‘วีอาร์ สเฟียร์’ โดมผสานความรู้-บันเทิง

‘วีอาร์ สเฟียร์’ โดมผสานความรู้-บันเทิง

เก้าอี้ภายในโดมใสรูปทรงแปลกตา มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “วีอาร์ สเฟียร์” เป็นนวัตกรรมพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (วีอาร์) สร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับงานบันเทิงผสานการให้ความรู้ เปิดตัวชิมลางด้วยลูกค้า 2 ราย พร้อมทะยานสู่รายได้ 8 หลักใน 2561

ด้วยแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Jurassic World (2015) ฉากนำเสนอ “ไจโรสเฟียร์” พาหนะที่พาทัวร์พื้นที่จูราสิคพาร์ค บวกกับประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านสื่ออินเทอร์แอคทีฟ จึงเกิดเป็นนวัตกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้ใหม่ในชื่อ “วีอาร์ สเฟียร์”

สร้างประสบการณ์ใหม่กับวีอาร์

เนนิน อนันต์บัญชาชัย ประธานฝ่ายออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยี บริษัท เอ็กซ์ซี จำกัด กล่าวว่า เอ็กซ์ซีให้บริการด้านสื่ออินเทอร์แอคทีฟและระบบสมาร์ทออฟฟิศ รวมถึงมีเทคโนโลยีวีอาร์ (VR: Virtual Reality) สำหรับโชว์รูมร้านค้า รวมถึงการออกอีเวนท์ กระทั่งอยากจะสร้างสิ่งที่สามารถมอบประสบการณ์เรียนรู้สมบูรณ์แบบ

บริษัทพัฒนาตัววีอาร์สเฟียร์เมื่อ ธ.ค.2558 ใช้เวลากว่า 14 เดือน โดยทำในไทยกว่า 99% มีเพียงมอเตอร์เท่านั้นที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ตัวต้นแบบใช้งบพัฒนา 5 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ฮาร์ดแวร์ที่มีทั้งแว่นวีอาร์ไร้สาย เก้าอี้ที่ต่างจากเทคโนโลยีวีอาร์ทั่วไปคือ ตัวเก้าอี้ที่อยู่ภายในโดมที่จะมีระบบสั่นและหมุนรอบตัวเอง สามารถก้มเงยได้ 45 องศา และที่สำคัญคือ สามารถควบคุมได้ด้วยตนเอง เลือกได้ว่า จะเดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย ขวา ในขณะที่แว่นวีอาร์ทั่วไปจะกำหนดทิศทางการเล่นมาแล้ว รวมถึงโดมทรงกลมที่นอกจากจะทำให้ผู้เล่นมีความเป็นส่วนตัว ยังทำหน้าที่เป็นหน้าจอ 360 องศา โดยที่ผู้เล่นเหมือนเข้าไปร่วมในเหตุการณ์

ในขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาซอฟต์แวร์สาธิต 1 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องราวการพาผู้เล่นไปท่องโลกไดโนเสาร์ในอดีต ซึ่งเป็นเนื้อหาที่เหมาะกับทุกเพศวัย โดยวีอาร์สเฟียร์จะเป็นเสมือนพาหนะที่พาท่องโลกหรือสำรวจโลก

ปัจจุบันการพัฒนาเครื่องต้นแบบสำเร็จแล้ว และยื่นจดสิทธิบัตรสากล ในขณะเดียวกันเอ็กซ์ซีนำไปออกงานอีเวนท์ต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ พบว่า การตอบรับก็เป็นไปในทางบวก ทั้งเรื่องของความล้ำสมัย และความภูมิใจที่เป็นนวัตกรรมที่คนไทยพัฒนาขึ้น

เปิดตลาด Edutainment

“เรามองว่า วีอาร์ สเฟียร์ มีโอกาสทางการตลาด โดยเฉพาะในส่วนของศูนย์นวัตกรรมหรือพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่จะนำเสนอเรื่องราวที่ซับซ้อน เข้าใจยาก หรือเป็นสาระความรู้ที่เรียบง่าย ให้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ สนุกที่จะมาชม ทำให้มีแผนการที่จะผลิตวีอาร์สเฟียร์ออกสู่ตลาด ซึ่งกลุ่มเป้าหมายนำร่องคือ พิพิธภัณฑ์และศูนย์นวัตกรรมต่างๆ รวมถึงมีบริการเช่าสำหรับการออกอีเวนท์ด้วย”

เนนิน กล่าวอีกว่า จุดเด่นอีกประการของวีอาร์ สฟียร์คือ การออกแบบซอฟต์แวร์ตามที่ลูกค้าต้องการ สร้างเรื่องราวให้เหมาะกับสถานที่หรือเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ ทำให้การทำตลาดของนวัตกรรมนี้แตกต่างในท้องตลาด และปลายปีนี้มีลูกค้าไทย 2 รายที่สั่งซื้อแล้ว คือศูนย์นวัตกรรมและพิพิธภัณฑ์ด้านอวกาศ

ในขณะเดียวกันก็มีลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนแสดงความสนใจเข้ามาคุยรายละเอียด คาดว่าปีหน้าจะมีลูกค้าเพิ่มอีก 5 ราย สร้างรายได้ 8 หลักให้กับเอ็กซ์ซี

ขณะเดียวกันก็เริ่มทำตลาดต่างประเทศในช่วงปลายปีนี้จะนำวีอาร์ สเฟียร์ไปโชว์ในงานด้านเทคโนโลยี DCExpo ที่ประเทศญี่ปุ่น มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นผู้สนับสนุน โดยคาดหวังลูกค้าสิงคโปร์ที่มีพิพิธภัณฑ์แห่งชาติและอุทยานวิทยาศาสตร์ที่มีความเป็นไปได้สำหรับนวัตกรรมนี้ ที่อาจจะซื้อหรือมีบริษัทที่ใช้พื้นที่เหล่านี้ในการจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ ใช้บริการเช่าวีอาร์ สเฟียร์ไปนำเสนอข้อมูลก็เป็นได้

“เราอยากให้ไทยมีนวัตกรรมและองค์ความรู้ของตนเอง พิพิธภัณฑ์ก็ต้องการการนำเสนอสาระความรู้ในมุมที่สนุกสนานและจับต้องได้ เวลาไปงานวันเด็ก ก็ไม่ต้องเจอแต่นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีล้ำสมัยที่นำเข้าจากต่างประเทศมาโชว์ แม้วีอาร์ สเฟียร์จะเดินตามกระแสเทคโนโลยีที่กำลังมา แต่เราไม่ได้หยุดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอื่นๆ เพื่อก้าวนำเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นไป ไม่ให้ตกกระแส” เนนิน กล่าว