ช่างภาพเยาวชนจิตอาสา ทำงานถวายรัชกาลที่ 9

ช่างภาพเยาวชนจิตอาสา ทำงานถวายรัชกาลที่ 9

เหล่าช่างภาพจิตอาสาเยาวชน ปรากฏกายในชุดนักเรียน สะพายกล้องตัวโตร่วมทำข่าวงานการก่อสร้างพระเมรุมาศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 เคียงบ่าเคียงไหล่สื่อมวลชนและช่างภาพมืออาชีพ

น้องๆ นักเรียนเหล่านี้มีกันทั้งหมด 16 คน จากโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ โรงเรียนสารสาสน์ธนบุรี โรงเรียนสาธิต มศว.ประสานมิตร และโรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม ทำงานกันในนาม “ช่างภาพเยาวชนจิตอาสา กรมศิลปากร” และส่วนใหญ่ก็เป็นน้องๆ จากชมรม “เด็กหลังเลนส์” จากโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์

ช่างภาพเยาวชนจิตอาสา กรมศิลปากร

ช่างภาพเยาวชนเหล่านี้มาถ่ายภาพในพื้นที่สนามหลวง ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2559 วันแรกที่ปักหมุดพระเมรุมาศ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา จนในวันที่เราไปทำข่าวและพบกับน้องๆ นั้น พวกเธอมากันราว 10 คน เราได้พูดคุยกับน้องๆ จำนวนหนึ่ง ซึ่งถึงแม้เป็นเด็กหญิงเด็กสาวอายุเพียงสิบกว่าขวบ ช่วงเวลาที่พวกเธอได้รับฟังข่าวเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นเพียงไม่กี่ปี แต่ทุกคนก็รับรู้ถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ และภาคภูมิใจในงานที่อาสามาทำ เริ่มที่กลุ่มน้องเล็ก เด็กนักเรียนชั้น ป. 6

    ตวงพร เกิดพึ่งบุญประชา ชั้น ป. 6 โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์

    “หนูชอบการถ่ายภาพอยู่แล้ว จึงขอเข้าชมรมถ่ายภาพ คุณครูและพี่ๆ ก็ได้สอนให้หนูถ่ายรูปได้สวยๆ และถ่ายรูปให้มีประโยชน์ พอหนูเข้าชมรมนี้ได้ 2 เดือน ในหลวงก็สวรรคต คุณครูก็เลยชวนนักเรียนในชมรมมาเป็นจิตอาสาถ่ายภาพงานนี้ หนูไม่คิดว่าจะได้มาไกลขนาดนี้เลยค่ะ เพราะหนูคิดว่าเป็นงานใหญ่มาก เป็นงานแห่งประวัติศาสตร์ หนูจึงพยายามมาก และภูมิใจมากที่ได้ทำค่ะ

    “มาเป็นช่างภาพจิตอาสา หนูได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระเมรุมาศ พระโกศไม้จันทร์ พระราชรถ และอีกมากมายหลายอย่างเลยค่ะที่หนูไม่เคยรู้มาก่อน หนูยังชอบที่พี่ๆ สื่อมวลชนบางคนก็มาช่วยสอนถ่ายภาพ ช่วยแนะนำสิ่งต่างๆ ให้ด้วยค่ะ

ช่างภาพเยาวชนจิตอาสา ทำงานถวายรัชกาลที่ 9               

    ชลิดา แก้วผลึก ชั้น ป. 6 โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์

    “หนูรู้สึกมีความสุขที่ได้มาทำงานจิตอาสาถวายในหลวง รัชกาลที่ 9 หนูรู้จักท่านผ่านข่าว หนูโตทันได้ยินจากข่าว คุณพ่อคุณแม่ก็เปิดใจให้ทำงาน ท่านยินดีที่หนูได้ทำงานนี้ค่ะ”

    พชรธร สุวรรณวิเศษ ม.3  โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์

    “ที่หนูสมัครมาเพราะอยากถ่ายภาพถวายแด่รัชกาลที่ 9 เราก็จะสร้าง LINE กลุ่มจิตอาสาเอาไว้ ภาพถ่ายจะอยู่ใน LINE กลุ่มของพวกเรา เราก็ถ่ายภาพจิตอาสาคนอื่นๆ แล้วส่งไปให้เขา หนูภูมิใจและดีใจที่ได้ถ่ายรูปเพื่อคนอื่น บางคนไม่มีรูป เราก็ถ่ายรูปส่งไปให้เขา บางคนไม่มีโทรศัพท์ เราก็ถ่ายรูปส่งให้เขาทางไปรษณีย์ค่ะ”

