นวัตกรรมแบบเปิด ต่อยอดงานวิจัย สร้างพันธมิตร

นวัตกรรมแบบเปิด ต่อยอดงานวิจัย สร้างพันธมิตร

เวทีสัมมนา“ทีเอ็มเอ”หนุน “นวัตกรรมแบบเปิด” ต่อยอดผลงานวิจัย-ลดงบอาร์แอนด์ดี “กานต์”แนะรัฐตั้งศูนย์นวัตกรรมแบบเปิดโชว์เคสผลงานจากรั้วมหาวิทยาลัยไทย ชู “เอสซีจีโมเดล”ใช้พื้นที่อุทยานวิทย์ฯ ตั้ง“โอเพ่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์”

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (ทีเอ็มเอ) และมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานสัมมนาเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมแบบเปิด หัวข้อ Co-Creating the Future เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศไทย

นายกานต์ ตระกูลฮุน คณะกรรมการอำนวยการ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย และหัวหน้าภาคเอกชน คณะทำงานการยกระดับนวัตกรรมและดิจิทัลไลเซชั่น โครงการสานพลังประชารัฐ กล่าวว่ารัฐบาลควรสนับสนุนและส่งเสริมให้มีศูนย์นวัตกรรมแบบเปิดของรัฐ เพื่อเป็นพื้นที่โชว์เคสผลงานวิจัยทั้งจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดการพบปะแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดระหว่างนักวิจัยเจ้าของผลงานกับบุคคลภายนอก ทำให้เข้าใจโจทย์ในมุมของเอกชนหรือผู้ใช้มากขึ้น จากเดิมที่ทำวิจัยตามความสนใจส่วนตัว

ตัวอย่างเอสซีจีเข้าไปจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมแบบเปิด หรือ “โอเพ่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์” พื้นที่กว่า 1,000 ตารางเมตรในอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย มุ่งหวังจะใช้เป็นศูนย์กลางที่เปิดกว้างให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างเอสซีจีกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาของทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อดึงศักยภาพของแต่ละภาคส่วนมาแลกเปลี่ยนกันในการสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับสินค้าและบริการ ที่สามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้บริโภค

ศูนย์นี้เบื้องต้นนำเสนอ 60 แพลตฟอร์มเทคโนโลยีจาก 3 ธุรกิจหลัก ทั้งยังเปิดพื้นที่สนับสนุนการทำอาร์แอนด์ดีอย่างเป็นระบบ ให้แก่เครือข่ายสตาร์ทอัพจากทั่วโลกที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อร่วมพัฒนานวัตกรรมที่มีศักยภาพสูงกับเอสซีจี โดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุ, คลีนเทคโนโลยีและเซ็นเซอร์&ไอโอที ก่อนนำไปสู่การต่อยอดธุรกิจร่วมกันในอนาคตอีกด้วย ทำให้ได้มุมมองใหม่จากพันธมิตรและโจทย์นวัตกรรมใหม่ๆ จากผู้เยี่ยมชมกว่า 6,500 รายในเวลา 6 เดือน

“จากการร่วมเป็นคณะกรรมการในสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำให้เห็นทิศทางการขับเคลื่อนด้านวิจัยและนวัตกรรมที่มีความชัดเจน รวมไปถึงสิทธิประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจเอกชนที่สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมทั้งไทยและต่างชาติที่ทำธุรกิจในไทย เชื่อว่านักวิจัยของภาครัฐก็พร้อมที่จะร่วมทำงานกับภาคเอกชนเช่นกัน” นายกานต์ กล่าว

คัด 1,000เอสเอ็มอีนำร่อง

นายกานต์ กล่าวว่าโครงการสานพลังประชารัฐ D1 การยกระดับนวัตกรรม ได้สนับสนุนและผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยคัดเลือก 1,000 รายที่มีความพร้อมมาเป็นกลุ่มนำร่อง โดยมีเอกชนรายใหญ่เป็นพี่เลี้ยงและอาจารย์มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการทำวิจัยและนวัตกรรม

“ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มุ่งเน้นเรื่องของการวิจัยและพัฒนานั้น ให้ความสำคัญกับงานวิจัยที่พร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์ หรืองานวิจัยขายได้ ที่จะทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ละหน่วยวิจัยรวมถึงมหาวิทยาลัยที่ทำวิจัยจึงควรจะมีหน่วยพัฒนาธุรกิจที่พูดจาภาษาชาวบ้าน มีทักษะที่จะร่วมมือทำงานและผลักงานวิจัยออกไปสู่ภาคเอกชน”

ดังนั้น หากมีศูนย์นวัตกรรมแบบเปิดก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้รับรู้ความต้องการที่แท้จริงของตลาด และความร่วมมือตามกลไกประชารัฐ

ทั้งนี้ สมาคมฯ จัดงานสัมมนาเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมแบบเปิด นำมาปรับใช้ในองค์กรเพื่อปรับปรุงนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณทางด้านอาร์แอนด์ดี วิธีการนี้จะช่วยให้ธุรกิจมีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมและได้เปรียบในการแข่งขัน สามารถนำไปปรับใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม

แนะไทยพัฒนา“คน-ความรู้”

นายเฮนรี่ เชสโบร์ว ผู้อำนวยการอาวุโส มหาวิทยาลัยเบิร์คเลย์แห่งแคลิฟอร์เนีย ผู้คิดค้นแนวคิด “นวัตกรรมแบบเปิด” กล่าวว่าสำหรับประเทศไทยอาจจะยังเร็วเกินไปสำหรับประทศไทยที่จะเดินหน้าสู่นวัตกรรมแบบเปิด สิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การวิจัยและพัฒนาภายในประเทศที่แข็งแกร่ง และสร้างขีดความสามารถของประเทศให้พร้อมจากภายใน เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดต่างประเทศเข้ามาร่วมมือ แบ่งปันและทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย เพราะนวัตกรรมแบบเปิดนั้นจะเป็นอาวุธที่ทำให้ภาคเอกชนของไทยพร้อมที่จะรองรับความต้องการของตลาดโลก

ประเทศไทยเล็กเกินไปที่จะทำทุกอย่างด้วยตนเอง แต่ใหญ่มากพอที่จะสร้างศักยภาพเพื่อเป็นพันธมิตร และเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐ ญี่ปุ่น หรือจีน จากเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยทรัพยากรธรรมชาติและการเกษตร แต่โลกปัจจุบันและนโยบายรัฐบาลที่เดินหน้าสู่สังคมแห่งความรู้ สร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ทำให้ไทยค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้น แต่หากจะโตแบบยั่งยืน ประเทศไทยต้องลงทุนพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการสร้างองค์ความรู้

“องค์กรเดียวไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง นวัตกรรมแบบเปิดจึงมีความสำคัญที่จะทำให้เกิดความร่วมมือ แบ่งปัน และใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม” นายเชสโบร์ว กล่าว

นวัตกรรมแบบเปิดมี 2 จุดหลักคือ Outside-In ที่นำแนวคิดและเทคโนโลยีจากด้านนอกมาพัฒนาภายในองค์การ และ Inside-Out ที่นำโครงการ ไอเดียหรือเทคโนโลยีออกไปภายนอกเพื่อแบ่งปัน และสร้างให้เกิดประโยชน์

หากย้อนไป 40-50 ปีก่อน บริษัทขนาดใหญ่มุ่งทำวิจัยด้วยตนเองในห้องปฏิบัติการของตนเองและเป็นความลับสุดยอด แต่ปัจจุบันการวิจัยและนวัตกรรมมักเกิดในมหาวิทยาลัย หน่วยวิจัยหรือบริษัทสตาร์ทอัพเล็กๆ ที่จำเป็นต้องแบ่งปันและร่วมมือกับองค์กรอื่น นับเป็นต้นทางของนวัตกรรมแบบเปิดที่มีการต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์