รพ.จะนะ ติดตั้งโซลาร์เซล ตั้งเป้า 2 ปีผลิต 60 กิโลวัตต์

 รพ.จะนะ ติดตั้งโซลาร์เซล ตั้งเป้า 2 ปีผลิต 60 กิโลวัตต์

รพ.จะนะ ติดตั้งโซลาร์เซล บนหลังคาตึกผู้ป่วยในเฟสแรก 20 กิโลวัตต์ ตั้งเป้าภายใน 2 ปี 60 กิโลวัตต์ ลดค่าไฟฟ้าได้ 12,000-15,000 บาทต่อเดือน ระบุคุ้มค่าคืนทุน 6 ปี

นายแพทย์สุภัทร์ ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา เปิดเผย “ผู้สื่อข่าว” ว่าขณะนี้ทางโรงพยาบาลแผงโซลาร์เซลบนหลักคาตึกผู้ป่วยในชั้น 4 จำนวน 68 แผ่น ขนาด 20 กิโลวัตต์ (แผงละ 300 วัตต์X68แผ่น) โดยเริ่มติดตั้งเมื่อวันที่ 16 ต.ค.แล้วเสร็จวันที่ 19 ต.ค. 2560

“เป็นโครงการระยะที่ 1 เพราะเป้าหมายเราต้องการจะติดตั้งให้ได้ 60 กิโลวัตต์ภายในระยะเวลา 2 ปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาล แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านงบประมาณจึงต้องทยอยติดตั้ง เนื่องจากพื้นที่ยังมีสำหรับการติดตั้งเพิ่มในอนาคต”

นายแพทย์สุภัทร กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลจะนะ จ่ายค่าไฟเดือนละประมาณ 250,000 บาท ซึ่งการติดตั้งแผงโซลาร์เซลจะช่วยให้ทางโรงพยาบาลประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 12,000-15,000 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับงบประมาณในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลจำนวน 800,000 บาท ถือว่าคุ้มค่า เนื่องจากจะคืนทุนภายในระยะเวลา 6 ปี
ในขณะที่อายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซล 25 ปี และจากมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่าหลังจาก 25 ปี แผงโซลาร์ก็ยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไปได้ เพียงแต่ประสิทธิภาพการผลิตจะลดลงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่ายังผลิตไฟฟ้าได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์

“ระบบครั้งนี้เป็นระบบโซลาร์ออนกริด นั่นคือผลิตแล้วมาผสมกับไฟ กฟภ. ซึ่งกลางวันโรงพยาบาลใช้ไฟมาก ไฟที่ผลิตได้จึงจะถูกใช้หมดในทันที ซึ่งจะช่วยลดพีคการใช้ไฟฟ้าของโรงพยาบาล โดยมีสองพีคคือพีคสายๆก่อนเที่ยง และพีคบ่ายได้เป็นอย่างดีจึงอยากให้ส่วนราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน วัด อบต. เทศบาล หรือสำนักงานต่างๆ ช่วยกันพึ่งตนเองด้านพลังงาน อย่าปล่อยให้หลังคาเป็นเพียงที่กันแดดกันฝน เพราะแท้จริงหลังคาสามารถผลิตพลังงานได้ และเป็นพลังงานสะอาดที่แท้จริงด้วย ใช้ได้อย่างไม่มีวันหมด"

นายแพทย์สุภัทร กล่าวต่ออีกว่า มีหลายอย่างติดบ้างข้อแรกที่สำคัญก่อนอื่นใดคือทัศนะการติดโซลาร์เซลนั้นมีราคาที่สูงพอสมควร หลักหมื่นหรือเป็นแสน ทัศนะที่สำคัญก็คือนี่คือการลงทุน เราได้กำไรแน่ แต่ต้องรอ เฉกเช่นที่ชนชั้นกลางลงทุนซื้อคอนโดซื้อที่ดินเป็นล้านซื้อหุ้นเพื่อการลงทุนเก็งกำไร

เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่ใช้คำนวณค่าไฟนั้น กฟภ.เขาไม่ได้ใช้ค่าหน่วยไฟฟ้าเฉลี่ยที่เราใช้มาคำนวณ แต่เขาใช้พีคไฟในเดือนนั้นมาคูณกับอัตราต่อหน่วย ดังนั้น หากเราสามารถลดพีคไฟได้ ซึ่งโซลาร์ตอบโจทย์อย่างยิ่ง ค่าไฟฟ้าของหน่วยงานเราหรือบ้านเราก็จะลดลง

“โรงพยาบาลจะนะไม่ได้อยากติดแค่แผงโซลาร์เซลให้แล้วเสร็จเท่านั้น แต่เราอยากจะขยายความคิดความรู้และความเชื่อมั่นของพี่ๆน้องๆต่อโซลาร์เซลด้วย อยากให้ติดตั้งทางเทคนิคได้ด้วย หากมีช่างใกล้บ้านทำได้ คนก็จะยิ่งสบายใจมั่นใจในการติดตั้งเพิ่มขึ้น” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ กล่าว