ไฟเขียวแก้ไขร่างพ.ร.บ.แพ่งและพาณิชย์หนุนสตาร์ทอัพ

ไฟเขียวแก้ไขร่างพ.ร.บ.แพ่งและพาณิชย์หนุนสตาร์ทอัพ

"ครม." มีมติเห็นชอบแก้ไขร่างพ.ร.บ.แพ่งและพาณิชย์ รวม 4 มาตรา หวังช่วยหนุนสตาร์ทอัพจดทะเบียนในประเทศมากขึ้น

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวม 4 มาตรา ประกอบด้วย การแก้ไขเพิ่มเติมให้บริษัทจำกัดดำเนินการได้ในประเด็นหุ้นกู้แปลงสภาพ การทยอยให้หุ้น สิทธิที่จะซื้อหุ้นในราคาที่กำหนด หรือ ESOP และหุ้นบุริมสิทธิ

โดยการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ประกอบด้วย ให้มีข้อยกเว้นสำหรับบริษัทจำกัด สามารถชี้ชวนให้นักลงทุนซื้อหุ้นได้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ , แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ถือหุ้นสามารถชำระเงินค่าหุ้นโดยหักหนี้กับบริษัทได้ ใน 2 กรณี เช่น กรณีทำตามมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้นและกรณีเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กรณีบริษัทประโครงสร้างหนี้ตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุน

รวมทั้งยังแก้ไขเพิ่มเติมให้บุริมสิทธิในหุ้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้และแปลงหุ้นบุริมสิทธิในหุ้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้และแปลงหุ้นบุริมสิทธิเป็นหุ้นสามัญได้ , แก้ไขเพิ่มเติมให้บริษัทเป็นเจ้าของถือหุ้นตนเองได้ในกรณีซื้อหุ้นคืนตามมติพิเศษของผู้ถือหุ้นในกรณีเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การแก้ไขเพิ่มเติมให้บริษัทเสนอหุ้นให้กับผู้บริหารหรือพนักงานของบริษัทหรือเจ้าหนี้ของบริษัทได้โดยไม่ต้องเสนอให้ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนได้ และการแก้ไขเพิ่มเติมให้มีข้อยกเว้นให้บริษัทจำกัดสามารถออกหุ้นกู้ได้ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อลดอุปสรรค และเพิ่มความสะดวกให้กับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ สตาร์ทอัพ

นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ให้วิสาหกิจดำเนินกิจการได้คล่องตัวและต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักลงทุนในการตัดสินใจเข้ามาร่วมลงทุนกับธุรกิจในประเทศ เนื่องจากเหนว่าที่ผ่านมา มีกลุ่มวิสาหกิจที่มีไอเดียพบอุปสรรค จึงไปจดทะเบียนในตลาดต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์

ขณะเดียวกัน ยังได้แก้ไขพ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ โดยกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษในส่วนของการแปลงหุ้นบุริมสิทธิเป็นหุ้นสามัญ

สำหรับขั้นตอนต่อไปนั้นจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ต่อไป