'ศาสตร์ศิลป์งานปั้น' สร้างสรรค์สมพระเกียรติ

'ศาสตร์ศิลป์งานปั้น' สร้างสรรค์สมพระเกียรติ

งานประติมากรรมไทย เป็นงานศิลปะที่ว่าด้วยการปั้น และแกะสลักที่มีความโดดเด่น

อีกทั้งยังแฝงไปด้วยเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และยิ่งหากเป็นประติมากรรมในงานพระเมรุซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในงานพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ ยิ่งเต็มเปี่ยม และอุดมไปด้วยความสง่างามอันทรงคุณค่า เพื่อแสดงถึงพระเกียรติยศสูงสุด

การเตรียมงานวางแผนในส่วนของงานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ ต้องอาศัยฝีมือช่างที่มีความชำนาญการ และเนื่องจากพระเมรุมาศมีขนาดใหญ่ ทำให้มีรายละเอียดและองค์ประกอบต่างๆมากมาย งานประติมากรรมครั้งนี้ จึงไม่ใช่มีแค่เพียงส่วนของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่เข้ามามีส่วนร่วมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเหล่าประชาชนที่เป็นจิตอาสามากฝีมืออีกด้วย

สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและควบคุมการจัดสร้างบันไดนาค ที่ใช้เชื่อมต่อชั้นทั้ง 4 ของพระเมรุมาศ เล่าว่า การออกแบบงานประติมากรรมพระเมรุมาศครั้งนี้ ต้องเป็นไปอย่างสง่างามตามแบบแผนของราชสำนักสยาม และต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดมาถวายให้สมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นไปตามปรัชญาและคติความเชื่อของสังคมไทยที่ยึดถือเรื่องไตรภูมิ ตามคติทางพุทธศาสนาและพราหมณ์

ราวบันไดนาค ถือเป็นหนึ่งประติมากรรมที่สำคัญ ออกแบบโดยคำนึงถึงหลักแนวคิดตามความเชื่อเรื่องพญานาค อันเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ และเปรียบเหมือนกับสะพานสายรุ้ง ที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์และสวรรค์
บันไดนาคทุกชั้นจะใช้ต้นแบบงานไทยชั้นครู ไล่เรียงกันแต่ละชั้น ตั้งแต่นาคหนึ่งเศียรสีเขียว รูปแบบรัตนโกสินทร์ ที่ได้ต้นแบบมาจากเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ตามด้วยนาคสามเศียร อ้างอิงจากประติมากรรมนาคเตาแม่น้ำน้อย วัดพระปรางค์ จ.สิงห์บุรี

ต่อด้วยนาคห้าเศียร เป็นพญาวาสุกรีนาคราช ต้นแบบจากราวบันไดนาควัดพระพุทธบาท และชั้นที่ 4 ชั้นพระเมรุมาศประทาน นับว่าสำคัญสูงสุด เป็นพญาอนันตนาคราชมีเจ็ดเศียร แต่ละเศียรเป็นหน้าเทวดา ต้นแบบจากปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

อีกองค์ประกอบสำคัญของงานพระเมรุมาศที่ขาดไม่ได้ คือการจัดสร้างเทวดา และสัตว์มงคลที่รายล้อมรอบพระเมรุมาศ ซึ่งประกอบไปด้วยเทวดาในท่ายืน 12 องค์ เทวดาในท่านั่ง 6 องค์ ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ครุฑ 8 ตัว รวมไปถึงสัตว์มงคลประจำทิศประดับทางขึ้นบันไดชั้นที่ 1 ได้แก่ ช้าง ม้า วัว สิงห์ อย่างละ 1 คู่

กลุ่มประติมากรรมช่างสิบหมู่ดำเนินงานตามขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มออกแบบลายเส้น ปั้นต้นแบบ ขยายแบบเท่าจริง ขึ้นโครงสร้าง ปั้นกายวิภาค จากนั้นจึงใส่เครื่องประกอบต่างๆ พร้อมทั้งเก็บรายละเอียด และทำพิมพ์หล่อชิ้นงาน ตกแต่ง ลงสี และปิดทองคำเปลวประดับแวว จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ และสามารถนำงานปั้นทั้งหมดไปติดตั้งที่พระเมรุมาศตามที่ออกแบบไว้ในที่สุด

