เครือข่ายประมงพื้นบ้านจ.ตรัง ยันไม่มีตลาดค้าเนื้อพะยูน

เครือข่ายประมงพื้นบ้านจ.ตรัง ยันไม่มีตลาดค้าเนื้อพะยูน

เครือข่ายประมงพื้นบ้านจ.ตรัง ยืนยันในพื้นที่ไม่มีขบวนการล่าพะยูน และไม่มีเนื้อพะยูนไว้ขายตามร้านค้าบนเกาะลิบง เตรียมเชิญอธิบดีกรมอุทยานฯ ลงพื้นที่มาชี้แจงกับชาวบ้าน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (19 ตุลาคม 2560) ที่มูลนิธิอันดามัน ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง พร้อมกรรมการกลุ่มจัดทำยุทธศาสตร์โซนเล จังหวัดตรัง ได้จัดให้มีการประชุมหารือถึงแนวทางการปฎิบัติงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชาบฝั่ง โดยมีการนำประเด็นปัญหาข่าวการล่าพะยูน และพบการค้าเนื้อพะยูนบนเกาะลิบงมาหารือ เพราะหลังจากมีการให้ข่าวดังกล่าวออกมากระทบความรู้สึกของจังหวัดตรัง โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้าน และชาวบ้านบนเกาะลิบง อ.กันตัง และกระทบการท่องเที่ยวบนเกาะลิบงเป็นอย่างมาก โดยมีนายอะเหร็น พระคง ประธานชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง นายตะวัน ทุ่ยอ้น เลขานุการชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจังหวัดตรัง นายอิสมาแอน เบ็ญสะอาด นักวิชาการท้องถิ่น กรรมการชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง และสมาชิกชมรมฯ ร่วมประชุม

นายอิสมาแอน เบ็ญสะอาด นักวิชาการท้องถิ่น กรรมการชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กล่าวว่า ข่าวที่ทางอธิบดีออกมานั้น ทราบว่ามีชาวบ้านบางคนในพื้นที่เป็นคนให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่คนที่ได้รับข้อมูลไม่ได้มีการกลั่นกรองก่อน ก็รายงานต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในทันทีทำให้คนที่ได้รับข้อมูล และอธิบดีกรมอุทยานฯเข้าใจผิดว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามนั้น เมื่อข่าวออกมาจึงสร้างความไม่พอใจต่อชาวบ้านเกาะลิบงเป็นอย่างมาก และขอยืนยันว่าชาวบ้านเกาะลิบงมีความรัก และหวงแหนพะยูนเป็นอย่างมาก และไม่มีการค้าเนื้อพะยูนบนเกาะลิบงอย่างแน่นอน

แต่เมื่อประมาณ 5 ปี ที่ผ่านมา เคยมีชาวประมงอวนปลากระเบนจากต่างถิ่น เข้าไปลักลอบทำประมงในเขตอนุรักษ์หญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยหากินของสัตว์ทะเลหายากทั้ง เต่าทะเล โลมา และพะยูน โดยชาวบ้านร่วมกันกำหนดให้เขตดังกล่าวเป็นเขตคุ้มครองอนุรักษ์พะยูน โดยอวนปลากระเบนจัดเป็นเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูน เมื่อชาวบ้านทราบข่าวก็เกรงว่าจะมีการเข้ามาล่าพะยูน จึงแจ้งชุดเฉพาะกิจทางทะเลของชาวบ้านออกไปตรวจสอบในทันที ทั้งนี้ พบปลากระเบนเต็มลำเรือ และอวนปลากระเบน แต่ไม่พบพะยูน ทำให้ชาวบ้านหวั่นวิตกว่าพวกประมงต่างถิ่นพวกนี้จะเข้ามาลักลอบล่าพะยูน เพื่อส่งขาย หรืออาจจะเข้ามาจับปลากระเบน แต่หากติดพะยูนก็อาจจะไม่ปล่อย ซึ่งอาจจะเก็บซากพะยูนไปด้วย จึงเป็นที่มาของข่าวการล่าพะยูน เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ไม่มีแล้ว

