ศิลปะอันเบ่งบานคือสัญลักษณ์แห่งรัชสมัยอันรุ่งเรือง

ศิลปะอันเบ่งบานคือสัญลักษณ์แห่งรัชสมัยอันรุ่งเรือง

ศิลปะคือมาตรวัดสำคัญของสังคม ศิลปะเบ่งบานบ่งบอกว่าสังคมเจริญรุ่งเรือง และเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ สังคมมีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการสร้างสรรค์ก็คือประมุขของชาติ

เราทราบกันดีมาตลอดถึงพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในฐานะผู้สร้างสรรค์ศิลปะหลายแขนง โดยพระราชนิยมของพระองค์มุ่งไปทางศิลปะสมัยใหม่ และศิลปะร่วมสมัย ซึ่งทรงได้สร้างรูปแบบเฉพาะของศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 9 ขึ้นมาด้วย

เพื่อที่จะทำความเข้าใจถึงบทบาทของในหลวง ร.9 ที่มีต่อวงการศิลปะไทยให้รอบด้านขึ้น เราได้พูดคุยกับ พิทักษ์พล วิสุทธิ์อัมพร กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 และดร.สิทธิธรรม โรหิตะสุข นักประวัติศาสตร์ศิลป์ ซึ่งทำให้ข้อมูลที่ช่วยเชื่อมโยงภาพของศิลปะในรัชสมัยของพระองค์ขึ้นมาชัดเจนยิ่งขึ้น

พระราชนิยมด้านศิลปะ

หากเราจะเน้นไปที่ทัศนศิลป์ โดยเฉพาะจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ จะเห็นได้ว่าทรงสร้างจิตรกรรมไว้หลากแนว ทั้งภาพเหมือนจริง ภาพบุคคล อิมเพรสชันนิสม์ เอ็กซเพรสชันนิสม์ ซิมโบลิสม์ ฯลฯ ซึ่งแนวทางของศิลปะสมัยใหม่ ดร.สิทธิธรรมได้เล่าถึงความสนพระราชหฤทัยด้านศิลปะของพระองค์ซึ่งริเริ่มมาเมื่อครั้งที่ทรงประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อยังทรงพระเยาว์ในปี พ.ศ. 2480 - 2488

“ข้อมูลหลายแหล่งบอกว่าท่านเริ่มมาฝึกศิลปะมาตั้งแต่ตอนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ แม้ยังไม่ได้จริงจังมาก อย่างตอนที่ท่านชิ้น หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ไปเยี่ยมสมเด็จพระชนนีที่สวิตเซอร์แลนด์ ท่านชิ้นเป็นจิตรกรสมัครเล่น ท่านก็ติดอุปกรณ์วาดภาพไปให้กับสมเด็จพระชนนี แต่ท่านไม่ได้วาด กลายเป็นพระพี่นางฯ หรือในหลวง ขณะนั้นทรงเป็นพระอนุชาได้วาด ตอนนั้นท่านเรียนดนตรีด้วย ท่านเรียนคลาสสิก แต่สิ่งที่โปรดจริงๆ คือดนตรีแจ๊ส แล้วสิ่งเหล่านั้นก็บ่มเพาะมา จนเราเห็นภาพที่ชัดเจน ตอนที่เสด็จนิวัตพระนคร”

หลังจากในหลวง ร.9 ทรงครองราชย์ในปี 2489 ช่วงทศวรรษ 2500 อัจฉริยะภาพด้านศิลปะเริ่มฉายชัดออกมา ดร.สิทธิธรรมบอกว่าหากจะพูดถึงงานทัศนศิลป์ของในหลวง ร.9 ก็ต้องยกดนตรีแจ๊สขึ้นมาเพื่อให้เห็นแนวทางที่เป็นพระราชนิยม

87a8g5jhfd7agacfjebe7

นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชั้นครูอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างดนตรีและงานเขียนภาพไว้ว่า “ศิลปะย่อมส่องทางซึ่งกันและกัน” เช่นในหนังสือ “ศิลปะและสังคม” โดยศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ ได้ระบุไว้ สำหรับในหลวง ร.9 ทรงโปรดปรานดนตรีแจ๊สที่เต็มไปด้วยอิสรภาพในการบรรเลง เสรีภาพนั้นก็ส่องทางมาถึงจิตรกรรมที่ทรงวาดเช่นกัน

แนวทางของจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่โดดเด่นและในหลวง ร.9 ทรงเลือกถ่ายทอดอยู่เสมอ จึงเป็นในลักษณะของศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ซึ่งเน้นเรื่องการแสดงออกทางอารมณ์สูงมาก ในยุโรปช่วงที่ทรงเจริญพระชันษามา ศิลปะสมัยใหม่ก็ก้าวไกลไปแล้ว ลัทธิทางศิลปะเกิดขึ้นมากมาย ทลายขนบกรอบเดิมของศิลปะแนวคลาสสิก ล้ำหน้ากว่าเมืองไทยราว 50 ปี

Oskar Kokoschka TuttArt@ (14)

ปี พ.ศ. 2507 ในหลวง ร. 9 เสด็จฯ ไปสวิตเซอร์แลนด์ การไปครั้งนั้นทรงไปเยี่ยมสตูดิโอของออสการ์ โคโคสช์กา (Oskar Kokoschka) ศิลปินออสเตรียที่หนีภัยสงครามจนไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ โคโคสช์กาเป็นศิลปินแนวเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ผู้มีชื่อเสียง ลูกศิษย์คนหนึ่งของเขาคือ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ซึ่งเคยบันทึกไว้ว่าในการเสด็จฯ เยือนสตูดิโอในครั้งนั้น ในหลวง ร.9 ผู้มีพระชนมายุ 37 พรรษาได้สนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองต่างๆ ด้านศิลปะกับโคโคสช์กา ซึ่งมีอายุ 78 ปีในขณะนั้น

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก็ย่อมมีผลต่อการสร้างสรรค์งาน แต่ดร.สิทธิธรรมเสริมว่า “ยังมีศิลปินไทยหลายคนที่ทำหน้าที่ถวายคำแนะนำ บางทีก็ร่วมเขียนภาพกับพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด และอาจมีการ่วมแข่งขันกันด้วย บางครั้ง อย่างเช่น เหม เวชกร, จำรัส เกียรติก้อง, เขียน ยิ้มศิริ, เฟื้อ หริพิทักษ์, ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์, ทวี นันทขว้าง, อวบ สาณะเสน, เฉลิม นาคีรักษ์, จุลทัศน์ พยาครานนท์, ลาวัลย์ อุปอินทร์, สมโภชน์ อุปอินทร์, ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์, มจ.การวิก จักรพันธุ์”

จึงมิใช่แต่โคโคสช์กาเท่านั้น แต่ทั้งการสมาคมกับศิลปินไทยที่มีประสบการณ์สูงและศิลปินรุ่นใหม่ ทั้งกระแสศิลปะของโลกซึ่งแวดล้อมอยู่ ก็เป็นธรรมดาที่จะทรงรับและสังเคราะห์รวมกับพระราชนิยมส่วนพระองค์ออกมาเป็นงานศิลปะสมัยใหม่หลากแนว

การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ

ศ.ศิลป พีระศรี คือผู้ที่นำแนวทางศิลปะสมัยใหม่ และร่วมสมัยมาสู่วงการศิลปะไทย แต่ในยุคแรกนั้น งานศิลปะสมัยใหม่ไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้ชม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2492 ก็คือหนึ่งในความพยายามเผยแพร่ศิลปะสมัยใหม่ ท่ามกลางความสงสัยว่า “ทำไมศิลปะแห่งชาติจึงไม่มีภาพที่คนคุ้นเคย อย่างภาพในวรรณคดี หรือพุทธประวัติในจิตรกรรมฝาผนัง แต่กลับเต็มไปด้วยภาพคิวบิสม์ เอ็กซเพรสชันนิสม์ อิมเพรสชั่นนิสม์ ภาพอะไรก็ไม่รู้”

