พร้อมใจภักดิ์ ถวายเป็นพระราชกุศลพ่อหลวงของคนไทย

พร้อมใจภักดิ์ ถวายเป็นพระราชกุศลพ่อหลวงของคนไทย

พร้อมใจภักดิ์ แบ่งปัน-ช่วยเหลือ ถวายเป็นพระราชกุศล พ่อหลวงรัชกาลที่ 9

อีกไม่กี่วันนับจากเวลานี้ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จะเริ่มขึ้น เชื่อแน่ว่า คลื่นมหาชนจากทั่วสารทิศจะหลั่งไหลเข้าพื้นที่จัดงานพระราชพิธี จำนวนมาก

แม้ทางสำนักพระราชวัง และรัฐบาลจะจัดพื้นที่รองรับประชาชนที่ตั้งใจ ส่งพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สู่สวรรคาลัย เป็นครั้งสุดท้าย บนพื้นที่ถนนมหาราช, ถนนท้ายวัง, ถนนสนามไชย และ พื้นที่รอบสนามหลวง บนถนนราชดำเนินใน และ ถนนหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่พื้นที่ดังกล่าวสามารถรองรับประชาชน ได้ประมาณ 4 หมื่นคนเท่านั้น

จากการประกาศอนุญาตให้ ประชาชนเข้าพื้นที่จัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม เชื่อแน่ว่า คลื่นประชาราษฎร์ อาจเกินแสนคน และล้นความจุพื้นที่ที่จัดเตรียมไปจนถึงพื้นที่รอบนอกบริเวณจัดงานพระราชพิธีฯ ทั้งถนนดินสอ บริเวณศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร, ชุมชน3แพร่ง, ถนนกัลยาณไมตรี กระทรวงมหาดไทย, พื้นที่ชุมชนท่าเตียน ส่วนที่ติดกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร (วัดโพธิ์), ถนนมหาราช รวมถึงบนถนนราชดำเนินใน

จากการสำรวจพื้นที่ของ "ทีมข่าวคมชัดลึกออนไลน์" พื้นที่ที่คาดว่าจะเป็น "จุดผ่าน" ของประชาชน พบว่าคนส่วนใหญ่ตระหนักและเข้าใจถึงหัวอกเพื่อนร่วมชาติเดียวกัน ที่ต้องการเข้าถึง และส่งพ่อหลวงของปวงชนให้ใกล้ที่สุด ดังนั้นพวกเขาจึงใช้โอกาสอันสำคัญ ทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล ด้วยการแบ่งปัน

อย่างตัวแทนชุมชนแพร่งสรรพศาสตร์ เขตพระนคร ที่เตรียมทำอาหารกล่อง เมนูข้าวคั่วกลิ้ง แจกให้กับประชาชน โดยนางวลี ทองเพ็ญ แม่ค้าส้มตำ วัย 50 ปี พร้อมด้วยนางสุทฐิศา สุทิน เจ้าของร้านเฮียหลอ ข้าวหมูแดง วัย 64 ปี อาศัยอยู่ในซอยช่างทอง บอกว่า เช้าวันที่ 26 ตุลาคมนี้ ทั้งสองจะร่วมทำคั่วกลิ้งหมูประมาณ 400 ห่อ เพื่อแจกให้กับประชาชนที่เข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยความตั้งใจให้ชาวบ้านหรือคนต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ากรุงเทพได้มีอาหารไว้รองท้องระหว่างรอส่งพ่อหลวง

เช่นเดียวกับทายาทรุ่น 3 ร้านราดหน้ายอดผัก 40 ปี – กุลนิภา เลิศมณีสกุลชัย วัย 32 ปี ที่ช่วงเทศกาลกินเจ เปลี่ยนเมนูประจำร้าน เป็นอาหารเพื่อคนทานเจ บอกถึงความตั้งใจด้วยว่า "วันที่ 26 ตุลาคม ทางร้านจะทำอาหารเจ เพื่อแจกให้ประชาชน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทานฟรี ตั้งแต่ 9 โมงเช้า จนถึงบ่าย 3 โดยจะใช้พื้นที่หน้าร้าน และ ประตูเมืองเก่า แพร่งสรรพศาสตร์เป็นจุดบริการประชาชน"

ขณะที่วันงานจริง "กุลนิภา" บอกว่าจะเตรียมวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารให้ประชาชนให้มากที่สุด จากที่ประเมินเบื้องต้น คาดว่าจะมีประชาชนที่รับอาหารเจกว่า 2,000 คน ส่วนพื้นที่นั่งรบประทานอาหารนั้น ยอมรับอาจมีไม่เพียงพอ แต่ทางร้านได้จัดภาชนะชานอ้อยเพื่อให้ผู้รับอาหารถือและเดินทานในพื้นที่ทางเท้าได้

อย่างไรก็ดี ในพื้นที่ชุมชนแพร่งสรรพศาสตร์ และพื้นที่ใกล้เคียงศาลาว่าการกรุงเทพ มีหลายร้านค้าที่เตรียมปิดชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 25 – 26 ตุลาคม แต่ไม่ถือว่าสร้างผลกระทบกับครัวเรือนที่อาศัยในพื้นที่ เพราะขณะนี้พวกเขาทยอยซื้อวัตถุดิบอาหารสด มาตุนไว้แล้ว อย่างนายสมชาย เตชัสวงศ์ วัย 80 ปี พ่อค้าขายจักร สี่แยกสะพานช้างโรงสี บอกว่าช่วงสุดสัปดาห์ครอบครัว ซื้อของจากตลาดตรอกหม้อมาเก็บไว้ เพื่อทำอาหาร เมนูง่ายๆ อย่าง ก๋วยเตี๋ยว ไว้ทานช่วงที่ร้านขายอาหารหยุดเป็นส่วนใหญ่ และในวันนั้นเอง เขาจะปิดร้าน เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพพ่อหลวงผ่านหน้าจอทีวี เนื่องด้วยวัยชราและปัญหาสุขภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าไปในพื้นที่งานพระราชพิธีฯ

