พิษร้ายแรง!! งูเขียวตัวเดียวทำเมืองกรุงจมบาดาล

พิษร้ายแรง!! งูเขียวตัวเดียวทำเมืองกรุงจมบาดาล

"อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์" โอด!! งูเขียวตัวเดียวทำเมืองกรุงจมบาดาล แนะเช็คเครื่องสูบน้ำ - ระบบไฟฟ้ารับน้ำฝนปีหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์" ระบุว่า "อนิจจา! กรุงเทพฯ จมน้ำ เพราะงูเขียวตัวเดียว"

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ผมได้โพสต์บทความเรื่อง “ถ้าเป็นแบบนี้...ยังไงก็ท่วม” มีเนื้อหาสรุปได้ว่า ตามที่มีน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในหลายพื้นที่เมื่อเช้ามืดของวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2560 โดยในบางพื้นที่มีน้ำท่วมต่อเนื่องมาจนถึงตอนเย็นของวันเดียวกันนั้น ไม่ได้เป็นเพราะมีปริมาณฝนต่อชั่วโมงสูง เพราะเมื่อผมได้ตรวจสอบข้อมูลปริมาณฝนต่อชั่วโมงของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้วพบว่า มีปริมาณฝนต่อชั่วโมงต่ำกว่า 60 มม. ซึ่งเป็นปริมาณที่ระบบท่อระบายน้ำของ กทม. มีขีดความสามารถรองรับได้เกือบทุกชั่วโมง ยกเว้นช่วงระหว่างเวลา 02.00-03.00 น. ของเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2560 เพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้น ที่บางพื้นที่มีปริมาณฝนต่อชั่วโมงเกิน 60 มม. เช่น บริเวณดินแดง เป็นต้น โดยผมได้ตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมไว้ว่า (1) อาจเป็นเพราะเครื่องสูบน้ำที่บางสถานีสูบน้ำเสีย หรือเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องไม่อยู่ และ (2) อาจเป็นเพราะ กทม.ไม่ได้พร่องน้ำก่อนฝนตก

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ได้ชี้แจงข้อสังเกตของผมซึ่งสรุปได้ดังนี้ (สรุปจากมติชนออนไลน์ 20 ตุลาคม 2560 เวลา 21.19 น.)

1. ในพื้นที่เขตดินแดงมีฝนตกต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เวลา 00.20 น. จนถึง 04.25 น. มีปริมาณฝนสะสมรวมกันเป็น 174 มม. ซึ่งระบบท่อของ กทม.สามารถรองรับปริมาณฝนตกสะสมในเวลา 3 ชั่วโมง ได้ไม่เกิน 80 มม. แต่ในขณะนั้นในช่วง 3 ชั่วโมง มีปริมาณฝนสะสมรวมสูง 135 มม. จึงทำให้ต้องใช้เวลาระบายน้ำนานขึ้น

จากคำชี้แจงดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดว่า กทม.ไม่ได้เริ่มเดินเครื่องสูบน้ำทันทีที่ฝนเริ่มตก คือตั้งแต่เวลา 00.20 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม 2560 ซึ่งมีฝนตกลงมาเพียง 17 มม.เท่านั้น แต่กลับปล่อยให้มีปริมาณฝนสะสมเพิ่มมากขึ้นก่อนจนเกิดน้ำท่วมขังจึงค่อยเดินเครื่องสูบน้ำ กล่าวคือในชั่วโมงแรกมีฝนตกเพียง 17 มม. เพิ่มขึ้นในชั่วโมงที่ 2 อีก 25 มม. รวมเป็น 42 มม. เพิ่มขึ้นในชั่วโมงที่ 3 อีก 93 มม. รวมเป็น 135 มม. จนกระทั่งฝนหยุดตกมีปริมาณฝนรวมทั้งหมด 174 มม. หาก กทม.เริ่มเดินเครื่องสูบน้ำตั้งแต่ฝนเริ่มตกก็จะสามารถระบายน้ำได้ทัน ไม่ท่วมขังเป็นเวลานานดังที่ได้เกิดขึ้นแล้ว