หนึ่งความวิจิตรที่กลายเป็นหน้าประวัติศาสตร์ของศิลปะการสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้ ก็คือ “สระอโนดาต” สายน้ำศักดิ์สิทธิ์ อันเต็มไปด้วยสัตว์น้อยใหญ่นานาชนิด ที่อยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา โดยเฉพาะสัตว์อย่างคชสาร หรือ ช้างทั้ง 10 ตระกูล ที่เชื่อกันตามหลักไตรภูมิว่าจะอาศัยอยู่ทางปากแม่น้ำ หรือทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ

ในงานพระเมรุมาศครั้งนี้จะมีการจัดวางช้างทั้งหมด 30 ตัว ตามลักษณะต่างๆ แบ่งออกเป็น 20 ตัวตามตระกูล และอีก 10 ตัว ที่ออกแบบให้เป็นลักษณะของช้างที่ผสมกับสัตว์อื่นๆ เช่น นก ปลา สิงห์ เพื่อให้มีความหลากหลายและเหมาะสมต่อภูมิทัศน์ที่จะนำไปติดตั้ง ทั้งในพื้นที่น้ำ และโขดหิน

ทุกรายละเอียดในงานปั้นจะแฝงไปด้วยรูปแบบงานประติมากรรมไทย ไม่ว่าเส้นเชิงนอก และเชิงใน เพื่อแสดงตัวตนถึงรากเหง้าความเป็นไทยที่มีมาช้านาน

ประติมากรรมพระพิฆเนศ เป็นอีกหนึ่งงานปั้นสำคัญที่ถูกออกแบบให้อยู่บริเวณชั้นที่ 2 ของพระเมรุมาศ ชั้นเดียวกับพญาครุฑ ออกแบบโดยยึดถือตามคติความเชื่อโบราณ ว่าพระพิิฆเนศมี 2 องค์ คือพระพิเนก และพระพินาย ที่อวตารมาเป็นเสนาของพระรามเพื่อช่วยทำสงครามปราบทศกัณฐ์

พระพิฆเนศทั้งคู่ จะมีลักษณะประทับยืนแบบนาฏยลักษณ์ของโขน พระวรกายใหญ่ สง่างาม มี 4 กร พระหัตถ์คู่หนึ่งถือศาสตราวุธแตกต่างกันไป และอีก 2 กรประนมมือ เพื่อรับเสด็จสู่สรวงสวรรค์

คุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยงผู้ซื่อสัตย์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นอีกหนึ่งรายละเอียดสำคัญ ที่ได้รับการคัดเลือกให้มาประกอบไว้ในงานประดับตกแต่งพระเมรุมาศด้วย

ชิน ประสงค์ ผู้ปั้นประติมากรรมต้นแบบคุณทองแดง บอกเล่าถึงการลงมือเนรมิตคุณทองแดงให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งผ่านงานปั้นครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่เลือกท่าทางที่เหมาะสมกับการจัดวางในพระเมรุมาศจากอิริยาบถต่างๆทั้งนั่ง นอน ยืน จนมาลงตัวในท่านั่ง 4 ขาอย่างสง่างามตั้งตระหง่านเคียงข้างพระจิตกาธานด้านซ้าย เสมือนว่าคุณทองแดงยังคงใกล้ชิดอยู่กับพระองค์ท่านตลอดเวลา

ความละเอียด ละเมียดละไม ที่บรรดานายช่างประติมากรรมร่วมกันบรรจงสรรสร้างลงไปในทุกเชิงช่างในการ ถวายงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร นอกจากจะสะท้อนถึงความวิจิตรยิ่งใหญ่ของศิลปะไทยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีของคนไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันขึ้นชื่อว่าเป็นประชาชนของพระราชาได้เป็นอย่างดี