ไทยมีนักโทษประหาร447ราย ย้ำคนจนถูกประหาร เหตุไม่มีเงินสู้คดี

ไทยมีนักโทษประหาร447ราย ย้ำคนจนถูกประหาร เหตุไม่มีเงินสู้คดี

วันต่อต้านการประหารชีวิตโลก! ชี้ไทยมีนักโทษประหาร447ราย ย้ำส่วนใหญ่เป็นคนจนถูกประหาร เหตุไม่มีเงินจ้างทนายดีๆ สู้คดี แนะโทษประหารไม่ช่วยยับยั้งอาชญากรรม

ที่โรงแรมบลิสตัน 17 ต.ค. 60 - น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และนายโคลิน สไตน์บัค หัวหน้าฝ่ายการเมืองและข้อมูลข่าวสาร คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านการประหารชีวิตโลกประจำปี 2560 โดยจัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาแนวทางเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตในประเทศไทย

น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวว่า วันที่10 ต.ค. ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันต่อต้านการประหารชีวิตโลก เพื่อให้ทั่วโลกหันมาตะหนักว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต ซึ่งถือว่าขัดหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่ และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน นักโทษประหารส่วนใหญ่เป็นคนจนด้อยโอกาส จึงไม่มีเงินจ้างทนายที่มีฝีมือมาแก้ต่างคดีให้กับตนเอง ขณะที่ระบบยุติธรรมทางอาญามีความเสี่ยงที่จะเกิดการเลือกปฏิบัติ และไม่มีระบบใดที่จะสามารถตัดสินได้ อย่างถูกต้องและเป็นธรรมในทุกคดี ดังนั้นจึงอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ หากตัดสินประหารไปแล้วย่อมไม่สามารถหาชีวิตมาทดแทนได้ นอกจากนี้การประหารชีวิตไม่ได้เป็นแนวทางที่จะยับยั้งอาชญากรรมได้จริง และไม่ช่วยทำให้คนเกรงกลัวไม่กล้าที่จะกระทำผิดได้จริง เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานยืนยันได้อย่างขัดเจนว่า การลงโทษด้วยการประหารชีวิตจะสามารถลดสถิติการเกิดอาชญากรรมในสังคมได้

อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าวอีกว่า ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า การยุติโทษประหารชีวิตไม่ใช่การยกเลิก หรือสนับสนุนให้ผู้กระทำผิดให้ไม่ต้องได้รับโทษ แต่เป็นการยุติการลงโทษที่ไม่คุ้มค่า ไม่สมเหตุสมผล อีกทั้งยังเป็นการลดความเสี่ยงที่โทษประหารจะถูกนำไปใช้กับผู้บริสุทธิ์ แต่ต้องยอมรับว่าหลายฝ่ายยังมีความคิดว่าโทษประหารยังคงต้องมีไว้สำหรับอาชญากรรมร้ายแรง เมื่อมีคดีสะเทือนขวัญเกิดขึ้น จะมีกระแสเรียกร้องให้ประหารชีวิตผู้กระทำผิด ขณะที่กฎหมายอาญาของไทย 63 ฐานความผิด กำหนดให้มีโทษประหารชีวิต ในภูมิภาคอาเซียน กัมพูชากับฟิลิปินส์ยกเลิกโทษประหารไปแล้ว โดยฟิลิปินส์มีแนวโน้มอาจนำโทษประหารชีวิตกลับมา สำหรับไทยมีโทษประหารชีวิตตั้งแต่ปี 2478 มีผู้ถูกลงโทษประหารชีวิตจำนวน 325 ราย ที่ผ่านมาโทษประหารได้รับการแก้ไขจากการยิงเป้ามาเป็นฉีดสารพิษ ตั้งแต่เดือนส.ค.2552 ไทยไม่มีการลงโทษประหารชีวิต ในอีก 2 ปีข้างหน้า หากไม่มีการลงโทษประหารชีวิต เท่ากับว่าไทยไม่มีการประหารชีวิตครบ 10 ปี จะถือเป็นประเทศที่ไม่มีโทษประหารในทางปฏิบัติ ปัจจุบันสถิตินักโทษประหารมีจำนวน 447 ราย เป็นนักโทษประหารที่คดีเด็ดขาดแล้ว 157 ราย แบ่งเป็นคดียาเสพติด 68 ราย และคดีทั่วไป 89 ราย

น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลไทยมีท่าทีชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงโทษประหาร โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ให้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต เริ่มต้นจากการปรับอัตราโทษประหารของคดีที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว เป็นประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตเพื่อให้ผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลพินิจได้ ในระยะต่อไปจะศึกษาความเป็นไปได้ในการยกเลิกโทษประหารในความผิดบางประเภทที่ไม่ได้สัดส่วน หรือเป็นคดีที่ไม่กระทบต่อชีวิตของผู้อื่น ทั้งนี้การดำเนินการใดๆเกี่ยวกับโทษประหารยังต้องใช้เวลารับฟังความคิดเห็นอย่างรอบคอบ

ด้านนายโคลิน กล่าวว่า สหภาพยุโรปหรืออียูต่อต้านการประหารชีวิต โดยการยกเลิกโทษประหารถูกกำหนดเป็นนโยบายในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู เพราะไม่มีข้อมูลทางวิชาการหรือสถิติใดชี้ให้เห็นว่าโทษประหารสามารถยับยั้งอาชญากรรมได้. ที่ผ่านมาถือว่าทั่วโลกมีพัฒนาการที่ดี ในปี 2016 ประเทศที่ยังมีการลงโทษประหารมีเพียง 57 ประเทศ ส่วนอีก 141 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารไปแล้ว ในส่วนของประเทศไทยได้มีการกำหนดแผนมนุษยชนเพื่อเปลี่ยนแปลงโทษประหารแล้วเช่นกัน

นายวิลเลียม ฌาบาส กล่าวว่า ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 6 ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ให้ใช้ชั่วคราวกับอาชญกรรมที่รุนแรงเท่านั้น ซึ่งบางประเทศเข้าใจไม่ถ่องแท้และตีความไปเองว่าสามารถใช้โทษประหารได้ ในส่วนของไทยมีความพยายามยกเลิกโทษประหาร และในทางปฏิบัติไทยไม่ได้บังคับใช้โทษประหารหลายปีแล้ว โดยแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือภายใน 10-15 ปี ไทยคงเข้าร่วมกับประเทศอื่นเพื่อเปลี่ยนแปลงและยกเลิกโทษประหาร สำหรับตุรกีและฟิลิปินส์ที่กำลังพิจารณาอย่างจริงจังในการนำโทษประหารกลับมาใช้อีกครั้งนั้น เชื่อว่าสถิติประหารชีวิต 10 คนต่อวัน ที่ผู้นำฟิลิปินส์กล่าวไม่ใช่ตัวอย่างที่ดี ซึ่งนานาประเทศจะต้องออกคำเตือนไปยังทั้ง 2 ประเทศ ว่าไม่สามารถยกเลิกพันธะกรณีในระดับสากลได้ ในส่วนของข้อยกเว้นให้ประหารชีวิตกับอาชญากรรมรุนแรงที่สุดควรเป็นมาตรฐานสากล ไม่ใช่อาชญากรรมรุนแรงที่แต่ละประเทศกำหนดขึ้นเอง มิเช่นนั้นแต่ละประเทศอาจกำหนดให้อาชญากรรมรุนแรงที่สุดเป็นการร่วมเพศที่ไม่พึงประสงค์ หรือการหมิ่นศาสนา หรือความผิดในคดีทุจริต. อาชญากรรมรุนแรงซึ่งที่สุดควรมีคำจำกัดความให้อาชญากรรมที่รุนแรงเป็นความผิดการพรากชีวิตผู้อื่น

นายวิลเลียม กล่าวอีกว่า สำหรับคดียาเสพติดซึ่งไทยกำหนดให้มีโทษประหารชีวิต จนถึงขณะนี้ยังไม่มีฉันทามติในสากลให้คดียาเสพติดเป็นอาชญากรรมต่อชีวิต หลายประเทศมีแนวโน้มจะยกเลิกความผิดอาญาในคดียาเสพติดด้วย เพราะไม่ได้มีผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง หากจะเปรียบเทียบแล้วความผิดด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนจำนวนมาก และเป็นผลกระทบโดยตรงแต่กลับไม่มีใครเสนอให้ลงโทษประหารชีวิตในคดีสิ่งแวดล้อม ประเด็นสำคัญคือต้องไม่สับสนระหว่างความจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายกับการลงโทษที่รุนแรง มั่นใจว่าไทยจะเดินหน้าสู่การยกเลิกโทษประหาร ลดคชวามผิดที่มีโทษประหารชีวิต ไม่ใช่เพิ่มฐานความผิดที่มีบทลงโทษประหารชีวิต

“ฆาตกรรมไม่ใช่อาชญากรรมที่เกิดซ้ำ เพราะกว่าผู้กระทำผิดจะพ้นโทษจะออกจากคุกก็อยู่ในวัยสูงอายุแล้ว ส่วนคดียาเสพติดมีโอกาสทำผิดซ้ำแต่การทำซ้ำไม่ใช่เหตุให้ประหารชีวิต เพราะมิเช่นนั้นก็ต้องลงโทษประหารกับโจรที่ลักเล็กขโมยน้อยด้วย ขณะที่โทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีบทบรรเทาโทษ ยังเพิ่มภาระในการเลี้ยงดูของรัฐ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆในการติดตามควบคุมดูแลนักโทษ เช่น การฝังชิพในตัวนักโทษ. นอกจากนี้การเพิ่มงบประมาณให้หน่วยบังคับใช้กฎหมายเพื่อใช้ในงานดูแลและป้องกันความปลอดภัย จะช่วยยับยั้งอาชญากรรมได้ดีกว่าการมีบทลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกระยะยาวที่ไม่ได้ช่วยข่มขู่อาชญากรไม่ให้ก่อเหตุ” นายวิลเลียมกล่าว