ศิลปะอันเบ่งบานคือสัญลักษณ์แห่งรัชสมัยอันรุ่งเรือง

ข้อวิเคราะห์ส่วนตัวของดร.สิทธิธรรม เจ้าของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก หัวข้อ “ประวัติศาสตร์การประกวดศิลปกรรมในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2480 – ทศวรรษ 2530” เห็นว่าบทบาทของในหลวง ร.9 กับการแสดงศิลปกรรมแห่งชาตินั้น มีผลขับเคลื่อนวงการศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ

นอกจากที่ทรงเสด็จฯ เป็นประธานเปิดนิทรรศการศิลปกรรมแห่งชาติครั้งแรกในปี 2505 แล้ว ยังทรงส่งงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์เข้าร่วมแสดงด้วย ตั้งแต่ปี 2506 จนถึงราวปี 2516

“ทรงมีคุณูปการมากต่อวงการศิลปะ พอในหลวงทรงทำงานลักษณะนี้ ในแง่หนึ่งก็เป็นการสนับสนุน ทำให้โมเดิร์นอาร์ตมีที่ทางขึ้นมา งานของพระองค์เป็นที่ถูกอกถูกใจศิลปินรุ่นใหม่ ส่วนผู้ชมซึ่งยังไม่เข้าใจ ก็เริ่มเปิดใจมอง เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงมาทำงานศิลปะเอง แม้คนทั่วไปไม่เข้าใจ แต่นั่นคือภาพของในหลวง  คนก็รู้สึกว่านี่คือมิติใหม่ โลกใหม่”

ศิลปะอันเบ่งบานคือสัญลักษณ์แห่งรัชสมัยอันรุ่งเรือง

ภาพ “มือแดง” คือภาพหนึ่งที่แสดงความอิสระในการสร้างสรรค์ ในแนวทางของการแฝงสัญลักษณ์ การแสดงอารมณ์ความรู้สึก เป็นวิธีของศิลปะสมัยใหม่ที่แท้ “ทรงเอาพระหัตถ์ปั๊มลงไปบนสีแดง แล้วกลายเป็นภาพวาดเลย นั่นก็คือการที่เน้นการแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกอย่างมาก เมื่อคนเห็นก็ตื่นเต้นว่านี่คือภาพของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นี่คือโมเดิร์นอาร์ต ต่อให้ไม่รู้เรื่อง ก็ตื่นเต้นยินดีที่ได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินของเรามีความสนใจ มีความทุ่มเทด้านนี้”

กษัตริย์นักสร้างสรรค์

อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญมาก แต่อาจจะมีน้อยคนหยิบยกขึ้นมาพูด หากเราจะใช้ภาษาชาวบ้านเรียกตำแหน่งสำคัญในบริษัทผลิตงานสร้างสรรค์ว่า “ครีเอทีฟ – Creative” ในหลวง ร.9 ก็ทรงเป็น “ครีเอทีฟ” ผู้ผลักดันให้เกิดโครงการด้านศิลปะขึ้นมาหลายอย่าง และโครงการหนึ่งซึ่งโดดเด่นจนเกิดรูปแบบชัดเจนเห็นถึงความร่วมสมัยของศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ในหนังสือ “ศิลปะแห่งรัชกาลที่ ๙ อัครศิลปิน – Supreme Artist” ซึ่งพิทักษ์พล วิสุทธิ์อัมพร เป็นผู้จัดการโครงการ ได้วางไว้ในบทที่ชื่อ “ธ ทรงสร้างสรรค์”

“ศิลปินบางครั้งก็ไม่ได้ลงมือทำ แต่เป็นครีเอทีฟ คือคิดแล้วหาคนมาทำ เช่น จิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ซึ่งเป็นวิหารในพระบรมมหาราชวังชั้นใน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย หรือพระแก้วขาว ซึ่งสำคัญเทียบเท่าพระแก้วมรกต

