวดลายต่างๆ เสมออย่างเครื่องประดับตลอดจนจัดทำเสื้อแสงปักลวดลายก็เพื่อให้สวยงามอย่างเป็นเครื่องประดับ ไม่แต่งในเวลามีทุกข์โศก คงแต่ผ้าขาวที่นุ่งห่ม นอกจากไว้ทุกข์ยังมีกรณีอื่นอีกหลายอย่างที่นุ่งขาวห่มขาวแต่วิเคราะห์ดูก็อยู่ในการงดเครื่องประดับทั้งนั้น จึงเห็นว่าการงดเว้นเครื่องประดับเป็นมูลของการนุ่งขาว...”

bjkhcg5ej9fcbkgjifb6i


ข้าราชบริพารฝ่ายใน แต่งกายสีขาวในงานพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ (พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดย ศ.น.อ.สมภพ ภิรมย์ ร.น.ราชบัณฑิต)

อนึ่ง การนุ่งขาวในงานศพสันนิษฐานว่าแต่เดิมเห็นจะนุ่งหมดทั้งครัวเรือน ตั้งแต่พ่อแม่พี่น้องจนบ่าวไพร่ของผู้ตาย แต่ต่อมาจะเป็นเพราะเหตุใดก็ไม่ทราบแน่ชัด จึงกำหนดให้นุ่งขาวแต่ญาติที่อายุอ่อนกว่าผู้ตายกับบ่าวไพร่ ถึงกระนั้นผู้ใหญ่ในสกุลจะนุ่งขาวก็นุ่งได้ตามใจสมัคร มีตัวอย่างในเมืองพม่าปรากฏว่าพระเจ้ามินดง ทรงขาวในงานพระศพอัครมเหสีด้วยความอาลัย แล้วทรงขาวไว้ทุกข์ต่อมาจนตลอดพระชนมายุ ในเมืองไทยนี้ก็มีตัวอย่างปรากฏในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 ว่าเมื่องานพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพในปี 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระภูษาลายพื้นขาวทุกวัน ดำรัสว่า “ลูกคนนี้รักมากต้องนุ่งขาวให้”

เรื่องที่กล่าวมานี้ส่อให้เห็นว่าประเพณีในสมัยนั้นการนุ่งขาวในงานศพไม่นุ่งแต่เฉพาะผู้ที่อ่อนกว่าผู้ตายอย่างเช่นถือกันในปัจจุบันนี้ และมีปัญหาน่าคิดต่อไปด้วยว่า หากไม่ใช่งานศพเจ้านายซึ่งทรงเสน่หาเท่าเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพจะทรงพระภูษาสีไร ข้อนี้มีเค้าเงื่อนปรากฏอยู่ในสมัยเมื่อผู้หญิงยังไม่แต่งดำในงานศพผู้หญิง ที่ญาติชั้นผู้ใหญ่ย่อมนุ่งผ้าลายพื้นม่วง ผู้หญิงที่ไม่ใช่ญาตินุ่งผ้าลายสีน้ำเงิน ห่มแพรสีขาวทั้งสองพวก ส่อให้เห็นว่าในงานศพสมัยรัชกาลที่ 1 ญาติผู้ชายชั้นผู้ใหญ่ก็เห็นจะนุ่งสีม่วงหรือสีอื่นที่ไม่ฉูดฉาดและคาดพุงสีขาว ใช้ประเพณีเช่นนั้นมาจนสิ้นรัชกาลที่ 3

ถึงรัชกาลที่ 4 มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องเครื่องแต่งตัว เริ่มด้วยให้ใส่เสื้อในการงาน ปัญหาน่าจะเกิดขึ้นในสมัยนี้ว่าในงานศพควรจะใช้เสื้อสีใด พวกชั้นที่นุ่งขาวต้องใส่เสื้อขาวอยู่เองไม่มีปัญหา เป็นปัญหาแต่ญาติชั้นผู้ใหญ่ที่นุ่งผ้าสีม่วงจะใส่เสื้อสีใด จึงบัญญัติให้ใส่เสื้อแพรสีกุเหร่า ด้วยสีหม่นใกล้กับสีม่วง ที่กล่าวมานี้เป็นการอธิบายตามคาดคะเน แต่มีกรณีที่ได้เห็นเค้าเงื่อนครั้งหนึ่ง เมื่องานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา ในรัชกาลที่ 5 ในสมัยนั้นเจ้านายใช้ประเพณีทรงดำทรงขาวตามชั้นพระชันษาอยู่แล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงปรารภถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ซึ่งเป็นหัวหน้าราชนิกุล จะให้แต่งตัวอย่างเจ้าก็ไม่เข้าระเบียบ จะให้แต่งอย่างขุนนางสามัญซึ่งนุ่งสมปักลายใส่เสื้อขาว (หรือ)เยียรบับหม่อมฉันจำไม่ได้) ก็ทรงเกรงใจดูเหมือนจะทรงปรึกษาเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ เอาแบบแต่งสีกุเหร่าอย่างแต่ก่อนมาใช้ มีรับสั่งให้ใส่เสื้อสีแก่ใกล้กับสีดำ หม่อมฉันได้เห็นนุ่งสมปักลาย (ดูเหมือนสีม่วง) ใส่เสื้อแพรน้ำตาลนั่งที่หน้าพลับพลาทุกวัน

