ความรัก ความทรงจำ...จากยอดดอย (2)

ความรัก ความทรงจำ...จากยอดดอย (2)

โครงการหลวงและเรื่องเล่าจากยอดดอย ยังคงเป็นความทรงจำและประทับใจมิรู้ลืม จากพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 และจากพระราชปณิธานว่า "ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก"

     เรื่องราวเพียงเศษเสี้ยวจาก “ยอดดอย” ที่พ่อหลวงของแผ่นดิน ในหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 จากการเสด็จฯ ประพาสต้นบนดอย จนถึงวันนี้เป็นเวลา 48 ปีแล้วที่ โครงการหลวง รวมถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ จากเหนือจรดใต้ 4,685 โครงการ ก่อเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร

     ดังพระบรมราโชวาทที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานให้แก่เจ้าหน้าที่โครงการหลวง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ตอนหนึ่งว่า...พวกเราต้องช่วยกันพัฒนาให้เกษตรกรของเราได้อยู่ดีกินดี ชาติบ้านเมืองของเราจึงจะไปรอด เราคงอยู่กันอย่างไม่สงบ ถ้าบ้านเมืองของเรามีแต่ความยากจน มีแต่โจรผู้ร้าย เกษตรกรอยู่ดีกินดี พวกเราก็พลอยอยู่ดีกินดีไปด้วย...

     ในหลวงทรงบอกให้ชาวเขาปลูกพืชผักเมืองหนาว เป็นกลยุทธ์การตลาด 4.0 ที่พระองค์ทรงริเริ่มมาเกือบ 50 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังทรงให้ความสำคัญกับ “งานวิจัย” อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ใหม่ ๆ ทั้งการพัฒนาระบบการผลิต การขนส่ง การตลาด การศึกษาวิจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงสภาพดิน น้ำ ป่า นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

     โครงการหลวงไม่เคยหยุดงานวิจัย และไม่ได้มีแค่พันธุ์พืชผักและไม้ดอกหนาวทว่ายังมีผลิตผลจากงานประมงที่สูง โดยร่วมมือกับกรมประมง ดำเนินงานวิจัยและเพาะพันธุ์ ปลาเทร้าต์ และ ปลาสเตอเจี้ยน ประสบผลสำเร็จ เป็นที่ต้องการของเชฟหลายคน

     ก่อนฤดูหนาวมาเยือน ศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดทริปพิเศษพาไปชมเรื่องราวของ อาหารจากแผ่นดิน สัมผัสเรื่องราวจากยอดดอยที่ สถานีวิจัยประมงพื้นที่สูงอินทนนท์ โดยมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมมือกับกรมประมง ทดลองเลี้ยงและขยายพันธุ์เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์วิจัย จักรพันธุ์ จันทาสี พานำชมบ่อปลาสเตอเจี้ยนและให้ข้อมูลว่า

ปลาเทร้าต์อบเฟนเนลพริกไทยดำre

     “ปลาเรนโบว์เทร้าต์” เป็นปลาน้ำจืดที่อาศัยอยู่ในลำธารของทวีปอเมริกาเหนือ มีเนื้อสีขาว นุ่ม รสชาติดี อุดมด้วยสารอาหารและกรดไขมันไม่อิ่มตัว มีโอเมก้า-3 ปรุงอาหารได้หลากหลาย และเลี้ยงในน้ำเย็นจากน้ำตกสิริภูมิ บนดอยอินทนนท์

ปลาสเตอร์เจี้ยน1re

     ปลาสเตอเจี้ยน (Sturgion) เป็นปลาเมืองหนาวที่พบในน้ำสะอาดใสเย็นแถบไซบีเรีย ในรัสเซียปลาเมืองหนาวนี้โตเต็มที่ตัวยาวประมาณ 200 เซนติเมตร นิยมรับประทาน “ไข่ปลา” หรือ “คาเวียร์” ที่มีราคาสูง โดยปลาจะเติบโตได้ดีในอุณหภูมิไม่เกิน 20 องศา