ศิลปะอันเบ่งบานคือสัญลักษณ์แห่งรัชสมัยอันรุ่งเรือง

“แต่ก่อนนี้วิหารนี้มีภาพเขียนฝาผนังอยู่แล้ว ในหลวงทรงให้ให้ลอกออกเก็บ แล้วเขียนใหม่ โดยเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในแต่ละรัชกาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิหารหลังนี้ เล่าเรื่องด้วยเทคนิคการเล่าแบบจิตรกรรมฝาผนังเดิม (คือการเล่าเรื่องราวต่อเนื่องกันจากบนลงล่าง หรือล่างขึ้นบน มีเส้นแบ่งเรื่องราวเรียกว่า “สินเทา” อาจเป็นเส้นโค้งหรือเส้นหยักฟันปลา สำหรับจิตรกรรมชุดนี้มีวิหารเป็นตัวแบ่งเรื่องราว – ผู้เขียน) แต่วิธีการวาดเป็นเหมือนจริง ในแบบเทคนิคสมัยใหม่ แรกๆ ศิลปินไม่กล้าทำ เพราะทรงคิดในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น กว่าจะทำสำเร็จก็ใช้เวลาเป็น 10 ปี”

พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน

การผสมผสานวิธีเล่าแบบเก่ากับเทคนิคการวาดแบบใหม่สู่จิตรกรรมฝาผนังซึ่งจัดเป็นงานทัศนศิลป์ระดับสุดยอด ในขณะเดียวกัน ก็ทรงสร้างโครงการ “พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน” ซึ่งไม่ว่าใครๆ หรือแม้แต่เด็กๆ ก็อ่านได้ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงศิลปะในอีกรูปแบบหนึ่งได้

องค์อุปถัมภ์ศิลปะ

ชนชั้นสูงในอดีตอุปถัมภ์ศิลปะโดยสนับสนุนศิลปินเป็นคนๆ ไป แต่สำหรับในหลวง ร.9 แล้ว พระองค์ทรงอุปถัมภ์ด้วยการทรงทำให้ดู และทรงมีส่วนร่วม เป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่าทรงอยู่ตรงนี้ตลอด แม้ช่วงหลังปี 2516 จะทรงวางมือจากการทรงดนตรีและวาดภาพ เสด็จพระราชดำเนินไปยังชนบท และริเริ่มโครงการในพระราชดำริต่างๆ ขึ้นมามากมาย แต่พระราชหฤทัยก็ยังทรงเนื่องอยู่กับงานศิลปะมาโดยตลอด

ภาพประกอบพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก โดย เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

จนในปี 2540 ก็ได้ทรงเผยแพร่พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ซึ่งทรงเรียบเรียงใหม่ให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย มีทั้งรูปแบบการ์ตูน โดย ชัย ราชวัตร และภาพประกอบอันสวยงาม ที่ทรงเชิญศิลปินไทยทั้งกลุ่มที่ทำงานศิลปะไทยแนวประเพณีและประยุกต์ เช่น ปัญญา วิจินธนสาร ปรีชา เถาทอง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ธีระวัฒน์ คะนะมะ “เป็นโปรเจคสำคัญที่ท่านยังผูกพันกับวงการศิลปะไทยสมัยใหม่และร่วมสมัย ท่านเชิญศิลปินไป ‘บริฟ’ อยากจะให้ออกมาเป็นอย่างไร ศิลปินก็ทำถวายให้ท่านทอดพระเนตรก่อน แต่ท่านก็ปล่อยให้แต่ละคนทำในลักษณะของตัวเอง นี่คือโครงการท้ายๆ ที่เราเห็นในบทบาทองค์อุปถัมภ์ และสำคัญมาก ทำให้วงการศิลปะคึกคัก”

ศิลปะแห่งรัชกาลอันรุ่งเรือง

ศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ตีความเป็น 2 นัยยะ “นัยยะที่ 1 คือศิลปะแห่งในหลวงรัชกาลที่ 9 นัยยะที่ 2 ศิลปะที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งประเทศในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9“ พิทักษ์พลอธิบาย

