แก๊งคอลฯตุ๋นคนไทยนับหมื่น ตกเป็นเหยื่อ100ราย สูญ200ล้าน

แก๊งคอลฯตุ๋นคนไทยนับหมื่น ตกเป็นเหยื่อ100ราย สูญ200ล้าน

"ดีเอสไอ-เอ็มเจไอบี" ร่วมจับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวบตัวผู้ต้องหาชาวไทย,ไต้หวัน แอบอ้างเป็นจนท.รัฐหลอกเหยื่อโอนเงิน "ไปรษณีย์ไทย" เผยยอดคนถูกโทรหลอกนับหมื่นราย คาดหลงเชื่อเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ราย วงเงิน 200 ล้านบาท เตือนปชช.กลุ่มสูงอายุตกเป็นเป้าหมาย

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) - 18 ต.ค. 60 พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วยนายมานพ ศรวิบูลย์ศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด, พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ และพ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ร่วมแถลงข่าวกรณีเครือข่ายขบวนการ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหลอกลวงประชาชนที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ในช่วงที่ผ่านมา

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวว่า ดีเอสไอได้รับการประสานจากบ.ไปรษณีย์ไทย ว่ามีกลุ่มคนแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์, เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ หรือเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานอื่น โทรศัพท์หลอกลวงประชาชน โดยมีการร้องเรียนผ่านทางไปรษณีย์ไทยเกือบ 10,000 ราย คาดว่าน่าจะมีผู้หลงเชื่อโอนเงินและตกเป็นเหยื่อกว่า 100 ราย วงเงินเสียหายกว่า 200 ล้านบาท โดยมีการแจ้งความไว้จำนวนมาก ซึ่งการสอบสวนพบว่า เครือข่ายดังกล่าวตั้งฐานการดำเนินงานคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงอยู่ในต่างประเทศ โดยคนต่างชาติร่วมมือกับคนไทย นำเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในการโทรศัพท์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ Voip (Voice Over internet Protocol) เพื่อให้เกิดความซับซ้อนยากแก่การติดตาม มีการแสดงหมายเลขโทรศัพท์ ขณะติดต่อเป็นเบอร์โทรของหน่วยงานรัฐ เช่น ดีเอสไอ บ.ไปรษณีย์ไทย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จากนั้นจะมีการพูดจาโน้มน้าว กดดัน จนเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเครือข่าย หรือบัญชีรับจ้าง ในเวลาเดียวกันจะมีชาวต่างชาติที่แฝงตัวมาในฐานะนักท่องเที่ยวทำการกดเงินออกทันที ที่ผ่านมาสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้แต่เพียงผู้รับจ้างเปิดบัญชี ผู้ถอนเงิน และผู้ช่วยเหลือสนับสนุนรายเล็กๆ ซึ่งมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ

ด้านนายมานพ กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยได้มีการเก็บข้อมูลที่มีผู้โทรเข้ามาร้องเรียนอ้างว่าถูกแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หลอกลวงรวม 7,465 ครั้ง นอกจากนี้ ยังมีผู้เดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเองอีก 3 พันกว่าครั้ง ไปรษณีย์ไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประสานธนาคารแห่งประเทศไทยและทำสื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งยังได้แจ้งความไว้ที่สน.ทุ่งสองห้อง ทั้งนี้ ขอชี้แจงว่าไปรษณีย์ไทยไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์แจ้งพัสดุตกค้าง เพื่อให้โอนเงินให้ หากได้รับโทรศัพท์เบอร์แปลก หรือมีขั้นตอนการหลอกลวงให้สอบถามไปที่สายด่วนไปรษณีย์ไทย 1545 ก่อน

