เรื่อง“ผิดผี”กับชีวิตสาวม้ง(1)

เรื่อง“ผิดผี”กับชีวิตสาวม้ง(1)

ประเพณีและเรื่องราวชุมชนชาวม้ง ยังผูกโยงกับเรื่องวัฒนธรรม

................

ในวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ศาสนาผี การนับถือผี (Animism) คือแกนหลักในการหล่อหลอมจารีต ประเพณี ความเชื่อในทุกมิติของชีวิต ก่อนการเปิดรับศาสนาหลักๆในโลกทั้งพุทธ คริสต์ ฮินดู อิสลาม ชนพื้นเมืองในไทย จนแม้กระทั่งชาวบ้าน-ชาวเมืองในแผ่นดินไทย 

ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ เทพเทวดา ผีดูแลธรรมชาติ ท้องที่ท้องถิ่น พืชพันธุ์ ธัญญาหาร ในนามเจ้าพ่อ เจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าที่ นานาสารพัดเจ้าถิ่นเขตแดนต่างๆ ยังคงฝังลึกอยู่ในทุกแห่งหน 

มีตั้งแต่ใจกลางกรุงเทพฯอย่างเยาวราชที่เต็มไปด้วยศาลเจ้า และไหว้บูชาบรรพบุรุษทุกบ้านทุกตรุษจีน ทุกหมู่บ้านมีศาลเจ้าที่ ศาลพระภูมิ นานาสารพัดฯ แต่ศาสนาผีของคนไทยพื้นที่ราบ ไม่ได้ปักตรึงฝังแน่นอยู่ในวัฒนธรรมนัก เพราะการมีพุทธศาสนาเข้ามาเป็นแกนหลัก และการรับวัฒนธรรมตะวันตก วัฒนธรรมในโลกทุนนิยมสมัยใหม่ ทำให้ทั้งผีทั้งพุทธของไทยปรับเปลี่ยน กลมกลืน สามารถนำไปใช้ในการขอหวย ขอหุ้น ขอให้รวยๆ ๆๆ กันโดยถ้วนทั่ว มามากกว่า 150 ปีเข้าไปแล้ว

หากในพื้นที่สูง ตั้งแต่ดิฉันเห็นด้วยสองตาเมื่อเดินทางเข้าไปเก็บเมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมืองในหมู่บ้านชายแดนไทยภาคเหนือประมาณปีพ.ศ.2532 จนถึงปัจจุบัน ดิฉันพบว่า ชนชาวเขาบ้านเรายังมีความเชื่อเรื่องผี ศาสนาผี แข็งแกร่งเป็นจารีตหลักของชุมชนอยู่ทุกเผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะชุมชนชาวม้งยังมีความเชื่อเรื่องผี, การผิดผี อย่างแน่นหนัก ที่ครั้งอดีต ความเชื่อเรื่องผีอันก่อร่างสร้างประเพณีวัฒนธรรมขึ้นมา เคยสอดคล้องกลมกลืนกับวิถีคนม้ง จารีตเรื่องผีไม่ได้สร้างปัญหารุนแรงให้กับคนม้ง 

หากปัจจุบันสังคมโลกเปลี่ยนไปมาก คนม้งก็อยู่ในแรงเชี่ยวกรากของการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน ครั้นเมื่อผี, จารีตบนพื้นฐานความเชื่อเรื่องผีที่สืบเนื่องมาจากวันวาน ไม่อาจสอดคล้องกับสภาพของโลกทุกวันนี้ได้แล้ว ชุมชนชาวม้งจะเผชิญกับปัญหาที่เหมือนไม่มีทางออก, เขาจะเลือก “ผิดผี” เพื่อออกจากปัญหา, หรือทน ทน ทน ตกจมอยู่ในหลุมมืดของปัญหา ต่อไปล่ะหรือ อย่างไร?

ดิฉันจึงยินดียิ่งเมื่อน้องสาวที่รัก กี้-จารุปภา วะสี ซึ่งทำงานอยู่กับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ สมาคมเพศวิถีศึกษา ได้ติดต่อมา ชวนดิฉันให้เข้าไปดูและศึกษาถึงการหาทางออกของคนม้ง ที่เผชิญปัญหาแรงเหวี่ยงกระทบรุนแรงจากการที่จารีตสังคมเดิมไม่สอดคล้องกับชีวิตในสังคมสมัยนี้ และไม่อาจช่วยให้ชีวิตคนม้งมีความสงบสุนทร แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา กลับไปสร้างภาวะหนักหน่วงแสนสาหัสให้ผู้หญิงม้ง จนต้องจบชีวิตหนีปัญหาไปเป็นจำนวนมาก สภาพบีบคั้นเช่นนี้ผู้ใหญ่ชาวม้งจะรับมือ-แก้ไขด้วยหนทางใด?

สำหรับคนม้งในไทย ดิฉันเคยตรวจสอบข้อมูลมาบ้าง พบว่าชนชาติเผ่าพันธุ์นี้เข้ามาในแผ่นดินสยามยาวนานร่วม 200 ปีแล้ว พวกเขาอยู่ในเขตภูเขาพื้นที่สูงบริเวณ จ.เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก แพร่ น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย กำแพงเพชร สุโขทัย ชนชาติม้งเดินทางอพยพลงมาจากเขตภูเขาแผ่นดินจีนตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เนื่องจากความไม่สงบทางการเมือง, ขัดแย้งเรื่องพื้นที่ทำมาหากินกับคนจีน, กับลักษณะวิถีเกษตรกรรมทำไร่เลื่อนลอย ต้องเปลี่ยนที่เพาะปลูกพืชผักพันธุ์ข้าวไร่ ถั่ว งา พริก ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ฟักแฟง แตงน้ำเต้าไปเรื่อยๆ เมื่อแผ่นดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ชาวม้งจะเดินทางลงใต้ เข้ามาในไทย ลาว พม่า เวียดนาม และยังอพยพลงมาตลอด 

กระทั่งประมาณ 40-50 ปีที่ผ่านมา ก่อนสงครามคอมมิวนิสต์ในพื้นที่อุษาคเนย์จะยุติ ชนชาติม้ง ในเขตจีน พม่า ไทย ลาว เวียดนาม ก็ยังมีการเดินทางข้ามพรมแดนภูเขาไปมาหาสู่ระหว่างกันอยู่เสมอ จนปัจจุบันชนชาติม้งที่มีทั้งหมด 18 แซ่ตระกูลในโลก (ในไทยมีอยู่ 15 แซ่ตระกูล) ก็ยังมีการติดต่อใกล้ชิด นับถือผีประจำแซ่ตระกูลของตนอย่างเหนียวแน่น

วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนม้งที่มีการอพยพลงมาจากแผ่นดินจีนและเดินทางลงใต้ไปเรื่อยๆ, การบุกเบิกแผ้วถางป่าเขตพื้นที่สูงและภูเขาเพื่อทำไร่นา ซึ่งการทำไร่ในเขตภูเขานี้เพียงไม่เกิน 10 ปี แผ่นดินไร่นาก็จะถูกฝนชะ น้ำหลากให้หน้าดินพังทลาย จนหมดความสมบูรณ์ไม่อาจทำเกษตรกรรมต่อไปได้ 

สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมวัฒนธรรมม้ง ให้มีจารีตแข็งแกร่งในการสร้างครอบครัวม้งอันเป็นสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ให้มีลักษณะเฉพาะต่างจากชาวเขาเผ่าอื่นๆ เพราะเมื่อมีการเดินทางอพยพกันอยู่ตลอดเช่นนั้น ก็เป็นเหตุผลหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้สถานภาพของผู้หญิงจำเป็นต้อง “หลุด” ออกจากครอบครัวเดิมโดยสิ้นเชิง 

ลูกสาวม้ง เมื่อแต่งงานออกจากครอบครัวของตนไปมีครอบครัวใหม่แล้ว จึงถือว่า จบสิ้นตัดขาด มีการทำพิธีตัดผีจากครอบครัวเดิม ต้องไปนับถือผีของฝ่ายสามี เป็นสมบัติของสามีกับครอบครัวสามีโดยเด็ดขาด ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับครอบครัวพ่อแม่ที่ให้กำเนิดพวกเธอมา ไม่สามารถกลับมาร่วมผีบรรพบุรุษของพ่อแม่ได้อีกต่อไป แต่จะอยู่ภายใต้การคุ้มครองของผีบรรพบุรุษฝ่ายชาย พวกเธอต้องร่อนเร่เดินทางไปกับสามีและครอบครัวของสามี 

ดังนั้นหากผู้หญิงม้งประสบปัญหา ไม่ว่าจะโดนผัวซ้อม ผัวตาย ถูกญาติๆของครอบครัวผัวทำร้าย ผู้หญิงเหล่านั้นก็จะต้องอดทนทรมานอยู่ในหลุมมืดของปัญหา ไม่มีทางไป เนื่องด้วยพวกเธอผ่านการ “ตัดผี” ไปเป็นสมบัติของสามีแล้ว 

หากพวกเธอจำเป็นต้องกลับมาอยู่อาศัยในเรือนของครอบครัวพ่อแม่ตน จะถูกมองว่าเป็นเรื่อง “ผิดผี” และหญิงที่ตัดผีไปแล้วนี้จะถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมพิธีกรรมต่างๆของครอบครัวพ่อแม่ ไม่อนุญาตให้พวกเธอมาเจ็บป่วยหรือตายอยู่ในบ้าน เพราะสำหรับครอบครัวม้ง ลูกสาวจะเปรียบเสมือนน้ำในขันที่สาดทิ้งออกไปแล้ว ไม่สามารถคืนกลับมาได้