“ตั้งแต่ท่านครองราชย์ การทำให้บรรยากาศในประเทศให้เป็นบรรยากาศสร้างสรรค์ ท่านไม่ได้อุปถัมภ์แบบให้เงินศิลปินเป็นคนๆ แต่อุปถัมภ์ให้สิ่งนี้เกิดขึ้น คือไปเปิดงานเป็นเกียรติ มีการให้รางวัลดนตรีเกิดขึ้น ท่านก็ไปพระราชทานรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ สร้างบรรยากาศให้ศิลปะรุ่งเรือง ศิลปะจึงเบ่งบานในรัชสมัยนี้อย่างมาก”

“ศิลปะสะท้อนความรุ่งโรจน์ของชาติ ศิลปะเลวก็สะท้อนสังคมที่ไม่ได้ดีไปกว่า แต่ศิลปะประเทศเราสะท้อนว่าสังคมเราดีมาก เราจึงเห็นศิลปินเก่งๆ มากมายในประเทศไทย นี่แหละ เพราะเราเกิดในรัชกาลที่ 9 รัชสมัยที่รุ่งเรือง”

รูปแบบของศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 เห็นได้ผ่านผลงานของศิลปินตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ ทั้งที่เปลือกนอกเป็นไทย ภายในเป็นสากล เปลือกนอกเป็นสากล แต่เป็นไทยที่ข้างใน หรือเป็นแบบร่วมสมัยที่สะท้อนสังคม สังคมที่เปิดรับความเปลี่ยนแปลง การแลกเปลี่ยนศิลปะวิทยาการใหม่ๆ ไม่ได้ทำให้ศิลปะไทยดั้งเดิมสูญหาย เพราะจะมีแรงดีดกลับโดยธรรมชาติ ทำให้เกิดพลวัตรที่เคลื่อนไหวในวงการขึ้นมา พิทักษ์พลยกตัวอย่างให้ฟังว่า

“ปี 2517 ธนาคารกรุงเทพได้จัดการประกวดจิตรกรรมบัวหลวงขึ้นมา เป็นจิตรกรรมไทยเลย ซึ่งเกิดขึ้นได้ยังไง ในบรรยากาศที่ทุกคนต้องการศิลปะสมัยใหม่อย่างเดียวเลย คือเป็นแรงอีกด้านที่ทำให้ศิลปะไทยรุ่งเรืองขึ้นมาอีก นี่แหละคือพลวัตรที่เกิดขึ้นของศิลปะในประเทศไทย คือเปิดกว้าง ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไป ทั้งหมดถูกสนับสนุนให้เกิดขึ้น และทำให้ศิลปะเบ่งบาน โดยที่ในหลวง ร.9 ทรงสร้างบรรยากาศให้ เกิดขึ้นจากการไม่บังคับ แต่ทรงทำให้ดู ทรงวาดภาพ ทรงดนตรี มีเพลงพระราชนิพนธ์ มีวงดนตรี ก็จะเกิดคนใหม่ๆ ที่ได้แรงบันดาลใจตาม”

ฉะนั้น เราจึงจำกัดไม่ได้ว่าศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 เท่ากับศิลปะแนวไหน เพราะเป็นยุคที่ข้อมูลต่างๆ ในโลกถูกถ่ายเทถึงกันหมด และยังเป็นยุคที่มีการรดน้ำพรวนดิน แล้วดอกผลแห่งศิลปะก็งอกงามออกมาดังที่ทุกคนได้เห็นกัน

“สมัยก่อนกษัตริย์ก็ต้องมีช้างเผือกประดับรัชกาล แต่คุณูปการนี้ทำให้ในหลวง ร. 9 มีศิลปินประดับรัชกาลมากมายมหาศาล”

และไม่มีครั้งไหนเลยในช่วงชีวิตที่เราจะฟังเพลงพระราชนิพนธ์ ชมนิทรรศการศิลปะอันเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรได้ตลอดทั้งปี แบบไม่รู้สึกเบื่อ เพราะศิลปะที่ถูกต่อยอด ปรับปรุง และเบ่งบาน คือความงดงามที่ศิลปินผู้เป็นต้นธารแห่งแรงบันดาลใจย่อมยินดี และผู้ชมก็ยิ่งสุขใจเมื่อได้ระลึกถึงพระองค์ “องค์อัครศิลปิน”