ศิริกุล เลากัยกุล คนสร้างแบรนด์พอแล้วดี

ศิริกุล เลากัยกุล คนสร้างแบรนด์พอแล้วดี

แค่ไหนถึงจะมีความพอดีสำหรับชีวิต ลองตามอ่านเรื่องนี้

.....................

“เราต้องพอจริงๆ ไม่อย่างนั้น เรามีความสุขไม่ได้ เราต้องเข้าใจด้วยว่า เวลาในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชดำริคำว่า พอ ไม่ได้แปลว่าหยุด เราต้องรู้ว่าจุดพอดีของเราอยู่ตรงไหน”ดร.ศิริกุล เลากัยกุล คนสร้างแบรนด์มืออาชีพ กล่าว โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เธอได้ริเริ่มโครงการ พอแล้วดี The Creator 

เธอเคยเป็นกรรมการผู้จัดการ และครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ Artistree บริษัทในกลุ่มโอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ เคยเขียนเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ของเมืองไทยเรื่องสร้างแบรนด์ และอีกเล่ม สร้างแบรนด์อย่างพอเพียง 

หลังจากเธอทำงานเป็นผู้บริหารรับจ้างมากว่า 20 ปี สร้างแบรนด์ให้บริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย เธอก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า นั่นใช่ชีวิตที่มีความสุขแล้วหรือ จึงลาออกมาตั้งบริษัท แบรนด์บีอิ้ง จำกัด โดยนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแกนหลักในการทำงาน รวมถึงเป็นที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์ และเป็นอาจารย์พิเศษ

เมื่อ10 ปีที่แล้ว ทำไมคุณหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ที่มีความพอเพียง

ปัญหาของโลกเกิดขึ้น เพราะธุรกิจและการตลาด เมื่อธุรกิจสร้างปัญหา เวลาแก้ปัญหา ต้องเป็นรัฐบาลและองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งคงคลี่คลายได้ยาก ถ้าเราจะมาแก้ที่ต้นตอเลย ก็คือ ธุรกิจ เราก็เลยมาทำโครงการพอแล้วดี The Creator ถ้าเราไม่สามารถทำให้นักธุรกิจเข้าใจคำว่าความรับผิดชอบ ทั้งๆ ที่หลายคนพูดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน พูดและทำต่างกันเยอะ

ก่อนที่จะรู้จักคำว่า พอ คุณก็เคยเป็นคนสร้างแบรนด์สร้างเงินให้นักธุรกิจมากมาย ? 

  ก่อนหน้านี้เราก็เป็นลูกจ้างมืออาชีพ เกือบ 20 ปี ตอนนั้นก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะได้เจ้านายที่ดีมาก คนเราถ้าเจอเจ้านายดี ลูกน้องดี แค่นั้นพอแล้ว อยู่ในวิชาชีพนั้นได้ แต่พอมาเป็นผู้บริหารแทบจะไม่ได้ใช้ทักษะที่เราอยากทำเพื่อสร้างแบรนด์ กลายเป็นบริหารคน บริหารตัวเลข ที่ผ่านมากำไรเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ เรารู้สึกเลยว่า ไม่มีคุณภาพชีวิตเลย กลับถึงบ้านแทบไม่อยากพูดกับใคเลย ต้องเอาใจลูกค้า ทำสิ่งที่ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง เพราะบริษัทต้องการยอดบิลลิ่ง

เมื่อรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสมดุล แล้วปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตอย่างไร

ก็เลยมาดูแนวความคิดของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในเรื่องความพอเพียง ซึ่งเมื่อ 20 ปีสนุกกับทฤษฎีที่ฝรั่งสอนเรา เพราะได้นำมาใช้กับงาน เราก็เพลิดเพลินกับแนวคิดตะวันตก จนเมื่อชีวิตไม่สมดุล ก็สนใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แรกๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่เราชอบศึกษาเปรียบเทียบ เป็นเรื่องเป็นราว ก็ได้รู้ว่า สิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสอนพวกเรา ล้วนเป็นทฤษฎีการบริหารจัดการทั้งนั้น ยกตัวอย่าง 1. การรู้จักตน การสร้างแบรนด์ให้ลูกค้า เราต้องทำให้พวกเขารู้จักตัวเองก่อน 2 ความมีเหตุมีผล จะย้ำเสมอว่า งานต้องมีที่มาที่ไปของความคิด 3 เรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน แรกๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจ ก็การบริหารความเสี่ยง เมื่อเราเชื่อมโยงกับความรู้เดิมของเรา เราก็รู้สึกใช่เลย จนได้เขียนหนังสือสร้างแบรนด์อย่างพอเพียง