ขณะที่พ.ต.ท.วิชัย กล่าวว่า ทีมสืบสวนได้เฝ้าติดตามดูพฤติกรรมกลุ่มคนไทยผู้ต้องสงสัย ซึ่งมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับคนไต้หวัน และมีข้อมูลการเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง จนมีฐานะร่ำรวยผิดสังเกต โดยพบเบาะแสว่าจะเดินทางไปยังไต้หวัน ช่วงระหว่างวันที่ 20 - 25 ก.ย. 60 ทีมสืบสวนจึงได้ประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ MJIB ไต้หวัน (The Ministry of Justice Investigation Bureau) เฝ้าติดตามพฤติกรรมและหาพยานหลักฐานอย่างต่อเนื่องจนพบพยานหลักฐานสำคัญเป็นบทพูดภาษาไทยที่ใช้ ในการหลอกลวงเหยื่อ และคนไทยกลุ่มนี้อยู่ในความคุ้มครองดูแลของคนไต้หวันที่มีประวัติต้องโทษเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงและลักทรัพย์ ดีเอสไอจึงประสานงานความร่วมมือกับ MJIB ส่งข้อมูลพยานหลักฐานเพื่อเข้าตรวจค้น เป้าหมายพร้อมกัน เมื่อวันที่ 12 ก.ย.60 โดยพ.ต.ท.ธวัชชัย ศรีวรกุล ผู้อำนวยการส่วนคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ 2 ได้นำกำลังร่วมกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เข้าตรวจค้น บริษัท พี เอ็ม เอ็น จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ อาคารทศพลแลนด์ 4 เขตบางนา กรุงเทพมหานคร เพื่อเก็บพยานหลักฐาน ในการติดต่อสื่อสาร Voip ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต พบข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ของเครือข่ายผู้กระทำผิด มีการเชื่อมโยงจากเครือข่ายจดทะเบียนทั้งใน ฮ่องกง อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

พ.ต.ท.วิชัย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน MJIB ได้เข้าทำการตรวจค้นที่ทำการของกลุ่มเป้าหมาย ณ เมืองไทจง (Taichung) และเมืองเหมี่ยวลี่ (Miaoli) พบพยานหลักฐานเป็นเอกสารบทพูดที่ใช้ในการหลอกลวงเหยื่อ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ การสื่อสาร ที่แสดงได้ว่าร่วมกันกระทำผิดในลักษณะของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตรวจค้นและจับกุมคนไทย จำนวน 18 คน ในจำนวนนี้มี นางธัญวรรณ วงษ์ภักดี และนายณัฐสิทธิ์ สามตะคุ เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาบัญชีธนาคารที่รับโอนเงินจากผู้เสียหาย และชักชวนคนไทยไปทำงานรับโทรศัพท์ที่ไต้หวัน โดยได้รับค่าตอบแทนมากกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน และจับกุมคนไต้หวัน จำนวน 7 คน

ทั้งนี้ ฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโทรศัพท์อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ที่พูดจาโน้มน้าวให้กระทำ อย่างใดอย่างหนึ่ง และย้ำเตือนว่าหน่วยงานธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสถาบันการเงินไม่มีการสั่งทางโทรศัพท์ ให้โอนเงินเพื่อปิดบัญชี หากมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ให้สอบถามได้ที่ Call Center กรมสอบสวนคดีพิเศษ โทร. 1202 และอย่าเข้าไปมีส่วนร่วมกับผู้กระทำผิด โดยการไปเปิดบัญชีเงินฝาก เพื่อหวังค่าจ้างเพียงเล็กน้อย ซึ่งเจ้าของบัญชีจะต้องถูกดำเนินคดีว่ามีส่วนร่วมกระทำผิด

พ.ต.ท.วิชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้ MJIB กำลังดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมด และเรากำลังประสานขอรับตัวคนไทยกลับมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนผู้ที่ไม่มีประวัติอาชญกรรมก็จะสอบสวนเพื่อขยายผลต่อไป ทั้งนี้ MJIB มีข้อห่วงใยสำหรับคนไทยที่จะเข้าไปทำงานในไต้หวันโดยผิดกฎหมายว่า การกระทำความผิดในไต้หวันไม่ใช่เรื่องที่กระทำได้ง่าย และหากตรวจพบจะต้องถูกดำเนินคดีทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นคดีที่มีความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกัน