ปรากฏการณ์‘สมาร์ทโฟน’นวัตกรรมพลิกโฉมโทรคม

ปรากฏการณ์‘สมาร์ทโฟน’นวัตกรรมพลิกโฉมโทรคม

ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน “โทรเลข” และ “โทรศัพท์พื้นฐาน” รหัส 02 เป็นทางเลือกอันดับแรกๆ ของการติดต่อสื่อสารในประเทศไทย

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ภาพจำของบางคนอาจย้อนไปถึงการต่อคิวขอเลขรับบริการติดตั้งโทรศัพท์บ้าน (ฟิกซ์ไลน์) ที่ขึ้นต้นด้วยเบอร์ 02 การใช้การ์ดรหัส Pin Phone 108 เพื่อขูดรหัสสำหรับการใช้งานในโทรศัพท์ตู้สาธารณะ จากนั้นก็เริ่มมีบริการวิทยุติดตามตัว “แพคลิ้งค์” หรือ “โฟนลิ้งค์” ส่งข้อมูลสั้นๆ ไปยังเลขหมายปลายทาง หรือฝากข้อความเสียงไว้ให้โทรกลับ

วิวัฒนาการของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยีแบบค่อยเป็นค่อยไป กระทั่งปี 2533 เริ่มมีการให้สัญญาสัมปทานกับบริษัทเอกชน จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือ บมจ.ทีโอที ในปัจจุบัน กับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ระบบความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์เป็นระยะเวลา 30 ปี และการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ บมจ.กสท โทรคมนาคม กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในอีก 2 และ 3 ปีถัดมา บนคลื่นความถี่ 850 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ อายุสัมปทาน 25 ปี

หลังจากนั้น ภาพการติดต่อสื่อสารจึงเปลี่ยนไปจากการใช้โทรศัพท์บ้าน หรือ โทรศัพท์ตู้สาธารณะ มาสู่โทรศัพท์มือถือจอขาวดำ รูปทรงคล้ายกระติกน้ำราคาไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท พร้อมแพคเก็จค่าโทรนาทีเกือบ 50 บาท อัตราค่าโทรแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากันในประเทศ  

มาวันนี้ทุกอย่างถูกพลิกโฉมไปอย่างสิ้นเชิง เหตุการณ์สำคัญคือ การเปลี่ยนผ่านจากระบบสัญญาสัมปทานมาสู่ใบอนุญาต (ไลเซ่น) โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 3จี ในย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2555 คลื่นความถี่รวม 45 เมกะเฮิรตซ์ และผู้ชนะการประมูลคือเอกชนทั้ง 3 โดยแบ่งกันลงตัวที่รายละ 15 เมกะเฮิรตซ์

การประมูลในครั้งนั้นถือเป็นครั้งที่ 2 ที่มีความพยายามจากกสทช.ในการเปิดเสรีการให้บริการโทรคมนาคมผ่านการออกใบอนุญาต เพราะในครั้งแรกทีโอที และกสทฯ ต่างร่วมกันยื่นคัดค้านจากศาลปกครอง เพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน มองว่าการประมูลคลื่นจะทำให้ตัวเองสูญเสียรายได้จากระบบสัญญาสัมปทานที่ได้รับมายาวนานตลอด 30 ปี

ต่อมากสทช.เปิดประมูลคลื่นความถี่อีก 2 ครั้ง สำหรับให้บริการ 4จี ประกอบด้วยย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ในปี 2558 และย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ในปี 2559 หากรวมเงินประมูลที่รัฐบาลได้รับจากการประมูลนั้นมีมากกว่า 350,000 ล้านบาท

ปี 2561 กสทช.มีแผนจัดการประมูลย่าน 850 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) รวมถึงเทคโนโลยี 5จี

มนต์ขลัง “สตีฟ จ็อบส์

นอกจากเรื่องของโครงข่าย “ดีไวซ์” เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนที่สำคัญไม่แพ้กัน จุดเปลี่ยนของตลาดเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2550 ที่พ่อมดแห่งวงการไอที “สตีฟ จ็อบส์” อวดโฉม“ไอโฟน” สู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรกและหลังจากนั้นได้กลายเป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์ที่เข้ามาปฏิวัติวงการโทรศัพท์มือถืออย่างสิ้นเชิง

ใครจะคาดคิดว่ายักษ์โทรศัพท์มือถือจากฟินแลนด์อย่าง “โนเกีย” จะก้าวมาถึงจุดจบที่ไม่ค่อยสวยงามมากนัก “แบล็คเบอร์รี่” ที่แม้เข้ามาได้ถูกจังหวะเวลา ทว่าสุดท้ายเมื่อการสื่อสารไม่อาจถูกขีดเส้นหรือจำกัดเพียงตัวหนังสือ เป็นธรรมดาที่เวลาของการเปลี่ยนแปลงต้องมาถึง

ถึงวันนี้ครบรอบ 10 ปี แม้มีคู่แข่งหลายรายขอแบ่งยอดขาย ถูกดึงความสนใจไปโดยแบรนด์สมาร์ทโฟนจากประเทศจีนและเกาหลีใต้ แต่ชื่อชั้นของ “แอ๊ปเปิ้ล” และ “ไอโฟน” ยังคงติดลมบน สามารถครองความนิยมในตลาดไฮเอนด์ได้ไม่เปลี่ยน

ปัจจุบันไอโฟนยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้หลักให้กับแอ๊ปเปิ้ล สัดส่วนมากกว่า 60%

สมาร์ทโฟนโตไม่หยุด

โอภาส เฉิดพันธุ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด ผู้จัดงานโมบายเอ็กซ์โป ประเมินสถานการณ์ตลาดสมาร์ทโฟนไทยว่า แม้สภาพเศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่ด้วยปัจจัยที่สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่เปิดตัวออกมาพร้อมเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ส่งผลทำให้ตลาดมีความเคลื่อนไหว กำลังซื้อผู้บริโภคเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุดที่ช่วยดึงดูดได้อย่างมากคือการมาของ กล้องคู่ หน้าจอไร้ขอบ จอกว้างพิเศษ รวมถึงอุปกรณ์เสริมที่ใช้ร่วมกัน

ขณะเดียวกัน การแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากแบรนด์ผู้ผลิตและโอเปอเรเตอร์ได้ช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่าย ด้านผู้บริโภคเริ่มมีความเข้าใจการใช้งาน เลือกซื้อสมาร์ทโฟนที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ มากกว่าแค่ราคา ส่วนเรื่องสเปคทุกรายพยายามอัดกันมาเต็มที่ภายใต้ราคาที่จับต้องได้ เห็นได้จากเทคโนโลยีที่เคยอยู่แต่ในสมาร์ทโฟนพรีเมียมถูกนำมาใส่ในเครื่องระดับกลางแล้ว

วิชัย พรพระตั้ง” รองประธานองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า การแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนไทยดุเดือดมาต่อเนื่อง เชื่อว่าไม่มีเซ็กเตอร์ใดที่จะรุนแรงได้เท่าประเมินขณะนี้จำนวนผู้เล่นไม่ได้ต่างจากเดิม การจะขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งผู้นำเพียงฮาร์ดแวร์ดีอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องพร้อมทั้งการบริการ คอนเทนท์ สามารถตอบโจทย์การใช้งานยุคดิจิทัลได้ครบ

ด้านปัจจัยที่สนับสนุนให้ตลาดเติบโต หลักๆ คือความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมขณะนี้รอบการเปลี่ยนเครื่องใหม่ยังอยู่ที่ราว 18-24 เดือน เทรนด์การใช้สมาร์ทโฟนที่น่าสนใจพบว่าหน้าจอขนาดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ขณะที่ราคาเครื่องไฮเอนด์ที่แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากต้องใช้ส่วนประกอบคุณภาพสูง ยังไม่เห็นว่าส่งผลกระทบหรือฉุดกำลังซื้อ

ไอโอทีคลื่นลูกใหม่

เมื่อโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสารพร้อม ปริมาณการใช้สมาร์ทโฟนพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้งานรับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ในประเทศไทยโมบายแอพพลิเคชั่นที่ครองความนิยมสูงสุด 3 อันดับแรกคือไลน์ เฟซบุ๊ค และยูทูบ

ขณะที่โอกาสทางการตลาดที่น่าสนใจยังมีเกม การพัฒนาแอพเพื่ออีคอมเมิร์ซ ค้าปลีกออนไลน์ ออนไลน์สตรีมมิ่งทั้งดูหนัง ฟังเพลง ที่กำลังเติบโตควบคู่ไปกับฟินเทคคือ บริการทางการเงินบนอิเล็กทรอนิกส์ และโมบายแบงกิ้งต่างๆ

นอกจากนี้ตลาดที่เติบโตได้สอดคล้องกันไปยังมีสมาร์ทแกดเจ็ท เช่น สมาร์ทวอทช์ แวร์เอเบิล รวมถึงอุปกรณ์เสริมสำหรับโทรศัพท์มือถือต่างๆ

ปัจจุบัน โลกไอทียังหมุนไม่หยุด โอกาสใหม่ๆ กำลังมาพร้อมโครงข่ายความเร็วสูง 5จี และคลื่นลูกใหม่ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (ไอโอที) ว่ากันว่า ไอโอทีจะกลายเป็นตัวจักรช่วยขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มผลผลิตด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล (ดาต้า อนาไลติกส์

การเข้าถึงข้อมูลจากไอโอทีจะช่วยให้เจ้าของแบรนด์เข้าใจผู้บริโภคได้ชัดเจนขึ้น จากนี้สามารถนำเสนอสิ่งที่ใช่ ในแบบที่ลูกค้าต้องการ ส่งผลไปถึงความสามารถในการทำกำไร เพิ่มความภักดีต่อแบรนด์ กลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับช่วยตัดสินใจ ลดช่องว่างตลาด สามารถปรับปรุงประสบการณ์และสร้างบริการในมิติใหม่ๆ

ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวนคาดการณ์ไว้ว่ามูลค่าตลาดไอโอทีประเทศไทยปี 2563 หรือ อีก 3 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ 34,000 ล้านบาท เติบโตสูงถึง 1,600% ขณะที่ ไอดีซีคาดการณ์ว่าระหว่างปี 2558 - 2563 ตลาดไอโอทีไทยจะโตที่ 13.2%

อีกหนึ่งตลาดที่น่าจับตามองคือ การมาของเทคโนโลยีเสมือนจริง “วีอาร์” ที่กำลังกลายเป็นเวทมนตร์แห่งยุคดิจิทัลเสกให้กระแสฮิตการบริโภคดิจิทัลคอนเทนท์เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