'ภูมิสถาปัตยกรรม' กรอบรูปแห่งความภักดี

'ภูมิสถาปัตยกรรม' กรอบรูปแห่งความภักดี

หากงานสถาปัตยกรรมคือภาพวาด “ภูมิสถาปัตยกรรม” ก็เปรียบเสมือนกรอบรูป ที่เชิดชูให้ภาพวาดนั้นดูโดดเด่นเป็นสง่า เป็นความงดงามที่ถูกซ่อนไว้ภายใต้การวางผังที่กรมศิลปากร

บรรดาทีมงานได้ร่วมกันสร้างขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ถ่ายทอดจากความจงรักภักดีที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ท้องสนามหลวง หรือ ทุ่งพระเมรุ เป็นสถานที่สำคัญในการจัดงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆของบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รวมถึงเป็นพื้นที่ในการสร้างพระเมรุมาศสำหรับประกอบพระราชพิธีออกพระเมรุ ส่งเสด็จองค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศ์ชั้นสูงคืนสู่สรวงสวรรค์

ประเพณีในการสร้างพระเมรุจะสร้างขึ้นทางทิศใต้ของสนามหลวง ซึ่งในการกำหนดตำแหน่งพระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น การวางผังจะมีความเชื่อมโยงกับศาสนสถานที่สำคัญในเกาะรัตนโกสินทร์

กึ่งกลางของพระเมรุมาศ ที่ประดิษฐานบุษบกองค์ประธาน ที่ตั้งของพระจิตกาธาน สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพ ถูกออกแบบให้ตั้งอยู่บริเวณเส้นตัดทางทิศเหนือถึงทิศใต้ที่ลากจากตำแหน่งของรัตนเจดีย์ หรือเจดีย์องค์สีทองภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ตัดกับเส้นทางทิศตะวันออกถึงตะวันตก ที่ตั้งของพระวิหารในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

หากมองพระเมรุมาศจากกึ่งกลางของทางเข้าด้านทิศเหนือ หันหน้าเข้าพระบรมหาราชวัง จะสามารถมองเห็นยอดพระศรีรัตนเจดีย์ในวัดพระแก้วซ้อนอยู่ในบุษบกองค์ประธานพอดี กลายเป็นความงดงามทางภูมิสถาปัตย์อันโดดเด่น

พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เล่าว่า งานออกแบบครั้งนี้ มี 2 ส่วนคือ สืบสาน และสร้างสรรค์ กล่าวคือ สืบสานรูปแบบตามธรรมเนียมเดิมที่มีมา และสร้างสรรค์ออกแบบการตกแต่งพระเมรุเพิ่มเติม ให้สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งไม่ใช่เพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อประชาชน การจัดวางพื้นที่ต้องนำไปใช้สอยต่อได้ด้วย

ตั้งแต่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบภูมิสถาปัตย์พระเมรุมาศ ทางทีมงานต้องศึกษารูปแบบธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติมาในอดีต เพื่อให้เป็นไปตามราชประเพณี และต้องคงไว้ซึ่งลักษณะของภูมิสถาปัตยกรรมแบบไทย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งองค์ประกอบภายในต่างๆ สวน และบรรยากาศโดยรอบ ต้องมีความกลมกลืนสอดคล้องกันอย่างลงตัว เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งงานสถาปัตยกรรม ประติมากรรม วิจิตรศิลป์ เพื่อให้งานครั้งนี้ออกมาเป็นเอกภาพมากที่สุด

การออกแบบพระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ ๙ ต้องคำนึงถึงพื้นที่ว่างระหว่างอาคารภายในขอบเขตรั้วราชวัตร และบริเวณโดยรอบ เพื่อส่งเสริมให้พระเมรุมาศ และบรรยากาศโดยรอบมีความงดงามเหมาะสม อีกทั้งต้องให้ความหมายในเรื่องคติแผนภูมิจักรวาลอย่างสมบูรณ์
บริเวณโดยรอบพระเมรุมาศ จะเปรียบดั่งเขาพระเมรุ ที่ตั้งอยู่กลางจักรวาล ส่วนที่ว่างจะมีการปลูกต้นไม้น้อยใหญ่ ให้เปรียบเสมือนป่าหิมพานต์ที่อยู่เชิงเขานั่นเอง

การตีความถึงภูมิจักรวาลเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบพระเมรุมาศ เพื่อให้เห็นว่าเขาพระสุเมรุอยู่ตรงแกนกลางจักรวาล ล้อมรอบด้วยสีทันดรมหาสมุทร และสัตบริภัณฑ์คีรีต่างๆ อีกทั้งยังสื่อความหมายให้เห็นถึงทวีปทั้ง ๔ ได้แก่ ทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก

ถัดออกมาจะเป็นกำแพงจักรวาล ที่ออกแบบเป็นงานปูพื้น ที่เลือกใช้วัสดุเป็นแผ่นซีเมนต์สีเทา ที่มีผิวสัมผัสสะท้อนกับแสง เปรียบดั่งดวงดาวบนสรวงสวรรค์ ถ้ามองลงมาจากเบื้องบน จะเห็นสัญลักษณ์ของภูมิจักรวาลอย่างครบถ้วนและชัดเจนราวกับพระเมรุมาศลอยอยู่เหนือมวลเมฆ

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ นั่นก็คือการออกแบบให้สื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งแต่เดิมฐานพระเมรุมาศจะออกแบบโดยตีความถึงป่าหิมพานต์ที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้ และโขดหินน้อยใหญ่

แต่พระเมรุมาศในครั้งนี้ มีความพิเศษแตกต่างไปจากแต่ก่อน และถือเป็นครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยได้มีการเพิ่มเติม องค์ประกอบของน้ำ นั่นคือ สระอโนดาต หรือสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ในป่าหิมพานต์ โอบล้อมรอบบริเวณของพระเมรุมาศ ที่เต็มไปด้วยสัตว์ในตำนานน้อยใหญ่ สื่อถึงโครงการในพระราชดำริของพระองค์ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับน้ำ สิ่งนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของพระองค์ได้เป็นอย่างดี

ทุกเรื่องราวของพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงทำเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับปวงชนชาวไทยตลอดระยะเวลา 70 ปีเกี่ยวกับป่า ดิน น้ำ และการเกษตร ถูกนำมาบอกเล่าผ่านงานออกแบบสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศที่จัดวางได้อย่างลงตัวในพื้นที่โดยรอบพระเมรุมาศ ไม่ว่าจะเป็นคันนารูปเลขเก้าไทย ดินผสมสีทองที่ถูกนำมาปกคลุมบริเวณนาข้าว ต้นมะม่วงมหาชนก ต้นยางนา และต้นราชพฤกษ์โดยรอบพระเมรุมาศ รวมไปถึงลวดลายกระต่ายในองค์ประกอบภูมิทัศน์ต่างๆ อันสื่อถึงปีนักษัตรพระราชสมภพที่ถูกจัดวางอย่างเหมาะสมลงตัว

พระเมรุมาศนับเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ต้องมีความยิ่งใหญ่ รวบรวมไว้ซึ่งความงดงามวิจิตรตระการตาในทุกๆรายละเอียดล้วนต้องคำนึงถึงธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติสืบกันมาอย่างเคร่งครัด แต่เนื่องด้วยพระเมรุมาศเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อปลงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นงานอวมงคลเพราะฉะนั้นเมื่องานพระบรมศพสิ้นสุดลง จะต้องรื้อสิ่งก่อสร้างทั้งหมดออก และทำให้พื้นที่โดยรอบคืนสู่สภาพเดิมทุกประการ