เมื่อเข้าใจแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น นำมาใช้กับตัวเองอย่างไร

 เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ชีวิตคนเราจะหาจุดสมดุลของตัวเองได้ไหม ตอนยังไม่ลาออกจากงาน ก็กลับไปปรึกษาสามี ซึ่งทำงานธนาคารว่า เรามีลูกสองคนที่ต้องดูแลการศึกษา และดูแลพ่อแม่ยามเจ็บไข้ได้ป่วย และการใช้ชีวิตของเราอีก ถ้าลาออกจากงาน เราต้องหาเงินเท่าไหร่ เขาก็แนะว่า ถ้าเราสร้างงานของตัวเองขึ้นมา และทำน้อยกว่างานที่เคยทำในบริษัทครึ่งหนึ่ง ก็อยู่ได้ ก็เลยลาออกจากงานประจำ เพราะอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเมื่อนำหลักการพอเพียงมาใช้กับชีวิต รู้สึกเลยว่า คนที่กล้าพูดคำว่า พอ อิสรภาพก็จะตามมา และเราไม่ได้มาจากครอบครัวร่ำรวย ไม่ได้มีมรดก พ่อเราเป็นผู้จัดการธนาคารธรรมดาๆ ดิ้นรนทำงานเลี้ยงลูก แม่ก็เป็นแม่บ้าน ไม่ได้เรียนหนังสือ ยายก็ทำขนมขาย เราก็สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเอง

 

ก่อนจะพอ คุณใช้ชีวิตยังไง

 เราก็ยังเป็นคนชอบแต่งตัว แต่เวลาจะซื้อสินค้าแบรนด์เนม เราซื้อเพราะดีไซน์ และชอบซื้อของตอนลดราคา อีกอย่างเราเป็นคนใส่เสื้อผ้ามือสองได้ ถ้าเสื้อผ้าราคาแพงมากๆ เราก็ไม่ซื้อ ต้องมีสติในการจับจ่ายใช้สอย ถ้าเราไม่รู้จักคำว่า พอ คงไม่แบ่งปันให้ใคร เราก็คงทำทุกอย่างใช้เงินเพื่อความสุขส่วนตัว

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว คนส่วนใหญ่รู้จักคุณในฐานะผู้ส่งผ่านเรื่องราวเศรษฐกิจพอเพียงไหม

เมื่อก่อนคนก็รู้จักเราในฐานะคนสร้างแบรนด์ ไม่ได้รู้จักเราในฐานะคนที่มีความเชื่อในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเวลาที่พูดเรื่องแบรนด์เป็นเรื่องของการสร้างความอยาก จนเมื่อ 4-5ปีคนเริ่มรู้จักคำว่า พอแล้วดี ก่อนจะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ คุณต้องช่วยตัวเองให้ได้ก่อน แล้วค่อยช่วยคนอื่น คนเราถ้าบริหารจัดการเวลาได้ เราก็สามารถเอาเวลาการใช้ชีวิตมาช่วยสังคมมากขึ้น

ตั้งบริษัทโดยกำหนดกรอบว่าจะช่วยสร้างแบรนด์ที่มีความพอเพียงอย่างไร

  เปิดมาได้กว่าสิบปี ความพอเพียงเป็นกรอบความคิด เราเน้นแนวคิดว่า ต้องทำให้คนรู้จักพอ แต่พอแค่ไหน ก็อยู่ที่คนๆ นั้น ถ้าคนที่ต้องการที่ปรึกษาที่สร้างความร่ำรวยให้เขามากขึ้น ก็ต้องไปปรึกษาคนอื่น เพราะเราไม่มีทักษะที่จะทำให้ใครรวยขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ แต่ถ้าคนที่อยากสร้างตัวให้มีคุณค่าต่อสังคม ก็ช่วยได้

ซึ่งก่อนหน้านี้เราเป็นลูกจ้างในบริษัท เราเลือกลูกค้าไม่ได้ แต่ตอนนี้เราเลือกได้ เพราะเป้าหมายการทำธุรกิจไม่ใช่รวยคนเดียว เรามีเป้าหมายช่วยทำให้ธุรกิจมั่นคง เพื่อจะได้มีกำลังเกื้อกูลคนอื่น เราบอกเลยว่า ถ้าไม่ได้มีระบบความเชื่อเหมือนกัน ทำงานด้วยกันไม่ได้

เป็นชีวิตที่เลือกได้ ?