     โครงการหลวงอินทนนท์ได้ศึกษาวิจัยปลาสเตอเจี้ยนมาตลอดจนประสบความสำเร็จไม่ต้องนำเข้าลูกปลาแล้ว เราสามารถผลิตลูกปลาได้ ทำไข่ได้เองเมื่อปี 2557 ปลาสเตอเจี้ยนมีที่มาจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปเยือนรัสเซีย ได้เสวยคาเวียร์ ท่านทรงบอกว่ามีรสชาติดีน่าจะเอาไปวิจัยลองเพาะเลี้ยงที่เมืองไทย เราก็เริ่มต้นวิจัยมาหลายปี

     สเตอเจี้ยนโตเต็มที่ตัวใหญ่มาก มีสีดำ ตัวยาว ๆ ปากแหลม ๆ คล้ายจระเข้ ส่วนเรนโบว์เทร้าต์ หรือปลาเทร้าต์พันธุ์เรนโบว์เวลาว่ายน้ำข้างลำตัวจะสะท้อนกับแสงแดดเหมือนสีรุ้ง เราผลิตไข่ที่มีสีแดงจำหน่าย ราคากิโลกรัมละ 7,000 บาท ส่วนไข่ปลาสเตอเจี้ยน หรือคาเวียร์มีสีดำ กิโลละ 70,000 บาท ต่างกันมาก เนื่องจากปลาเทร้าต์เลี้ยง 1-3 ปี ก็สามารถให้ไข่ได้แล้ว แต่สเตอเจี้ยนเลี้ยง 8 ปี ถึงจะให้ไข่ เปรียบเทียบกับปลาเทร้าต์ปีหนึ่งเราเพาะได้ประมาณ 1 แสนตัว แต่สเตอเจี้ยนได้ 5-6 หมื่นตัว คาเวียร์เราผลิตได้แต่ไม่มาก ใส่กระปุกขนาด 100 กรัม ปีที่แล้วผลิตได้ 4-5 กิโลฯ ไม่ได้จำหน่ายเป็นการค้า มีส่งให้ตามโรงแรมซึ่งไม่มากนัก

     ความยากอีกอย่างคือปลาสเตอเจี้ยน อยู่ในความคุ้มครองของไซเตส (CITES อนุสัญญาว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์) ห้ามนำเข้า แต่เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงขออนุญาตนำเข้ามาเลี้ยง และผ่านการวิจัยจนเราเพาะเองได้ เป็นปลาโบราณมีอายุยืนถึงร้อยปี มีคอลลาเจนสูง สุภาพสตรีนิยมซื้อไข่ไปบำรุงผิว เชื่อว่าช่วยให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ เป็นปลาที่ได้ชื่อว่าไม่มีกระดูก กินได้ทั้งตัวเพราะกระดูกเขาเหมือนเอ็นและเป็นกระดูกอ่อน ตัวใหญ่ที่สุดที่เราบันทึกได้ยาวประมาณ 2 เมตร หนักร้อยกว่ากิโล เนื้อปลารับประทานได้เมื่ออายุ 2 ปีขึ้นไป ส่วนปลาต้องอายุ 8 ปีขึ้นไปถึงจะให้ไข่”

     เมื่อรีดไข่ออกมาแล้วก็นำเนื้อปลาไปทำ “สเตอเจี้ยนรมควัน” ส่วนคาเวียร์เม็ดเล็ก ๆ ฉายาว่า “อัญมณีสีดำ” นั้นกว่าจะได้ปริมาณไข่ 1 กิโลกรัม ต้องใช้ปลา 5-6 ตัว การเลี้ยงก็ต้องประคบประหงมให้อยู่ในน้ำเย็นจัด สะอาด และน้ำไหลเวียนตามธรรมชาติ ที่สถานีเพาะเลี้ยงดูแลอย่างดีจากน้ำใสเย็นจากน้ำตกผาดอกเสี้ยวและน้ำตกดอยหัวเสือ ซึ่งกรมทรัพยากรฯ จะมาตรวจคุณภาพน้ำทุกปี ยังมีปัญหาคือขนาดของปลา และเนื่องจากต้องใช้องค์ความรู้ในการดูแลเป็นพิเศษจึงยังไม่ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง เช่นเดียวกับปลาเรนโบว์เทร้าต์ซึ่งไม่ได้แจกจ่ายให้สมาชิกโครงการหลวงเลี้ยง แต่มีเอกชนบางรายทำฟาร์มปลาเทร้าต์แบบปิด