จารีตเช่นนี้ เคยถูกตอกเสาเข็มเป็นหลักแข็งแกร่งอยู่กับวิถีคนม้งในอดีตสืบเนื่องกันมาหลายร้อยปี ซึ่งก่อนหน้านี้ จารีตการ “ตัดผี” สำหรับผู้หญิงม้ง ยังพอเป็นเรื่องสอดคล้องกลมกลืนกับวิถีในวันวาน ครั้งซึ่งคนม้งยังร่อนเร่อพยพหนีสงคราม หรือต้องไปเปิดหน้าดินทำไร่ใหม่ๆ เปลี่ยนที่อยู่ไปตามเขตพื้นที่ต่างๆ หากปัจจุบัน กลุ่มคนม้งในทุกพื้นที่ ได้ตั้งหลักแหล่งชุมชนหมู่บ้าน อยู่อย่างถาวรทำเกษตรกรรมบนแผ่นดินที่รัฐบาลไทยจัดสรรให้ สภาพชีวิตอันเปลี่ยนไปทำให้คนม้งไม่ต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน พ่อแม่ยังเห็นลูกสาวตน สุข ทุกข์อยู่ในชีวิตครอบครัวสามี ได้รับรู้ชัดแจ้งอยู่เต็มสองตา 

และในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ปัญหาใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีตก็ได้รุมกระหน่ำผู้หญิงม้งให้เป็นหม้าย “ก่อนวัยอันควร” อย่างหนักหนาสาหัส โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับคดียาเสพติด ไม่ว่าจะเพราะสามีติดคุกจากการค้ายาบ้า, ถูกฆ่าตัดตอนไปจำนวนมาก และปัญหาเศรษฐกิจความตึงเครียดที่ผู้หญิงม้งต้องถูกผัวซ้อมอย่างยับเยิน ถูกทารุณอย่างหนัก,หรือถูกผัวทิ้งไม่ไยดีเมื่อได้เมียใหม่,หรือกระทั่งผู้หญิงที่ตั้งท้องโดยไม่ได้แต่งงาน หญิงม้งที่มีสภาพชีวิตเช่นนี้จะกลายเป็นคนไม่มีตระกูลแซ่ ไม่มีผีบรรพบุรุษคุ้มครอง ไม่มีพื้นที่ทางสังคม วัฒนธรรม และจิตวิญญาณ อันส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั้งตัวเธอและลูกๆของพวกเธอ ที่หอบหิ้วกันมาจากการหย่าร้าง เป็นหม้าย หรือถูกทอดทิ้งนั้นด้วย

สภาพหนักอึ้งสาหัสที่ผู้หญิงม้งเผชิญอยู่โดยถ้วนทั่วในโลกยุคนี้ ได้ทำให้จารีต “ตัดผี”สำหรับผู้หญิงม้งที่ท้องไม่มีพ่อ เป็นหม้าย หรือแต่งงานแล้วเผชิญความรุนแรง ยิ่งกลับกลายเป็นปัญหาหนักอึ้งบีบคั้นผู้หญิง บีบคั้นหัวใจพ่อแม่ชาวม้ง ให้ต้องทนดูลูกสาวและหลานๆ ทุกข์ทรมานเมื่อประสบภาวะมืดแปดด้าน “ไม่มีทางไป” เพราะลูกสาวจะกลับบ้านเดิมก็ไม่ได้ พ่อแม่จะเปิดประตูรับลูกสาวที่ประสบปัญหาของตนกลับคืนมาก็ไม่ได้ หรือกระทั่งแม่ของตนไปมีสามีใหม่แล้วเป็นหม้าย ลูกชายก็ไม่อาจรับแม่กลับบ้านมาดูแลได้ เพราะจารีตม้งเชื่อสืบต่อมาว่า การรับผู้หญิงที่ “ตัดผี” กลับเข้าบ้านเก่าของตน จะทำให้ซวย โชคร้าย บรรลัยฉิบหายไปหมดทั้งบ้าน

เมื่อชีวิตครอบครัวล้มเหลว ผู้หญิงม้ง “ไม่มีทางไป” จำนวนมากจึงกลายเป็นคนไม่มีบ้าน กลับบ้านเดิมไม่ได้ ต้องไปตายเอาดาบหน้า ร่อนเร่ ปากกัดตีนถีบทำงานเลี้ยงตัวเองเลี้ยงลูกอยู่ในเมืองใหญ่ นั่งปักผ้าขายอยู่ในไนท์บาซ่าที่เชียงใหม่ มีจำนวนมากเข้าสู่อาชีพในเงามืดตามสถานบริการทางเพศ 

และอีกมากต่อมากที่หนีปัญหาบีบคั้นมืดมนนี้ด้วยการตัดสินใจ “ฆ่าตัวตาย”

...................

ตีพิมพ์ในจุดประกาย คอลัมต์โลกในมือคุณ วันพฤ 12 ตค.2560