เทคโนโลยีเปลี่ยนภูมิทัศน์ท่องเที่ยวไทย

เทคโนโลยีเปลี่ยนภูมิทัศน์ท่องเที่ยวไทย

ทุกการจัดอันดับเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมระดับโลก จังหวัดหลักของไทย มักปรากฎชื่อในตำแหน่งต้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ จาก 3.4 ล้านคนในปี 2530 มาสู่ 35 ล้านคน ตามการคาดการณ์สำหรับปีนี้

ท่ามกลางการเติบโตในช่วง 3 ทศวรรษ มีการเปลี่ยนแปลงในกระแสหลักของการท่องเที่ยวที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะเทรนด์ในเชิง “พฤติกรรม” ของนักท่องเที่ยวที่มี “เทคโนโลยีสื่อสาร” มาเป็นตัวแปรที่เข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์ของตลาดท่องเที่ยวไทยให้พลิกโฉมอย่างสิ้นเชิงและยังมีผลต่ออนาคตอันใกล้ที่จะเกิดขึ้น

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า หากแบ่งภาคการเปลี่ยนแปลงของการท่องเที่ยวไทย จะพบพลวัตรเปลี่ยนแปลงตลอด แต่การเปลี่ยนแปลงในรอบ 30 หรือ 20 ปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่รวดเร็วเท่ากับ 10 ปีหลังสุด ซึ่งเทคโนโลยีการสื่อสารมีผลต่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การค้นหาข้อมูลที่ทำได้ฉับไวรวดเร็วขึ้น ส่งผลต่อระยะการ “วางแผนล่วงหน้า” ที่เคยเฉลี่ยที่ 60 วันก่อนการเดินทางเป็นอย่างต่ำ ก็เปลี่ยนเป็นใกล้วันเดินทางแบบ “นาทีสุดท้าย” หรือ Last Minute Booking จนกลายเป็นเทรนด์หลักของนักเดินทางยุคปัจจุบัน

ผู้ประกอบการท่องเที่ยว จึงต้องปรับตัวด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงนักท่องเที่ยวมากขึ้น และทำให้การแข่งขันสูงไปด้วย เมื่อสังคมข่าวสารกลายเป็นที่พึ่งพาของตลาดในการตัดสินใจเลือกจุดหมาย หรือบริการระหว่างการเดินทาง

ประเด็นสำคัญที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือ รูปแบบการเดินทาง ที่เปลี่ยนผ่านจากยุคของกรุ๊ปทัวร์มาสู่การเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) มากขึ้น พิจารณาจากฐานตลาดต่างประเทศที่มาไทยในปัจจุบัน เป็นกลุ่ม FIT ไม่น้อยกว่า 65% แล้ว เพราะสามารถหาข้อมูลประกอบการเดินทางเองได้มากขึ้น เพราะผู้ให้บริการหันมาจับตลาดช่องทางนี้เต็มที่

ในมุมของภาคธุรกิจก็เช่นกัน การติดต่อธุรกิจผ่านการเข้าร่วมเทรดโชว์ ที่ต้องพบปะเห็นหน้าระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย การต้องนั่งเครื่องบินเพื่อไปเจรจาธุรกิจที่มีต้นทุนสูงกว่านั้น เริ่มลดบทบาทความสำคัญลง แต่การซื้อ-ขายผ่าน ออนไลน์ ทราเวล เอเยนต์ (โอทีเอ) กลับขยายฐานตลาดอย่างรวดเร็วมากขึ้น

ขณะที่ระดับมหภาค หรือระดับรัฐบาลของแต่ละประเทศ ยิ่งเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน เมื่อทุกประเทศต่างตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการผลักดัน “ธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว” มาแข่งขันสร้างรายได้ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับประเทศ มีภารกิจขยายตลาดท่องเที่ยว โดยถูกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินได้รวดเร็วที่สุด รวมถึง “ไทย” ที่ผ่านบทพิสูจน์หลายครั้งว่า แม้จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ก็กลับมา “ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว” และพยุงเศรษฐกิจของประเทศในภาวะวิกฤตหลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาคธุรกิจของไทยส่วนใหญ่จะปรับตัวได้ดี วัดได้จากการเติบโตในเชิงรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าปีนี้จะรวมอยู่ที่ 2.7 ล้านล้านบาท และในปี 2561 ยังคงคาดหมายการเติบโตอีก 10% เป็น 3.03 ล้านล้านบาท แต่ก็ต้องยอมรับว่า อาจมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่ยังคงปรับตัวไม่ทัน ไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ หรือเสียเปรียบในระบบทุนนิยม

ทำให้ต้องจับตาดูต่อไปในระยะยาว ถึงการเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจ ท่ามกลางเทรนด์ที่เทคโนโลยี จะมีผลทำให้พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลง และก้าวเข้าสู่การเจาะตลาดเฉพาะมากขึ้น

ด้าน แพทริค บาสเซ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ แอคคอร์โฮเทล ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ในมุมมองของแอคคอร์ ได้ร่วมอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการท่องเที่ยวไทย 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในเวลานั้นยังมีโรงแรมในเครือเพียง 1 แห่ง แต่ปัจจุบันขยายเป็น 73 โรงแรมทั่วประเทศแล้ว และยังอยู่ระหว่างพัฒนาอีก 16 แห่งในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยที่ผ่านมา ขยายแบรนด์ในกลุ่มที่ครอบคลุมตั้งแต่แบรนด์ระดับอีโคโนมีไปจนถึงแบรนด์หรู เพื่อรับกับตลาดที่มีรูปแบบแตกต่างกันไป ตาม “การเปลี่ยนแปลง” กระแสใหญ่ๆ ที่เห็นในรอบ 3 ทศวรรษใน 4 เรื่องหลัก

ประเด็นแรกคือ การเข้าสู่ยุคแห่งดิจิทัล (Digitalisation) ที่ทำให้การจองห้องพักเปลี่ยนผ่านจากการโทรศัพท์หรือติดต่อเอเยนต์รายบุคคล มาสู่การจองออนไลน์โดยตรงผ่านเว็บไซด์ของเครือแอคคอร์ โดยเฉพาะในไทย ที่มีจำนวนผู้ใช้มือถือติดต่อสู่โลกสังคมออนไลน์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกไปแล้ว และติดอันดับแถวหน้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเด็นที่ 2 คือ การปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการ (Customisation) มากขึ้น จากเดิมที่การนำเสนอของโรงแรมยังมีข้อจำกัด แต่ปัจจุบันนี้ ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงมากในรอบ 30 ปี ทำให้โรงแรมต้องแข่งขันกันสูงขึ้นในด้านการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน และเสนอทางเลือกที่หลากหลาย นำไปสู่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าที่ต้องประสบการณ์ในแบบเฉพาะตัวในด้านต่างๆ

ข้อนี้เห็นได้ชัดจากความเคลื่อนไหวล่าสุดของกลุ่มโรงแรมใหญ่ที่ต้องแตกสินค้ารายเซกเมนต์ออกมามากขึ้น โดยกลุ่ม อีโคโนมี และ มิดสเกล (ระดับกลาง) เน้นตอบสนองเชิง “คุณค่า” และบ่งบอก “ลักษณะเฉพาะตัว” ได้ เช่น ต้องมีบริการอาหารเช้าพร้อม, อินเทอร์เน็ตฟรีทุกพื้นที่, ให้บริการที่เข้าถึงง่าย, มีปฏิสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยว ฯลฯ ขณะที่ทำเลต้องอยู่ใจกลางเมือง และไม่ไกลจากแหล่งศูนย์กลางการทำกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสนใจ เป็นต้น

ขณะที่กลุ่มโรงแรมระดับสูงและหรูหราที่มีขนาดเล็ก และเน้นการนำเสนอไลฟ์สไตล์ ตอบสนองลูกค้าที่มองหาประสบการณ์ในระดับเหนือกว่าขึ้นไป เป็นกลุ่มที่จะสร้างรายได้และผลกำไรมากขึ้นจากตัวลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ แทนที่จะพยายามดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการจำนวนเพิ่มขึ้น

“เราคาดการณ์ว่า นวัตกรรมและรสนิยมของผู้บริโภคจะผลักดันให้กลุ่มผลิตภัณฑ์โรงแรมมีความผสมกลมกลืนมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและสร้างโอกาสที่เพิ่มขึ้นสำหรับตลาดการท่องเที่ยวใกล้บ้าน (Staycation) เช่น โรงแรมที่จะไม่แยกการนำเสนอความหรูหรากับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป แต่นำเสนอความหรูหราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-luxe)”

ประเด็นที่ 3 ธุรกิจโรงแรมจะพัฒนาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าที่ไม่ได้เข้าพักมากขึ้น ต่างจาก 30 ปีก่อนที่ร้านอาหารในโรงแรมมีขึ้นเพื่อแขกในโรงแรมเป็นหลัก และสุดท้ายคือ การขยายเซกเมนต์ด้านท่องเที่ยว มีกลุ่มที่ต้องจับตามองด้านการขยายตัวสูงคือ “ไมซ์” หรือนักเดินทางเชิงธุรกิจที่เป็นตลาดสำคัญของไทย ซึ่งทำให้ธุรกิจโรงแรมต้องปรับตัวด้วยการนำเสนอบริการรองรับกลุ่มนี้เพิ่ม

แพทริค ปิดท้ายด้วยว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาลูกค้าจีนมาไทยเติบโตสูง และเป็นตลาดขาออกที่ใหญ่ที่สุด และที่สำคัญเช่นกันคือ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เป็นตลาดใหญ่ของกลุ่มโรงแรมเช่นกัน

ด้าน พอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวว่า ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ 2 องค์ประกอบ คือ สถานที่จัดงาน และรูปแบบการจัดงาน

ในมิติของสถานที่จัดงาน มีการพัฒนาลงทุนใหม่ต่อเนื่อง จากยุคแรกมักจะใช้พื้นที่ลานอเนกประสงค์ อาทิ ชั้นใต้ดินของเซ็นทรัล ลาดพร้าว พื้นที่ภายในอาคารของกรมส่งเสริมการส่งออก และลานสวนอัมพร ที่ไม่มีมาตรฐานและความพร้อมทางด้านบริการ สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบความปลอดภัย แต่ปัจจุบันแต่ละศูนย์ฯ ทั้งในกรุงเทพและภูมิภาคต่างพัฒนาสถานที่ด้วยมาตรฐานสากล รองรับการจัดงานที่หลากหลาย จนติดอันดับภูมิภาค อาทิ อิมแพ็ค ที่มีพื้นที่จัดงานรวมกว่า 1.5 แสนตารางเมตร และยังตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำสถานที่จัดงานระดับนานาชาติ 1 ใน 5 ของภูมิภาคเอเชียด้วย

ด้านรูปแบบการจัดงาน ยุคเริ่มแรก นิยามกิจกรรมเกี่ยวกับไมซ์ ยังเป็นการจัดกิจกรรมของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง มีรูปแบบที่เรียบง่าย ขนาดเล็ก จนมาในช่วงยุคกลางเริ่มมุ่งเน้นที่ความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ-เอกชน เพื่อการจัดงานระดับนานาชาติใหญ่ขึ้น ภายใต้กรอบการกำหนดขอบเขตพื้นที่จัดงาน ยอดผู้เข้าชมงาน เพื่อให้ได้มาตรฐานของสมาคมอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าโลก (UFI) ทำให้หลายหน่วยงานจำเป็นต้องอาศัยการผนึกกำลังของคู่ค้า พันธมิตรธุรกิจ ทั้งในและต่างประเทศ เกิดเป็นเทรนด์งานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจการประชุมนานาชาติมากยิ่งขึ้น และเริ่มเป็นยุคของการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อต่อยอดความสำเร็จทางการค้าการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม, พลังงาน ยานยนต์ยานยนต์, ก่อสร้าง ฯลฯ ถือเป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจไมซ์มีการเปลี่ยนแปลงสูงสุด

ปัจจุบันถือเป็นยุคของการผสมผสาน ทั้งรูปแบบการจัดงานขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ทั้งโดยภาครัฐ เอกชน หรือออแกไนเซอร์ มีคู่ค้าพันธมิตรธุรกิจทั้งในและระหว่างประเทศ แต่ในมุมของการเปลี่ยนแปลงอีกด้าน คือ การมุ่งเน้นธุรกิจไมซ์เพื่อความยั่งยืน เทรนการจัดงานการประชุมสีเขียว การจัดงานแบบไร้คาร์บอน การส่งเสริมการจัดงานที่เกิดความคุ้มค่า การคำนึงถึงผลกระทบกับสังคมและสิ่งแวดล้อม และการจัดงานที่หลากหลายตอบสนองเทรนด์ปัจจุบัน เช่น การใช้เทคโนโลยีไร้สายในการจัดประชุมเพื่อการสื่อสารที่รวดเร็ว การเสิร์ฟอาหารว่างเพื่อสุขภาพ ตอบรับเทรนด์ผู้รักสุขภาพ เป็นต้น