ผมได้ตรวจสอบปริมาณฝนต่อชั่วโมงที่ กทม.วัดในพื้นที่อื่นนอกเหนือจากที่ดินแดงดังกล่าวแล้วข้างต้น พบว่าในช่วงเวลา 02.00-03.00 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีฝนตกหนักที่สุดมีปริมาณฝนไม่สูง หรือไม่เกินขีดความสามารถของท่อระบายน้ำของกทม. เช่น ที่สำนักงานเขตจตุจักรมีปริมาณฝน 54.5 มม. ที่ถนนเทศบาลสงเคราะห์มีปริมาณฝน 43.5 มม. และที่ถนนรัชดาภิเษก-วิภาวดีรังสิต มีปริมาณฝน 56.5 มม.

2. กทม.ได้พร่องน้ำในคืนวันที่ 13 ตุลาคม 2560 ก่อนฝนตกตอนเช้ามืดของวันที่ 14 ตุลาคม 2560

ผมขอแย้งว่า หากมีการพร่องน้ำจริงหรือมีการเดินเครื่องสูบน้ำตั้งแต่ฝนเริ่มตกจริง น้ำจะไม่ท่วมและขังนานเช่นนี้ ผมขอยกตัวอย่างที่ดินแดง ตามข้อมูลของ กทม.พบว่ามีปริมาณฝนสะสม 174 มม. หรือคิดเป็นปริมาตรฝน 831,605.99 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ครอบคลุมพื้นที่ 4.927 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ซึ่งในพื้นที่นี้ กทม.มีเครื่องสูบน้ำมีกำลังสูบรวมกันประมาณ 30 ลบ.ม./วินาที เพราะฉะนั้น จะต้องใช้เวลาเกือบ 8 ชั่วโมง จึงจะสามารถระบายน้ำฝนซึ่งมีปริมาตร 831,605.99 ลบ.ม.ได้หมด ซึ่งตามข้อมูลของ กทม.ระบุว่าบริเวณดินแดงฝนเริ่มตกเมื่อเวลา 00.20 น. ดังนั้น หาก กทม.เริ่มเดินเครื่องสูบน้ำตั้งแต่ฝนเริ่มตกก็จะสามารถระบายน้ำได้หมดเวลาประมาณ 08.00 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม 2560 แต่ตามรายงานของ กทม. พบว่า กทม.สามารถระบายน้ำบริเวณดินแดงได้หมดเมื่อเวลา 15.15 น.ของวันที่ 14 ตุลาคม 2560 นั่นคือ กทม.ใช้เวลาระบายน้ำนานถึงประมาณ 15 ชั่วโมง ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าหาก กทม.ได้มีการพร่องน้ำหรือเริ่มเดินเครื่องสูบน้ำตั้งแต่ฝนเริ่มตกก็จะสามารถระบายน้ำได้หมดโดยใช้เวลาไม่เกิน 8 ชั่วโมง หรือไม่เกินเวลา 08.00 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม 2560 อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ กทม.ได้ชี้แจงว่า เหตุที่ทำให้มีน้ำท่วมขังถนนดินแดงเป็นเวลานานก็เพราะสถานีสูบน้ำที่วัดช่องลมไม่สามารถสูบน้ำได้ตามปกติ เนื่องจากมีงูเขียวเลื้อยพันสายไฟแรงสูงทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ต้องเสียเวลาซ่อมนาน ผมได้ฟังแล้วเห็นว่าเจ้างูเขียวตัวเดียวตัวนั้นช่างมีพิษสงร้ายแรงยิ่งนัก ถึงขนาดทำให้พี่น้องประชาชนคนกรุงเทพฯ เดือดร้อนกันอย่างหนัก เสียการเสียงาน เศรษฐกิจป่นปี้เลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ ก่อนถึงหน้าฝนในปีหน้า กทม.ควรกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบความพร้อมของเครื่องสูบน้ำรวมทั้งระบบไฟฟ้า ที่สำคัญ ควรหาวิธีป้องกันไม่ให้งูพันสายไฟอีก โดยอาจจะประสานขอความร่วมมือจากการไฟฟ้านครหลวงด้วยก็ได้ นอกเหนือจากการขุดลอกคูคลอง และการจัดเก็บขยะ