เปิดใจ 'มือปราบเงินทอนวัด' ชี้พระ-พศ.โกง35คดีสูบภาษี200ล้าน

เปิดใจ 'มือปราบเงินทอนวัด' ชี้พระ-พศ.โกง35คดีสูบภาษี200ล้าน

SuthichaiLive เปิดใจ "มือปราบเงินทอนวัด" ชี้พระ-จนท.พศ.โกง35คดี สูบภาษี200ล้าน สุดฉาวชั่วรุ่นต่อรุ่น

พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผู้บังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ป.) ให้สัมภาษณ์เปิดใจในรายการ Suthichai live ทางเฟซบุ๊ค Suthichai Yoon ต่อการดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินทอนวัด ที่คาดว่าจะมีงบประมาณที่เสียหายจากกรณีดังกล่าว มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ว่า การตรวจสอบคดีเงินทอนวัดนั้น มียอดรวมคดีทั้งสิ้น 35 คดี และมีผู้ต้องหาทั้งสิ้น 29 คน แบ่งเป็น ชุดแรก 12 คดี มีผู้ต้องหา 10 คน พระ 1 รูป และ ฆราวาส 9 คน และ ชุดสอง 23 คดีมีผู้ต้องหาเป็นพระ 4 รูปและฆราวาส 15 คน โดยการดำเนินคดีดังกล่าวจะเป็นไปตามฐานความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147การนำเงินไปเป็นประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง , มาตรา 157 ว่าด้วยการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ส่วนการกระทำของพระนั้นเข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุน โดยจะมีความผิดในมาตรา 86 ของประมวลกฎหมายอาญา สำหรับคดีทั้งหมดนั้นในขั้นตอนการเอาผิด คือ ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวน และดำเนินการ ซึ่ง ป.ป.ช. สามารถตั้งคณะไต่สวน สอบสวน สรุปสำนวนส่งให้อัยการเพื่อส่งฟ้องศาลได้ หรือป.ป.ช.ส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวน ตำรวจดำเนินการได้หากคิดว่ามีประโยชน์มากกว่า โดยตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเปิดช่องให้ทำได้

พล.ต.ต.กมล กล่าวถึงการตรวจสอบพฤติกรรมทุจริตงบประมาณที่สำนักพระพุทธศาสนา (พศ.) จัดสรรให้วัดต่างๆ ว่า จากการตรวจสอบพบพฤติกรรมที่ทุจริตดังกล่าว มานาน ตั้งแต่ปี 2555 ในพื้นที่วัดต่างจังหวัด โดยพฤติกรรมที่ตรวจพบ คือ เป็นกลุ่มข้าราชการ พศ. ที่มีอำนาจอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี วิธีการ คือ กรณีแรกโอนงบประมาณให้วัดโดยไม่มีการทำโครงการอย่างแท้จริง หลังจากวัดได้รับงบประมาณแล้วข้าราชการ พศ. จะให้วัดโอนเงิน หรือ ถอนเงินจากบัญชีออกมา, กรณีสอง คือ ข้าราชการ พศ. และฆราวาส ไปพบเจ้าอาวาสเพื่อทำโครงการให้กับทางวัด และ กรณีสาม เกี่ยวกับโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่ไม่มีการเรียนการสอนที่แท้จริง แต่พบการขอรับงบประมาณ

"พระบางรูปก็เป็นเพียงคนช่วยวางแผน ดังนั้นข้อหาที่แจ้งความไป คือ เป็นผู้สนับสนุน แต่หากการตรวจสอบพบว่ามีเจตนาร่วมตั้งแต่เริ่มต้น จะเข้าข่ายเป็นตัวการ จากการตรวจสอบกรณีทุจริตนี้ พบว่ามีเส้นทางที่ทำกันมานาน เป็นเครือข่าย เพราะไม่มีคนเคยถูกจับ คนที่ทำทุจริตและได้เติบโตในสำนักงาน พศ. จึงทำมาเรื่อยๆ และทำมารุ่นต่อรุ่น" พล.ต.ต.กมล

พล.ต.ต.กมล กล่าวด้วยว่า สำหรับการปรามทุจริตในท้องถิ่นหรือหน่วยงานต่างๆ เป็นความตั้งใจของ ป.ป.ป. ที่จะดำเนินการ แต่ยอมรับว่าในสังคมอุปถัมภ์มีการร้องขอให้ยุติบ้าง แต่เมื่อพูดคุยและทำความเข้าใจแล้วประเด็นดังกล่าวจึงยอมไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่สร้างความเสียหาย ขณะที่การทำงาของ ป.ป.ท. มีความสำคัญต่อการเร่งฟื้นศรัทธาของประชาชน สำหรับการปราบทุจริตที่ส่วนตัวมองว่าจะได้ผลเป็นรูปธรรม คือ การได้รับความร่วมมือจากประชาชน บุคลากรในองค์กรที่แจ้งเบาะแส ส่วนความกังวลว่าเมื่อแจ้งเบาะแสแล้วอาจได้รับผลกระทบนั้น ตามกฎหมายคุ้มครองพยานผู้ที่แจ้งข้อมูลจะได้รับความคุ้มครอง