       "ปลาสเตอเจี้ยนต้องดูแล 24 ชั่วโมง แบ่งคนออกเป็น 3 กะ มีการเช็คค่า pH ของน้ำ อุณหภูมิ เช็คปลาทุกเดือน เมื่อถึงเวลาให้ไข่ได้ต้องสแกนความพร้อม และแยกปลาที่พร้อมให้ไข่ออกไปอีกบ่อหนึ่ง"

เมนูปลาสเตอร์เจี้ยนกับปลาเทราต์re

    ห่อหมกปลาre

     อยากรับประทานปลาสเตอเจี้ยน ต้องดูแลเงินในกระเป๋าด้วย (โดยเฉพาะคาเวียร์) ที่ร้านอาหารของสโมสรอินทนนท์ มีเมนูปลาสเตอเจี้ยน เช่น สเต๊กปลา 1 ชิ้น 450 บาท ฉู่ฉี่ปลาสเตอเจี้ยน หรือใส่ในซีซาร์สลัด สเตอเจี้ยนนึ่งมะนาวหรือนึ่งบ๊วย และสเตอเจี้ยนรมควัน

     จากสถานีวิจัยประมงบนที่สูง ยังวนเวียนไต่ดอยอยู่บนดอยอินทนนท์ ที่ หน่วยวิจัยผาตั้ง นักวิชาการเกษตรหลวงอินทนนท์ สมสิทธิ์ พรมมา ดูแลงานปศุสัตว์และดอกไม้แห้ง ที่นี่มีวิวหลักล้าน...ปุยเมฆสีขาวตัดกับทิวเขาเขียว ราวกับอยู่สวิตเซอร์แลนด์ แถมมี “ฝูงแกะ” วิ่งกรูกันออกมาจากกระท่อมน้อยเพื่อมากินอาหาร

     “ที่นี่เริ่มเลี้ยงแกะเมื่อปี 2553 โดยได้รับพระราชทานแกะ จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มา 32 ตัว เป็นพันธุ์ดอร์เซ็ตกับแกะลูกผสม จุดประสงค์คือนำขนแกะให้ชาวบ้านทอ มีกลุ่มแม่บ้านทอผ้า เวลากลางวันปลูกผัก ไม้ผล ไม้ดอก ตอนกลางคืนทอผ้า

     จากแกะ 32 ตัว เราก็พัฒนามาเรื่อย ๆ เลือกพันธุ์ขนนุ่ม ต่อตัวให้ขนปริมาณมากโดยคัดจากพันธุ์ดอร์เซตกับลูกผสมมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งให้ขนครั้งละ 3 กิโลกรัม เป็นสายพันธุ์จากออสเตรเลียและอังกฤษ จนปัจจุบันนี้เรามีแกะ 160 ตัว ปีหนึ่งจะให้ลูกประมาณ 50 ตัว ต่อปี แบ่งเป็นเพศผู้กับเพศเมียครึ่งต่อครึ่ง มีแฝดประมาณ 10% ตัดขนทั้งสองเพศเมื่ออายุราว 2 ปี และจะตัดได้ตลอดจนแกะอายุ 15 ปี ขนส่วนที่ดีที่สุดคือช่วงหัวไหล่ใช้ทำเสื้อ ส่วนนี้ให้ขน 1-1.5 ก.ก. ต่อตัว เวลาตัดขนจะกร้อนทั้งตัวแล้วเอาช่วงหัวไหล่ไปทำเป็นเสื้อ ส่วนอื่นทำเป็นผ้าปูที่นอน ผ้าคลุมไหล่ ย่าม ขายในร้านของโครงการหลวง เริ่มขายมาสัก 3 ปี เนื่องจากเมื่อก่อนเรายังได้ขนมาน้อยและชาวเขาที่ทอผ้าก็มีไม่กี่คน แต่ตอนนี้เริ่มมีกลุ่มแม่กลางหลวง กลุ่มอาข่าน้อย โดยใช้รูปแบบการทอแบบผ้าฝ้าย เป็นแบบกี่ ต้องใช้การดึงเส้น ต้องมาฝึกทอ ต้องมีใจรักเพราะเป็นงานประณีต”