 ทำให้เรามีความสุข เราต้องเอาเรื่องที่เราสนใจเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับชีวิตเราก่อน ทำไปปรับไป พอเราใช้แนวคิดแบบนี้ ทำให้เรามีชีวิตที่สมดุลมากขึ้น เราจะรู้ว่า คุณค่าของเราอยู่ตรงไหน เรารู้เพราะเราลงมือทำ อย่างโครงการพอแล้วดี ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของน้องๆที่เข้าร่วมโครงการ

นักธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจแนวคิดแบบนี้หรือ 

 นักธุรกิจเข้าใจเรื่องนี้น้อยมาก คิดว่า การทำธุรกิจแปลว่าต้องแสวงหากำไรสูงสุด ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีใครลงทุนด้วย แต่สมัยนี้คนตระหนักว่า โลกมีปัญหา ไม่ควรอยู่เฉยๆ เมื่อทำธุรกิจแล้ว ก็ทำเพื่อสังคมด้วย

หลังจากทำโครงการพอแล้วดีกับคนรุ่นใหม่ คุณเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

เราทำโครงการนี้มาสองปี เราเอาแนวคิดของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตคน เราเชื่อว่า พระองค์ท่านเป็นนักปฏิบัติ ซึ่งโครงการนี้เป็นงานอาสา สนับสนุนจากมูลนิธิมั่นพัฒนา จากที่อบรมให้รุ่นที่ 1 เราได้เห็นว่า คนเหล่านั้นเจอตัวเองมากขึ้น เขารู้ว่า จุดที่จะพออยู่ตรงไหน

คนฟากหนึ่งบอกว่า เป็นสตาร์ทอัพต้องรวยเร็ว ส่วนอีกฟากต้องพอเพียง ซึ่งคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง ก็เชื่อว่า ไม่ต้องเรียนหนังสือมาก ทำมาหากินเลยดีกว่า เรื่องการศึกษาไม่สำคัญ ถ้าหาช่องทางรวยได้ทำไปก่อน

เป็นเหตุผลที่ทำให้คุณมาทำเรื่องพอแล้วดี ให้เป็นรูปธรรม ?

ทุกคนมองแต่ทางร่ำรวยของตัวเอง จะทำยังไงให้รวยเร็วที่สุด ถ้าเป็นอย่างนั้นช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คงมากขึ้นเรื่อยๆ เราไม่ได้คิดเรื่องเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เราทำเท่าที่เราทำได้ เหมือนที่พระองค์ท่าน ทรงสอนว่า “เคี้ยวทีละคำ ทำทีละน้อย “ เราเป็นคนทำเรื่องแบรนด์ ก็เอาทักษะนั้นมาทำเพื่อสังคม เราไม่ทำอะไรเกินความสามารถ ทำกับคนกลุ่มเล็กๆ

เรามีกระบวนการคัดเลือกคน เราจะรู้ว่า คนไหนตัวจริงหรือตัวปลอม อย่างบางคนบอกว่า ทำอย่างพอเพียง สร้างรีสอร์ทที่อยู่ในธรรมชาติ อาจไม่ใช่คนรู้จักพอ แต่รักธรรมชาติ แค่ทำมาหากินกับธรรมชาติ บางทีอาจไม่ได้คิดเรื่องการทำธุรกิจที่เกื้อกูลแบ่งปัน เรื่องบางเรื่องใกล้กันมาก

ประมาณว่า เกาะกระแส สร้างความโด่งดัง ?

 ถ้าคิดถึงแต่ตัวเอง ไม่เกื้อกูลให้ใคร ไม่ใช่แล้ว สิ่งสำคัญคือ ต้องตั้งหลักในชีวิตให้ได้ก่อน

ยกตัวอย่างสักนิด ?