ด้านนายอะเหร็น พระคง ประธานชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเข้ามารับตำแหน่งประธานชมรมประมงพื้นบ้าน ปี พ.ศ.2550 แต่ชมรมฯก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 มีการทำงานด้านการอนุรักษ์ในการจัดการดูแลพะยูน โลมา เต่าทะเล ปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน ป่าบก เป็นการทำงานเป็นตัวกลางให้กับภาครัฐทำงานด้วยจิตใจเสียสละไม่มีเงินเดือน กิจกรรมที่ผ่านมามีการรณรงค์การปลูกป่าชายเลน หญ้าทะเล ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จัดทำแนวเขตพะยูนเพื่อการอนุรักษ์ ปะการังเทียม ออกข้อบัญญัติตำบล ออกกติกาชุมชน เป็นหูเป็นการการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย เช่น ทำลายพะยูน โลมา

ทั้งนี้ ชมรมประมงพื้นบ้านมีสมาชิกใน5อำเภอ ประกอบด้วย อ.กันตัง อ.สิเกา อ.ปะเหลียน และ ย่านตาขาว และอ.หาดสำราญ มีอยู่ประมาณ 50 - 60 หมู่บ้าน และยังมีสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดตรังที่มีกว่า 70 ตำบล ร่วมกันดูแลด้วย และมีการประชุมรับฟังปัญหากันทุกเดือน หากใครเข้ามาล่าพะยูนจะไม่มีทางรอดหูรอดตาชาวบ้านได้แน่นอน ทั้งนี้ ผลของการร่วมกันอนุรักษ์หญ้าทะเลและพะยูนอย่างจริงจัง ทำให้ผลบินสำรวพะยูน ของศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน พบว่าประชากรพะยูนในทะเลตรัง มีประมาณเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ลดต่ำสุดในปี 2555- 2556 เหลือพะยูนเพียง 134 – 125 ตัว

แต่จากการบินสำรวจล่าสุดปี 2560 พบพะยูนในทะเลตรังเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 169 – 200 ตัว และมีพะยูนคู่แม่ลูกอีก 11 คู่ ส่วนพื้นที่หญ้าทะเลก็เพิ่มขึ้นจาก 27,000ไร่ เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 35,000 ไร่ ด้วยการขึ้นเองตามธรรมชาติจากการกำหนดเขตคุ้มครอง และการร่วมกับทุกภาคส่วนปลูกเพิ่ม ทั้งนี้ ชาวบ้านไม่ได้เชื่อเฉพาะนักวิชาการ แต่ชาวประมงออกทำประมงจะพบพะยูนเป็นประจำทุกวัน จึงยืนยันได้ว่าประชากรพะยูนในทะเลตรังไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด กลับเพิ่มจำนวนมากขึ้น

นายอะเหร็น กล่าวอีกว่า สำหรับการล่าพะยูนนั้น เกิดขึ้นนานมาแล้ว ทางชมรมฯรณรงค์อนุรักษ์พะยูนมาโดยตลอด ข่าวเรื่องการล่าทำให้ชาวประมงพื้นบ้านเสียความรู้สึก ขนาดพะยูนเสียชีวิตกลางทะเล ต้องนำเรือไปลากกลับเข้าฝั่งแม้จะต้องจ่ายค่าน้ำมันเองก็ตาม ตอนนี้จิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์พะยูนไม่ใช่เกิดเฉพาะชาวบ้านเกาะลิบง หรือชมรมประมงพื้นบ้านเท่านั้นแต่เป็นความรู้สึกของคนทั้งจังหวัดตรัง ไม่ได้คิดเรื่องล่า มาออกข่าวเสียความรู้สึกเพราะทุกคนตั้งใจทำงานอนุรักษ์กันทั้ง 5 อำเภอและทำกันอย่างเต็มที่โดยในวันนี้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดท่าทีออกแถลงการณ์ในวันที่ 21 ตุลาคมนี้ ให้อธิบดีกรมอุทยานฯชี้แจงข้อเท็จจริง และมาพบกับชาวบ้านในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ส่วนกรณีข่าวเหตุการณ์ล่อซื้อชิ้นเนื้อตามที่อธิบดีฯออกมาให้ข่าวนั้น เป็นข่าวเก่าที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งสื่อมวลชนก็เคยนำเสนอข่าวในขณะนั้น ข้อเท็จจริงคือ มีชาวบ้านบางรายไปพบซากพะยูนเกยตื้นตาย แต่ไม่นำซากส่งทางการผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตาย กลับนำซากไปฝังในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จากนั้นเจ้าหน้าที่เข้าไปพบ จึงนำชิ้นเนื้อดังกล่าวส่งพิสูจน์หาดีเอ็นเอ ที่ศูนย์วิจัย และพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันพบว่า เป็นดีเอ็นเอของพะยูนจริง แต่ในขณะนั้น เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งความเอาผิดคนครอบครองแต่ประการใด จึงถือว่าเป็นข้อมูลเก่าที่เคยเป็นข่าวมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2557 ที่อธิบดีกรมอุทยานฯนำมาแถลงยืนยันประกอบข่าวขบวนการล่าพะยูนในจังหวัดตรัง

ทั้งนี้ สถิติผลการบินสำรวจพะยูนในจังหวัดตรัง โดยนักวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับนักวิชาการต่างประเทศย้อนหลังข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปี 2541 – 2560 พบว่า ในระยะประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา ประชากรพะยูนเพิ่มปริมาณสูงขึ้น คือ ระหว่างปี 2541 – 2553 พบซากพะยูนตาย จำนวน 63 ตัว คงเหลือพะยูนประมาณ 150 – 200 ตัว , ปี 2554 พะยูนตาย 5 ตัว เหลือประมาณ 150 ตัว, ปี 2555 พะยูนตาย 13 ตัว คงเหลือพะยูนประมาณ 134 ตัว , ปี 2556 พะยูนตาย 6 ตัว เหลือพะยูนประมาณ 125 ตัว ,ปี 2557 พะยูนตาย 7 ตัว เหลือพะยูนประมาณ 135 ตัว ,ปี 2558 พะยูนตาย 8 ตัว เหลือพะยูนประมาณ 145 ตัว , ปี 2559 พะยูนตาย 8 ตัว เหลือพะยูน 160 ตัว และปี 2560 พบพะยูนเพิ่มขึ้นประมาณ 169 ตัว และตายลงแล้ว 1 ตัว โดยพบพะยูนแม่ลูกประมาณ11คู่ ทั้งนี้ บางเที่ยวบินเคยพบฝูงพะยูนมากสุดประมาณ 92 ตัว

อย่างไรก็ตาม ได้รับการเปิดเผยจาก นายอะลิเฟน เทศนำ ผญบ.หมู่ 7 บ้านทรายแก้ว ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง หลังจากที่ในพื้นที่เกาะลิบงตกเป็นข่าวล่าพะยูน ทางตำรวจท่องเที่ยวจังหวัดตรัง ได้เดินทางลงพื้นที่สำรวจร้านอาหาร โดยมีการสุ่มตรวจสอบร้านจำน่ายอาหารตามสั่ง ข้าวแกง ว่ามีเมนูพะยูนหรือไม่ ผลการสุ่มตรวจสอบไม่พบแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามแม้ว่าชาวเกาะลิบงจะเป็นจำเลยสังคมเรื่องการล่าพะยูน แต่ยังคงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมพะยูนกันอย่างต่อเนื่อง เช้าวันเดียวกันยังพบฝูงพะยูน 15 ตัวแหวกว่ายในทะเล หมู่ 4 บ้านบาตูปูเต๊ะ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก พะยูนเองก็คุ้นกับชาวบ้าน เชื่อง ไม่ตื่นกลัว มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปล่า เพราะพะยูนและชาวเกาะลิบง เปรียบเสมือนครอบครัวเดียวกัน