    สุพิชญาน์ เพ็งประพัฒน์ ชั้น ม. 3 โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์

    “ในหลวงทรงรักประชาชน ท่านทำได้ทุกอย่างเพื่อประชาชน หนูจึงมีความภาคภูมิใจที่ได้มาถ่ายภาพงานครั้งนี้ หนูคิดว่าเมื่อหนูได้รับโอกาสแล้ว ก็จะทำให้ดีที่สุดค่ะ หนูชอบการถ่ายภาพ และเริ่มถ่ายภาพตั้งแต่เข้าม. 1 ที่โรงเรียนนี้ หนูทราบว่าในหลวงโปรดการถ่ายภาพ เพราะชมรมถ่ายภาพโรงเรียนหนูทำตามแนวพระราชดำรัส คือ ภาพถ่ายเป็นของดีมีประโยชน์ เราไม่ควรถ่ายภาพเพื่อความสวยงามหรือความสนุกสนานเท่านั้น ควรถ่ายภาพให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นค่ะ”

    “พระเมรุมาศเป็นสิ่งที่หนูไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต มาถ่ายภาพก็เหมือนได้เห็นศิลปวัฒนธรรมไทยที่สวยงาม เห็นคนแต่ละคนทำงาน เช่น งานปูนปั้น เขามีความสามารถมาก ถ้าเป็นหนูหนูก็อยากจะทำบ้าง แต่หนูก็มาทำในส่วนของช่างภาพจิตอาสา เวลาหนูถ่ายภาพ หนูจะมองพระเมรุมาศเป็นหลัก และจะเริ่มถ่ายภาพองค์ประกอบต่างๆ เวลาเราถ่ายภาพ เราก็ต้องมีความรู้ในด้านต่างๆ เกี่ยวกับพระเมรุมาศด้วยค่ะ”

    ชญาดา จิรกิตติถาวร ชั้น ม.5 โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์

    “งานจิตอาสานี้คุณครูเป็นคนเริ่มต้นค่ะ พวกหนูเป็นสมาชิกชมรมถ่ายภาพอยู่แล้ว เป็นชมรมที่ดำเนินรอยตามพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งพวกหนูก็ถูกปลูกฝังมาอยู่แล้วเรื่องการถ่ายภาพเพื่อผู้อื่น เป็นแนวทางที่พวกหนูใช้ เราไม่ได้ถ่ายภาพให้เป็นศิลปะมาก แต่ใช้ประโยชน์ได้ ในการแบ่งปันภาพถ่ายของเราให้คนอื่น เขาอาจได้เห็นในมุมที่เขาไม่เคยเห็น ก็เป็นการเผยแพร่ความสุขให้ผู้อื่นอีกที งานนี้พวกเราได้ความกรุณาจากท่านอธิบดี กรมศิลปากร ให้เราสามารถเข้ามาถ่ายภาพในบริเวณการก่อสร้างพระเมรุมาศได้ค่ะ

    “หนูฝันอยากทำงานสายถ่ายภาพอยู่แล้ว เพราะที่บ้านเป็นร้านถ่ายรูป คุณพ่อเป็นตากล้อง หนูเห็นพ่อเป็นแบบอย่าง และชอบด้านนี้อยู่แล้ว จนได้ทำมาถึงทุกวันนี้ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองจะไปถึงฝันหรือเปล่า

    “มาเป็นช่างภาพจิตอาสาได้ประสบการณ์เยอะเลยค่ะ เพราะตอนที่เรามาลงงานจริง ก็ได้ทำงานกับพี่ๆ สื่อมวลชนหลายสื่อ เขาก็ให้คำแนะนำเรา อย่างตอนนั้นไปถ่ายงานประติมากรรม พี่ๆ เขาก็เข้ามาช่วย บอกมุม ให้ยืมเลนส์ ช่วยแนะแนวทางเรา และการมาถ่ายงานสถาปัตยกรรม เราเองก็ต้องมีความรู้ ครูจะให้เราเรียนความรู้พื้นฐาน ศิลปกรรมไทย โบราณราชประเพณีคืออะไร ส่วนไหนของสถาปัตยกรรมเรียกว่าอะไร ต้องเรียนรู้ใหม่หมดเลยค่ะ”