ฟาร์มแกะ2re

    ฟาร์มแกะ3re  

     “เราเลี้ยงแกะให้ ชาวเขาไม่ได้เลี้ยงแต่จะซื้อเส้นใยในราคาถูก พอทอเสร็จโครงการหลวงก็จะรับซื้อกลับมาจำหน่ายให้ เราเป็นฝ่ายการตลาดให้ด้วย งานจากผ้าทอขนแกะ ได้แก่ เสื้อ ย่าม ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ โดยเขาจะออกแบบเอง งานที่ขายดีคือผ้าคลุมไหล่”

      หาวัตถุดิบให้ ขายให้ แถมสอนเทคนิคการทอ การออกแบบ โดยส่งเจ้าหน้าที่จากศูนย์ศิลปาชีพมาฝึกสอนให้อีก ชาวเขาบางรายก็ทอเองขายเอง ผ้าคลุมไหล่ขนแกะล้วนสีธรรมชาติ ใช้เวลาทอ 1 เดือน ราคาผืนละ 1,000 บาท แต่ส่วนใหญ่มักนำไปผสมกับเส้นใยฝ้าย 1 : 1 หรือฝ้ายกับแกะ 2 : 1 และผ้าทอขนแกะล้วน

       เป้าหมายข้างหน้ายังมีอีกเพราะ “ยังต้องวิจัยต่อไปเพื่อพัฒนาให้ได้ขนแกะคุณภาพดี และปีหน้าจะสามารถย่นระยะเวลามาเป็น 2 ปี ตัดขน 3 ครั้ง รอบละ 8 เดือน เพื่อส่งเสริมงานผ้าทอขนแกะให้มากขึ้น และพัฒนาสูตรอาหารสำหรับแกะขุน”

       ก่อนตัดขนต้องพาแกะไปอาบน้ำอุ่น ขัดสีฉวีวรรณก่อน 20 นาที เพราะน้องแกะมอมแมมจากดินโคลนและความชื้นของสภาพอากาศบ้านเรา การอาบน้ำเพื่อละลายไขมันและทำความสะอาดจากเศษดิน วัชพืช อาบน้ำปีละครั้ง ตัดขนปีละครั้ง ก็จะได้ขนแกะอ่อนนุ่ม สีขาวครีม น่าใช้...

      จาก "ม่อนน้องแกะ" ไปชมงานปศุสัตว์จากโครงการหลวงต่อที่ ฟาร์มปศุสัตว์ ตำบลแม่เหียะ ที่มี ไก่ฟ้า ไก่กระดูกดำ และ ไก่เบรส นักวิชาการงานพัฒนาและส่งเสริมปศุสัตว์ มูลนิธิโครงการหลวง ณัฐกานต์ มณีทอง ให้ข้อมูลว่า

         “เดิมชาวเขาเลี้ยงหมูไว้เป็นอาหารอยู่แล้ว ช่วงหลังเริ่มมีสัตว์ต่างประเทศเข้ามาเพราะโครงการหลวงทำเกี่ยวกับพืชผักเมืองหนาว เชฟโรงแรมต่าง ๆ ก็ต้องการเนื้อสัตว์เพิ่มจึงทดลองเลี้ยง ถือเป็นงานส่งเสริมเล็ก ๆ เพราะพระเจ้าอยู่หัวฯ ไม่โปรดให้มีการฆ่าสัตว์ แต่ต่อมาเริ่มมี ไก่เบรส เป็นไก่พื้นเมืองฝรั่งเศส เริ่มนำเข้ามาเลี้ยงตั้งแต่ปี 2533 ตามด้วย ไก่กระดูกดำ สายพันธุ์จากจีนและญี่ปุ่น เรานำเข้ามาพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ ทำวิจัยและทดลองและส่งให้ชาวเขาเลี้ยงแล้วโครงการหลวงรับมาแปรรูปอีกที เราเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ได้แข่งกับข้างล่าง เช่น ไก่เบรส มีที่ฝรั่งเศสกับที่โครงการหลวงเท่านั้น ไม่มีที่อื่น ส่วนไก่ดำเลี้ยงทั่วไป ไก่เบรสเนื้อนุ่ม เส้นใยจะไม่ยุ่ย เนื้อส่วนสะโพกอร่อยใช้ทำสเต๊ก ตัวใหญ่สุดราว 2 กิโลฯ ไก่ดำตัวใหญ่สุด 3.7 กิโลฯ ลักษณะเด่นคือสีดำที่มีเมลานินเยอะ ผลการวิจัยพบว่ามีสารคาโนซีน คล้าย ๆ แอนตี้ออกซิแดนท์ ลดการอักเสบ ที่จริงในไก่พื้นเมืองก็มี แต่ด้วยสีดำทำให้เกิดสารนี้มากกว่า เอาไปตุ๋นเครื่องยาจีนอร่อยมาก”