นอกจากพื้นที่ของชุมชนและครัวเรือนโซนตะวันออกของพื้นที่สนามหลวง ที่เตรียมตัวแบ่งปันและร่วมงานพระราชพิธีฯ พื้นที่ด้านทิศใต้ของบริเวณงานก็เตรียมพร้อมเช่นกัน อย่างชุมชนท่าเตียน ช่วงถนนมหาราชส่วนท้าย ซึ่งจะถูกใช้เป็นถนนสัญจรของบุคคลสำคัญ นายเกรียงไกร โอฬารพันธุ์สกุล ประธานชุมชนท่าเตียนให้สัมภาษณ์ว่า ทางชุมชนให้ความพร้อมด้านการดูแลความปลอดภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ของทางการ ซึ่งหน้าที่สำคัญคือ เตรียมพร้อมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่ โดยเฉพาะวันที่ 25 ต่อเนื่องถึงวันที่ 26 ตุลาคม

ขณะที่น้ำใจของชาวชุมชนที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ก็เตรียมไว้เช่นกัน โดย "น.ส.สอาดใจ ศรีเทพ เจ้าของร้านรับอรุณ วัย 46 ปี" เล่าถึงความตั้งใจว่า วันที่ 25 ตุลาคม ทางร้านจะเปิดให้ จิตอาสาฯ และ เจ้าหน้าที่ใช้เป็นจุดพักผ่อน ขณะที่ภายนอกร้านนั้นจะมีจุดแจกอาหารและเครื่องดื่มให้ประชาชน พร้อมบริการห้องสุขา นอกจากนั้นจะนำโทรทัศน์จำนวน 5 เครื่องติดตั้งและเปิดให้ประชาชนได้ชมรายการที่สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ถ่ายทอด ส่วนวันที่ 26 ตุลาคมนั้น ทางร้านจะปิดตามที่หน่วยราชการขอความร่วมมือ

"ความตั้งใจที่ทำแบบนั้น เพื่อให้ประชาชนที่เดินทางมายังพื้นที่ มีอาหารและน้ำดื่มทานระหว่างรอเข้าร่วมงานพระราชพิธี และตั้งใจทำประโยชน์ถวายเป็นพระราชกุศลให้พ่อหลวงของพวกเราเป็นครั้งสุดท้าย" สอาดใจ เล่าความตั้งใจ

ขณะที่ร้านค้าในพื้นที่ใกล้เคียงพระบรมมหาราชวัง อย่างพื้นที่มหาราช พื้นที่ท่าพระจันทน์ พบว่าทั้งพื้นที่จะปิดให้บริการและงดการค้า 1 วัน ตามที่เจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือในวันที่ 26 ตุลาคม แต่ในวันก่อนงานพระราชพิธีฯ จะเริ่ม เขาพร้อมอุทิศตัวเพื่อประโยชน์ให้กับประชาชน อย่าง จิตรา ศิริเลิศ เจ้าของร้านขายของชำ วัย 71 ปี เล่าว่าตั้งใจจะเปิดร้านเผื่อสามารถอำนวยความสะดวกให้ประชาชน แม้จะไม่มีของแจก หรือ ของฟรี แต่จะใช้ประสบการณ์เพราะเป็นคนในพื้นที่บอกทางแก่ประชาชนได้ เช่นเดียวกับสมจอง รองแก้ว ประธานชุมชนท่าวัง ย่านมหาราชที่พร้อมอุทิศแรงกายช่วยเหลือตามที่ทางการหรือประชาชนทั่วไปร้องขอ เพราะด้วยคนในชุมชนเป็นผู้มีรายได้น้อย จึงไม่สามารถระดมเงินทุนเพื่อซื้อของมาแจกจ่ายให้ผประชาชนทั่วไปได้

ส่วนพื้นที่การค้าย่านบางลำพู ถนนรามบุตรี ที่พอมีฐานะ จากการสำรวจพบว่าเป็นพื้นที่โรงแรม ที่พัก และขายของที่ระลึก ในวันงานพระราชพิธีฯ มีหลายร้านที่ตั้งใจระดมเงินเพื่อซื้ออาหารและน้ำดื่มไว้คอยบริการประชาชน อย่าง นางลำใย มีอย่าง แม่ค้าขายกาแฟ วัย 58 ปี ถนนรามบุตรี เผยว่า ในวันงานตนตั้งใจมาช่วยแจกอาหารกล่อง 200 กล่องและน้ำดื่ม 100 โหล ซึ่งเจ้าของร้านบิ๊กคัลเลอร์ เตรียมนำมาแจกประชาชนที่ร่วมงานพระราชพิธีฯ ขณะที่กิจการร้านกาแฟของตนเองจะหยุดไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ตามที่สำนักงานเขตพระนครขอความร่วมมือ เพื่อสร้างความเรียบร้อยในพื้นที่ที่ใกล้กับงานพระราชพิธีฯ

และนั่นเป็นภาพรวมของการเตรียมพร้อมของประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะเป็น จุดผ่านของคลื่นมหาชน ร่วมงานพระราชพิธีฯ วันที่ 25-26 ตุลาคม โดยทั้งหมดล้วนอาสาจิตที่ภักดีต่อพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างเต็มเปี่ยม