การแต่งสีดำในงานศพนั้น เอาแบบมาจากฝรั่งเป็นแน่ แต่จะเริ่มใช้เมื่อใดนี้สงสัยนัก น่าจะเริ่มใช้เมื่อรัชกาลที่ 4 แต่นึกไม่ได้เลยว่าเคยเห็นหรือรู้ว่าใครแต่งในรัชกาลนั้น เห็นแต่ในหน้าหนังสือพิมพ์ (จะเป็นบางกอก คาเลนดาร์ ของหมอบรัดเลย์ หรือสยามเรโปสิตอรี่ของหมอสมิธจำไม่ได้) พรรณนางานพระศพพระองค์เจ้าอิศรวงศวรราชกุมารลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ของสมเด็จ พระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งพระราชทานเพลิง ณ วัดบวรนิเวศ เมื่อปี 2414 ว่า “ไทยเริ่มแต่งดำอย่างฝรั่งนั้น” แต่หม่อมฉันสงสัยว่าอาจจะแต่งในงานอื่นมาแล้ว เจ้าของหนังสือเพิ่งเห็นในงานนั้นก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแต่งตัวไว้ทุกข์ด้วยสีต่างๆ นอกจากสีขาวซึ่งมีอยู่เดิมแล้ว เชื่อว่าพวกประชาชนธรรมดาคงแต่งตัวขาว คงไม่แต่งตามชนชั้นสูงเป็นแน่ หรือหากแต่งก็อาจแต่งด้วยสีอื่นด้วยไม่ถือการยศศักดิ์ แต่ต่อๆ มาอาจจะแต่งตามก็เป็นได้ ด้วยมีผู้นำแล้วย่อมมีผู้ตาม ดังเช่นประเพณีการทำบุญ 7 วัน 50 วัน และ 100 วัน ซึ่งคนชั้นสูงนำมาแล้ว ต่อๆ มาประชาชนทำตามจนเป็นประเพณีสืบปฏิบัติสืบต่อๆ กันมา แต่ที่แน่นอนที่สุดเราแต่งดำตามฝรั่งในสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ก็ทรงเห็นด้วย แต่พระองค์ท่านไม่แน่ใจว่าการแต่งขาวเราได้รับจากจีนดังที่เชื่อกันดังปรากฏในสาสน์สมเด็จว่า

“...แต่งดำรู้เป็นแน่ว่าเอาอย่างฝรั่ง ส่วนการนุ่งขาวเดิมเข้าใจว่าเอาอย่างจีน แต่ทีหลังมาทราบว่าจีนเขาไม่ได้นุ่งขาว ดุจตรัสเล่าว่าเขาแต่งไว้ทุกข์ด้วยผ้าย้อมฝาด เพราะฉะนั้นในการที่เราแต่งไว้ทุกข์เครื่องขาวจะเอาอย่างใครมาก็น่าสงสัยอยู่มาก”

22090020_10155785408037855_5052206590631612629_n_1

ส่วนการไว้ทุกข์นุ่งผ้าน้ำเงินนั้นคงเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 6 ดัง “เสฐียรโกเศศ” กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง ประเพณีเนื่องในการตาย ว่า "...การไว้ทุกข์นุ่งผ้าน้ำเงินเห็นจะเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งมีเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน การไปช่วยงานศพเมื่อผู้ไปไม่ได้เกี่ยวเป็นญาติกับผู้ตาย แต่ประสงค์จะให้เกียรติยศแก่งาน ก็มีการแต่งกายเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงินไป หรือผู้ที่ไม่มีเครื่องแบบอย่างนี้เมื่อไปในงานศพ ถ้าจะแต่งดำหรือแต่งขาวไปก็ตะขิดตะขวงใจ เพราะนิยมกันว่าถ้าเป็นผู้ใหญ่กว่าผู้ตายหรือมีอายุและยศถาบรรดาศักดิ์ก็ใช้แต่งดำล้วน ถ้าเป็นชั้นผู้น้อยหรือเป็นบริวารในผู้ตายก็ใช้แต่งขาวล้วน ส่วนผู้ที่ไปในงานศพที่ไม่เข้าในลักษณะข้างต้นนี้ ถ้าจะแต่งดำไปถึงไม่ดำล้วนเป็นแต่นุ่งดำติดปลอกดำพันแขนเสื้อบางทีเจ้าภาพในงานหรือคนอื่นๆ ค้อนเอา ครั้นจะแต่งขาวตนก็ไม่เกี่ยวเป็นอะไรกับผู้ตายถูกค้อนอีกเหมือนกัน ถ้าศพนั้นเป็นศพใหญ่โตเห็นจะเป็นด้วยเหตุอย่างนี้ จึงได้เกิดมีนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงินแทนผ้าดำขาวขึ้นแล้วลามไปนุ่งผ้าสีนกพิราบ เพื่อหลีกสีน้ำเงินอีกขั้นหนึ่ง...”