ไก่เบร ไก่ดำ1rere

        อาหารแปรรูปจากไก่เบรสและไก่กระดูกดำ มีอาทิ ไก่เบรสรมควัน ขนมจีบไก่เบรส ขนมจีบไก่กระดูกดำ ซาลาเปาชาโคลไก่ดำ ไข่ไก่เบรส ไข่ไก่กระดูกดำ ไข่ไก่อินทรีย์ วางจำหน่ายในร้านของโครงการหลวงทั่วประเทศ

ไข่ไก่เบรสre

      “ไข่ไก่เบรสมีขนาดเล็กกว่าไข่ไก่ทั่วไป ไก่ที่ให้ฟองใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ปรับปรุงพันธุ์มาแล้ว แต่ไข่เราเก็บไปฟักต่อได้ ฟองเล็ก ๆ ไข่แดงเล็กแต่สีเข้ม ตอนแรกเราเอาเข้ามาเลี้ยงไม่มาก แต่พอได้รับความนิยมเราแนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงมากขึ้น แต่ต้องอยู่ในข้อกำหนดของเราเช่น เลี้ยงในโรงเรือนมีหลังคา พื้นที่ 1 ตร.ม. ต่อไก่ 5 ตัว ด้านในมีท่อสำหรับให้อาหารและน้ำ และต้องมีพื้นที่ปล่อยให้ไก่เดินเล่น 1 ตร.ม. ต่อไก่ 1 ตัว มีการป้องกันไก่จากสัตว์ที่จะเข้าไปทำร้าย เกษตรกรต้องป้องกันตัวเองเพราะต้องเข้าไปเหยียบมูลไก่ และในโรงเรือนต้องปูแกลบเอาไว้เพราะเมื่อผสมกับมูลไก่นำไปใส่แปลงผักอินทรีย์ของตัวเอง ประหยัดไปได้เดือนละ 4-5 พันบาท หรือไม่ก็ส่งปุ๋ยขายเป็นรายได้ ไก่เบรสถ้าดูแลดี ไก่จะไม่ป่วย ข้างบนไม่ค่อยมีโรค แทบไม่ต้องให้ยาหรือฉีดวัคซีนเลย”

สลัดหมี่ผัดไก่เบรสรมควันราดเสาวรสre

       ไก่เบรสที่ส่งให้เกษตรกรเลี้ยงคือลูกจิ๊บ อายุ 3 สัปดาห์ ชาวเขาหรือเกษตรกรจะเลี้ยงอยู่ 3 เดือน นานกว่าไก่ทั่วไปที่เลี้ยง 35-45 วันก็ขายได้แล้ว ดังนั้นก็จะได้ราคาสูงกว่าไก่ทั่วไป คือกิโลละ 240 บาท”

      ชาวเขาถ้าขยันมีแต่ผลกำไร โดยเฉพาะเนื้อไก่เบรส ที่นุ่มเพราะมีไขมันเยอะ ส่วนไก่กระดูกดำหรือไก่ดำ ชาวเขานิยมเลี้ยงและทำอาหารอยู่แล้ว งานปศุสัตว์กำลังขยายผล จากเมื่อสองปีก่อน มีเกษตรกรเลี้ยงไก่ 33 ราย ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 110 ราย แต่มีเพียง 10% ที่ทำปศุสัตว์อย่างเดียว นอกนั้นเน้นปลูกผักปลูกไม้ดอก แล้วเลี้ยงไก่เป็นรายได้เสริม

     “โครงการหลวงต้องคัดเลือกเกษตรกรที่พร้อมด้วยโดยรับลูกไก่เบรสตั้งแต่ 100 ตัวขึ้นไป และต้องมีโรงเรือนที่สร้างตามแบบที่กำหนดไว้ มีลานปล่อยให้ไก่ออกมากินหญ้า แล้วถ้าเขาเลี้ยงดีผลผลิตก็จะดี ได้ราคาดี เพราะเรารับซื้อกลับคืน เขาจะได้ส่วนต่าง ตอนนี้เลี้ยงกันมากที่ศูนย์ทุ่งเริง แม่หลอด และปางดะ กำหนดให้เลี้ยงในพื้นที่สูงกว่า 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล เพราะไก่เบรสเดิมเป็นไก่ของฝรั่งเศส เขาชอบที่สูง อากาศเย็น โครงการหลวงทำวิจัยมา 3 ปี โดยเลี้ยงไก่เบรสในพื้นที่แตกต่างกัน 3 ระดับคือ ต่ำกว่า 800 เมตร, 800 และสูงกว่า 800 เมตร พบว่าไก่เบรส ถ้าเลี้ยงบนพื้นที่สูง 800 – 1,000 เมตร ไก่จะเจริญเติบโตดีกว่าไก่ที่เลี้ยงข้างล่าง”

ไก่ฟ้าre

       ส่วน "ไก่ฟ้า" เนื่องจากมันบินได้เกษตรกรจึงต้องพร้อมก่อสร้างโรงเรือนคลุมผ้าตาข่าย ต้องมีพื้นที่มากและดูแลอย่างพิถีพิถัน

     “ไก่ฟ้าผลผลิตน้อยเพราะไม่เหมือนไก่ทั่วไป คือจะออกไข่เป็นฤดูกาลช่วงมีนาคมถึงสิงหาคม นอกจากนี้แล้วไม่ออกไข่อีกเลย ปีนี้เราผลิตไก่ฟ้าได้ 1,000 ตัว ขึ้นกรุงเทพหมด งานราชประสงค์สั่งจองไว้ ไก่ฟ้าเนื้อจะแน่นเหมือนนก ตัวโตสุดแค่ 1.5 – 1.7 กิโลฯ ราคาเท่ากับไก่เบรส แต่เลี้ยงนาน 4-5 เดือน เพราะต้องอายุ 3 เดือนขึ้นไปถึงจะเห็นความแตกต่างระหว่างตัวผู้กับตัวเมีย ตัวผู้สวยมีขนที่หัวสีเขียว คอเป็นสีเหลืองรูปวงแหวน ส่วนตัวเมียเป็นสีน้ำตาลลายจุด ช่วงแรกที่เลี้ยงไก่ฟ้ายังไม่นิยมนัก แต่ตอนนี้ตลาดต้องการ เชฟเริ่มถามหา...”

       เมื่อเป็นผลผลิตจาก “โครงการหลวง” ใคร ๆ ก็วางใจได้ว่า สะอาด อร่อย ปลอดภัย และมีส่วนช่วยสนับสนุนเกษตรกร ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก

       และมีจุดเริ่มมาจากน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักมากที่สุดในโลก...

ขอบคุณภาพไก่ฟ้า และเมนูปลาเทร้าต์อบเฟนเนลพริกไทยดำ กับสลัดหมี่ไก่เบรสรมควันราดเสาวรส จากขาบสตูดิโอ สุทธิพงษ์ สุริยะ

หมายเหตุ : ศูนย์การค้าสยามพารากอน ชวนสัมผัสเรื่องราวอันทรงคุณค่าของ “อาหารจากแผ่นดิน” ในงาน “รอยัล โปรเจ็คต์ แอท สยามพารากอน” และร่วมอุดหนุนผลผลิตจากโครงการหลวง ระหว่างวันที่ 23 – 29 พฤศจิกายน 2560 ที่ชั้น M และพาร์ค พารากอน