สมเด็จพระเทพฯเสด็จฯร่วมยกนพปฏลมหาเศวตฉัตร พระเมรุมาศ

สมเด็จพระเทพฯเสด็จฯร่วมยกนพปฏลมหาเศวตฉัตร พระเมรุมาศ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯเพื่อยกนพปฏลมหาเศวตฉัตรพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9

เย็นวานนี้ (18 ต.ค.) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ไปทรงประกอบพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ฤกษ์ระหว่างเวลา 17.19-21.30 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รอรับเสด็จฯ พร้อมด้วยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร, พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณาปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศงานพระราชพิธีฯ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และคณะกรรมการ เฝ้าฯ รับเสด็จ

การนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพระราชอาสน์ที่หน้ามุขพระที่นั่งทรงธรรม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการฯ กราบบังคมทูลรายงานว่า มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธียกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรพระเมรุมาศสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในวันนี้ นับตั้งแต่เสด็จสวรรคตเมื่อ 13 ตุลาคม 2559 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชานุญาตให้คณะรัฐบาลและประชาชนจัดพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพิจารณาเตรียมงานพระราชพิธี โดยกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ที่ปรึกษาพระราชพิธีฯ และแต่งตั้งคณะกรรมการอีก 8 คณะร่วมดำเนินการ ด้วยเดชะพระบารมีส่งผลให้การดำเนินงานของคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำเร็จลุล่วงด้วยดี พร้อมประกอบพิธียกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร

ในโอกาสนี้ขอพระบรมราชานุญาตเบิกคณะกรรมการและนายช่างที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพระเมรุมาศจำนวน 6 คน ประกอบด้วย พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รองประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กรรมการและเลขานุการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ นายธีรชาติ วีระยุทธานนท์ สถาปนิก ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ และนายเจษฎา ชีวะวิชวาลกุล วิศวกรผู้ออกแบบโครงสร้าง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

จากนี้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญทรงประกอบพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรเพื่อความสมบูรณ์แห่งพระเมรุมาศตามโบราณราชประเพณี เป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลและเป็นศรีสง่าแก่พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปยังที่ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมนพปฎลมหาเศวตฉัตร ต่อมานายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ถวายสายสูตรยกนพปฎลมหาเศวตฉัตร (โหรหลวงลั่นฆ้องชัย ชาวพนักงานประโคม สังข์ แตร และดุริยางค์) เมื่อนพปฎลมหาเศวตฉัตรขึ้นสู่ยอดพระเมรุมาศแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานสายสูตรคืนอธิบดีกรมศิลปากร รับไปผูกไว้ที่เสาบัว ก่อนเสด็จฯไปทอดพระเนตรพระที่นั่งทรงธรรมและพระเมรุมาศ ตามพระราชอัธยาศัย และเสด็จฯกลับ สำหรับนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ มีขนาดความกว้าง 1.20 เมตร ความสูง 5.10 เมตร ลักษณะเป็นฉัตรขาว 9 ชั้น แต่ละชั้นของฉัตรมีระบายขลิบทองแผ่ลวด 3 ชั้น ชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง 14 ช่อ ปลียอดฉัตรเป็นทรงองค์ระฆังต่อด้วยบัวกลุ่ม ปลียอดฉัตรทำด้วยทองเหลืองกลึงปิดทอง นพปฎลมหาเศวตฉัตรนี้เป็นฉัตรสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณีแล้ว

ทั้งนี้ ฉัตรเป็นเครื่องสูง มีรูปร่างคล้ายร่มที่ซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ โดยชั้นบนมีขนาดเล็กกว่าชั้นล่าง เป็นเครื่องสูงที่ใช้ทั้งสำหรับแขวน ปัก ตั้ง หรือเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ มีหลักฐานว่าไทยใช้ฉัตรเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง ส่วนพระเมรุมาศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีขนาดความกว้าง 60 เมตร ยาว 60 เมตร สูง 50.49 เมตร

ประกอบด้วย อาคารทรงบุษบก จำนวน 9 องค์ ตั้งอยู่บนฐานชาลารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ทิศ บุษบกประธานมีชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ยอดบนสุดประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร ภายในมีพระจิตกาธานเป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศ ทั้งสี่ด้านติดตั้งฉากบังเพลิง เขียนรูปนารายณ์อวตารและภาพโครงการพระราชดำริ มุมทั้งสี่ของฐานชั้นที่ 3 เป็นที่ตั้งของบุษบกซ่าง ชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ถัดลงมาบนฐานชาลาชั้นที่ 2 มีบุษบกหอเปลื้อง รูปแบบเดียวกันแต่ขนาดย่อมลงมา ตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ บริเวณฐานชาลาทั้งสามชั้นประดับด้วยประติมากรรมท้าวจตุโลกบาล เทวดา ครุฑ ราชสีห์ คชสีห์ นาคราวบันได และสัตว์ประจำทิศ รอบฐานพระเมรุมาศมีสระน้ำ และเขามอจำลองประดับรูปสัตว์หิมพานต์ชนิดต่างๆ