 คนที่เราเลือกมา เขาต้องพึ่งพิงตนเองได้ระดับหนึ่ง อย่างน้องคนหนึ่ง เคยทำงานเอเจนซี่ ทำงานหนักจนป่วยเป็นเบาหวาน เขาพอแล้วกับชีวิตแบบนั้น กลับมาบ้านเกิดที่จันทบุรี มาทำธุรกิจร้านอาหารของครอบครัว โดยไม่ได้คิดว่าจะขยายสาขาเป็นสิบๆ แห่ง แต่คิดว่า ทำสาขาเดียวให้ดี ไม่ได้คิดว่าต้องปลูกผักเอง แต่ซื้อผักจากชุมชนที่ปลูกผักปลอดสารพิษ เขาก็สอนชุมชนปลูกผัก มีเครือข่ายทำธุรกิจเกื้อกูลกัน เราก็ช่วยแนะนำเรื่องการวางระบบ เพราะคนพวกนี้มีความคิดเรื่องพอเพียงอยู่แล้ว

พวกเขาแบ่งปันเรื่องราวให้คนอ่านผ่านเฟซบุ๊ค น้องอีกคนที่ร่วมโครงการด้วย เคยทำงานโปรดักชั่นเฮ้าส์ ลาออกเพราะเหนื่อยกับอาชีพนี้แล้ว ก็เลยไปทำโฮสเทลที่ลำพูน

เธอเล่าให้ฟังว่า ตอนที่กลับจากร่วมโครงการนี้ เจอน้องคนหนึ่งถือกระเป๋า เดินทางมานั่งรออยู่หน้าโฮสเทล เพิ่งออกจากงาน น้องคนนั้นาได้อ่านเรื่องราวในเฟซบุ๊ค และเชื่อว่า เขาจะมีแนวทางเปลี่ยนชีวิตได้ เขาได้แรงบันดาลใจ นี่คือ ความสำเร็จของ Creatorคือ พวกเขาเป็นต้นแบบของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งวันนี้คุณไม่จำเป็น ต้องลุกขึ้นมาเป็นเน็ตไอดอลบ้าบอ แต่เป็นไอดอลของการเปลี่ยนแปลงว่า ถ้าคนเราทำอะไรตามศักยภาพ ทำให้พอดี ทำอย่างรู้จักตัวเอง มีกรอบความคิด รู้จักแบ่งปัน ทุกคนจะเจอคำว่า คุณค่าก่อนมูลค่า

แค่ไหนถึงเรียกว่า“พอ”

 คนชอบถามเราว่า แค่ไหนถึงจะพอ เหมือนเวลาคุณหิวน้ำ คุณจะดื่มแค่ไหน เราต้องรู้ตัวเอง เรามีกรอบความคิดให้ ที่เหลือต้องคิดเอง

คำสอนในหลวง รัชกาลที่ 9 เรื่องใดที่คุณนำมาใช้กับชีวิต

 70 ปีของการครองราชย์ เวลาพระองค์ทรงงานจะมีแต่คำว่า พสกนิกร มีสองเรื่องที่เราได้จากพระองค์ท่านคือ เรื่องความพอเพียง และความพากเพียร เวลาเราคิดจะเปลี่ยนชีวิต หรือเปลี่ยนสังคม ปลายทางเราไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง แต่ถ้าเราเชื่อว่ามันดี เหมือนพระมหาชนกที่ว่ายน้ำข้ามฝั่ง ต้องพากเพียรว่ายไป เหมือนการดำรงอยู่ของคน ถ้าเราพากเพียร เราเอาชนะได้ พระองค์ท่านทรงสอนให้พึ่งพิงตนเองก่อน ถ้าช่วยตัวเองได้แล้ว ค่่อยลุกขึ้นมาช่วยคนอื่น พระองค์ท่านทรงสอนให้เรามีกรอบความคิดที่มีสติ การตัดสินที่จะทำอะไรที่มีความเสี่ยง เราต้องมีสติ

คาดหวังกับโครงการพอแล้วดีแค่ไหน

ไม่ได้คาดหวังอะไร ไม่ได้คิดว่าเป็นผลงานของเรา และไม่ได้พูดให้ดูดี ถ้าเปรียบเทียบกับสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำ เราเป็นแค่ธุลีดิน กว่าเราจะเจอจุดที่พอแล้วดี ก็อายุ 40 กว่าๆ ถ้าน้องๆ อายุ 20 กว่าได้นำแนวคิดนี้ไปใช้ เขาก็จะมีรากฐานการเติบโตที่ดี น้องๆ ที่เข้าโครงการพอแล้วดี เป็นผลของคำสอนในหลวง รัชกาลที่ 9 นำแนวคิดไปใช้ และตัวเราเอง ก็ได้คิดว่า ตอนนี้ไม่ใช่วาระในการสร้างงานสร้างเงิน แต่เป็นการสร้างคน

คนพอเพียงยังมีอยู่ในประเทศนี้น้อยไปไหม

แล้วคุณคิดว่า มีเยอะไหม เราก็ค่อยๆ ทำกันไป