ในระยะหลังๆ การแต่งตัวไว้ทุกข์ได้คลายจากการแต่งตัวเพื่อมิให้ผีจำได้ หรือเพื่อแสดงความเศร้าโศกเสียใจในการสูญเสียญาติที่เคารพรักไปเป็นประเพณีที่ต้องทำ เหตุนี้บางครั้งแทนที่จะแต่งตัวดำหรือขาวทั้งชุดดังเดิม จึงแต่งโดยการนำผ้าขาวหรือดำที่แสดงถึงการไว้ทุกข์มาติดที่เครื่องแต่งตัวแทน เช่น ปลอกแขนดำซึ่งฝรั่งทำขึ้นก่อนแล้วไทยกับจีนเอาตามอย่างก็เป็นได้ ซึ่งอาจจะมีเหตุผลหลายประการ เป็นต้นว่าแทนการแต่งชุดไว้ทุกข์ไปในงานศพ จึงแต่งตัวชุดทำงานหรือชุดข้าราชการไปแทนเพื่อเป็นเกียรติ แต่ในขณะเดียวกันก็แสดงเครื่องหมายของการไว้ทุกข์ในชุดนั้นๆ ด้วย ซึ่งจะพบบ่อยๆ โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ หรืออาจจะเป็นเพราะว่าการแต่งชุดไว้ทุกข์นานๆ ทำให้ลำบากในการปฏิบัติงานจึงอนุโลมเพียงทำเครื่องหมายแสดงว่ายังมีทุกข์อยู่ แล้วจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ตามแต่สะดวก จะเห็นได้จากชาวจีนนิยมติดเศษผ้าทั้งขาวและดำชิ้นเล็กๆ ที่แขนเสื้อแทนการไว้ทุกข์เต็มหรืออื่นๆ ก็อาจจะเป็นได้

หลังจากเก็บอัฐิแล้วบางรายจะออกทุกข์แต่บางรายไว้ทุกข์ต่อไปก็มี ซึ่งส่วนมากแล้วผู้ตายมักเป็นบุคคลที่ผู้ไว้ทุกข์เคารพรักและนับถือมาก การไว้ทุกข์จึงอาจกำหนดได้ว่าไว้เพียง 3 วันหรือ 7 วัน ด้วยสมัยก่อนจะเผาศพในระยะ 3 วันหรือ 7 วัน หลังจากวันตายไม่นิยมเก็บไว้เช่นระยะหลังๆ

กล่าวได้ว่าการแต่งกายสีต่างกันในงานศพสมัยโบราณทำให้ผู้พบเห็นสามารถรู้ทันทีว่าผู้นั้นเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้ตายอย่างไร เพียงไร และทำให้ผู้ที่จะไปงานนั้นๆ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับตนเอง และเทือกเถาเหล่ากอหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในสกุลของตน เพื่อที่จะได้แต่งสีให้ถูกต้อง...

มาวันนี้ที่วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยนิยมสวมใส่เสื้อผ้าสีดำสุภาพตามแบบสากลนิยมเพื่อเป็นการแสดงความเคารพและไว้อาลัยแก่ผู้วายชนม์ ซึ่งในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั้นมีระเบียบแบบแผนเรื่องการแต่งกายไว้ทุกข์ดังนี้

hdabkeji8ha876eda8aj7_1

การแต่งกายในช่วงวันไว้ทุกข์ (ออกทุกข์วันที่ 30 ตุลาคม) สำหรับประชาชนทั่วไป ให้สวมชุดสีดำสุภาพ หากไม่มีเสื้อผ้าสีดำให้เลือกเสื้อผ้าที่มีสีเทา สีขาว หรือสีพื้นที่สุภาพ แล้วติดแถบผ้าหรือปลอกแขนสีดำบริเวณข้างซ้าย หรือกลัดริบบิ้นสีดำบริเวณหน้าอกหรือแขนเสื้อข้างซ้าย

นักเรียน นักศึกษา แต่งกายตามระเบียบของสถานศึกษานั้นๆ ส่วนชาวเขา หรือชนเผ่า ก็แต่งกายด้วยชุดชาวเขาหรือชนเผ่า

ในส่วนของพนักงานบริษัทและเจ้าหน้าที่ ให้สวมเครื่องแบบบริษัทหรือหน่วยงาน แล้วสวมปลอกแขนสีดำด้านซ้ายทั้งชายและหญิง

สำหรับข้าราชการ มีสองแบบคือชุดสีกากีและชุดข้าราชการ (ปกติขาว) ให้กลัดริบบิ้นสีดำหรือปลอกแขนสีดำด้านซ้าย

การแต่งกายไว้ทุกข์อย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากจะเป็นการให้เกียรติผู้เสียชีวิตแล้วยังถือเป็นการให้เกียรติตัวเองที่ได้ปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมตามประเพณีนิยม....