ล่ารายชื่อชง 'กรธ.' ตัดอำนาจผู้ว่าสตง. สอบจนท. 'ป.ป.ช.'

ล่ารายชื่อชง 'กรธ.' ตัดอำนาจผู้ว่าสตง. สอบจนท. 'ป.ป.ช.'

เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ล่ารายชื่อ ชง "กรธ." ตัดม.7วรรค3 ร่างกฎหมายลูกสตง. ให้อำนาจ "ผู้ว่าสตง." ไต่สวนคนป.ป.ช.ที่ทุจริตต่อหน้าที่ หวั่นกระทบการทำงาน ซัดอาจทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างองค์กร

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้ส่งต่อข้อความในการลักษณะเป็นจดหมายเปิดผนึกเพื่อให้ร่วมกันลงชื่อเป็นการแสดงข้อคิดเห็นต่อกรณี ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยกร่างพระราชบัญญัติ สตง.มาตรา 7 วรรค 3 ที่ระบุว่า หากตรวจพบว่าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่าฯสตง.) มีอำนาจดำเนินการไต่สวนเบื้องต้น แล้วให้แจ้งผลต่อคณะกรรมการป.ป.ช.หากมีมูลความผิดก็ให้คณะกรรมการป.ป.ช.ดำเนินการ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเกิดปัญหาความขัดแย้งขององค์กรบังคับใช้กฎหมายระหว่าง ป.ป.ช. และ สตง. อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเพียงขั้นตอนการไต่สวนเบื้องต้น แต่อาจเป็นร่างที่มีเนื้อหาขยายขอบเขตหน้าที่อำนาจของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 242 และมาตรา 244 กำหนด อีกทั้งยังขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (2) ด้วย

แหล่งข่าวเปิดเผย อีกว่า ทั้งนี้ ในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นๆ โดยเฉพาะในการดำเนินคดีอาญา บุคลากรที่จะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดี จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการดำเนินคดีอาญา ดังนั้น การกำหนดให้ผู้ว่าสตง.เป็นผู้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยเฉพาะในหลักประกันในการให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. เนื่องจากหน้าที่และอำนาจของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเกี่ยวข้องเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในด้านวินัยการเงินและการคลัง มิใช่องค์กรในการดำเนินคดีอาญา และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมิใช่เจ้าหน้าที่สอบสวนคดีอาญา

ดังนั้น เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ปฏิบัติโดยตรง จึงเห็นพ้องกับความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าร่างพ.ร.ป.สตง.ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และเป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาประวิงเวลาซึ่งมีอยู่จำกัดโดยการกลั่นแกล้งกล่าวหาพนักงานไต่สวนไปยังผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงเห็นควรตัดเนื้อหาของร่างมาตรา 7 วรรค 3 ออกทั้งวรรค

แหล่งข่าว กล่าวว่า ตามปกติ มาตรการที่ใช้ควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. ตามกฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบันนั้น มีอยู่หลายประการ อาทิ มาตรการทางวัฒนธรรมองค์กร ก็มีบทห้ามไม่ให้เข้าไปมีส่วนได้เสียในเรื่องที่ไต่สวน หรือสำนวนคดี ตามมาตรา 46 ของกฎหมายป.ป.ช.ซึ่งเป็นพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. จะถูกควบคุมด้วยวัฒนธรรมองค์กร เช่น การห้ามรับเลี้ยงหรือยุ่งเกี่ยวกับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องกล่าวหาร้องเรียน

นอกจากนี้ยังมี มาตรการทางมาตรฐานทางจริยธรรม ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้กำหนดระเบียบเกี่ยวกับประมวลจริยธรรมที่ใช้บังคับสำหรับ กรรมการ ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ลูกจ้างของสำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งหมด และมาตรการเกี่ยวกับโทษสองเท่า หากพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่ของป.ป.ช. กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความเที่ยงธรรม ตามมาตรา 125 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน ที่มาจากการสรรหา เป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ในความซื่อสัตย์ สุจริต และเป็นที่ยอมรับของสังคม หากต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน ป.ป.ช. ย่อมเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม และปราศจากอคติ หรือความลำเอียง