ชมรมเด็กหลังเลนส์ ถ่ายภาพตามรอยพระราชดำรัส

“การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์

ขออย่าให้ถ่ายภาพกันเพื่อความสนุกสนาน หรือความสวยงามเท่านั้น

จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าต่อสังคม ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

งานศิลปะจะได้ช่วยพัฒนาประเทศได้อีกแรงหนึ่ง”

พระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเคยจัดแสดงในงาน The First Annual Bangkok Art & Photography Event 2007

20170913185446132

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังของการเป็น “ช่างภาพเยาวชนจิตอาสา กรมศิลปากร” คือ คุณครูสุรกานต์ ดะห์ลัน ครูสอนภาษาไทยชั้นม.ปลาย ครูที่ปรึกษาชมรมเด็กหลังเลนส์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ และครูที่ปรึกษาช่างภาพเยาวชนจิตอาสา กรมศิลปากร

การที่ครูสุรกานต์สามารถนำเด็กๆ ทั้ง 16 คนมาเป็นจิตอาสา โดยการรับรองของอธิบดีกรมศิลปากรได้นั้น เพราะสิ่งที่ครูและชมรมเด็กหลังเลนส์ทำไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น

ย้อนไปปี 2549 ชมรมเด็กหลังเลนส์ ก่อตั้งขึ้นในปีที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ครูสุรกานต์ได้นำพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ดังที่ยกมาข้างต้น มาเป็นตัวตั้ง โดยแบ่งปรัชญาหลักออกเป็น 2 ส่วนคือ จงใช้ภาพถ่ายให้เกิดคุณค่าแก่สังคมเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และทำให้คนอื่นได้เห็นภาพในมุมที่ไม่เคยเห็น และใช้แนวคิดนี้มาโดยตลอด

ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะมีงานพระราชพิธีสำคัญใด เช่น งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี งานพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯ งานพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ หรืองานเกี่ยวกับสังคมครั้งใหญ่ เช่น น้ำท่วม ปี 2554 ชมรมเด็กหลังเลนส์ก็ได้ติดตามบันทึกภาพ และแบ่งปันภาพสู่ผู้อื่นเสมอ โดยไม่ได้แสวงหาประโยชน์อันใด

อาจารย์สุรกานต์มีจุดประสงค์อยากให้เด็กๆ “ได้เรียนรู้เรื่องของประเทศไทยและสังคมไทยผ่านการถ่ายภาพ” และในฐานะที่ปรึกษา ซึ่งต้องสอนทฤษฎีการถ่ายภาพให้เด็กๆ แต่อาจารย์คิดว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเทคนิคการถ่ายภาพให้สวยงาม ก็คือการที่ภาพถ่ายจะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาจารย์จึงเน้นถ่ายภาพในมุมของจดหมายเหตุที่บันทึกเรื่องราวมากกว่า

เมื่อครูสุรกานต์นำผลงานที่ชมรมเด็กหลังเลนส์สะสมมา ไปยื่นเสนอร่วมเป็นอาสาสมัครถ่ายภาพต่ออธิบดี กรมศิลปากร ก็ได้รับการตอบรับ และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ไปหมายข่าวทุกหมายที่สื่อมวลชนได้รับเชิญทุกครั้ง ที่ผ่านมาช่างภาพเยาวชนจิตอาสาได้ลงพื้นที่ร่วมกับสื่อมวลชน 27 ครั้ง ทำงานในนามกรมศิลปากร

และในช่วงวันที่ 25 – 29 ตุลาคม 2560 เหล่าช่างภาพเยาวชนก็จะได้ถ่ายภาพในนามกลุ่มบันทึกเหตุการณ์หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ภาพทั้งหมดที่ช่างภาพเยาวชนจิตอาสาบันทึกไว้ จะถูกส่งไปยังหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และทำเป็นหนังสือจดหมายเหตุฉบับเยาวชน และอาจารย์ก็ตั้งใจจะรวบรวมขึ้นเป็นสมุดภาพของชมรมเอง เพื่อให้คนไทยได้เห็นภาพถ่ายในมุมของเด็กมอง ในมุมของเด็กไทยจะยกกล้องขึ้นเพื่อพระราชาอันเป็นที่รักยิ่งของคนไทยทุกคน

สามารถติดต่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสมุดภาพนี้ ได้ที่อาจารย์สุรกานต์ ดะห์ลัน อีเมล: [email protected] โทร. 02 671 9041 – 4 ต่อ 100, 102, 304