รีเทลสู่ยุค‘Digital Revolution’ เชื่อมการค้าทั่วโลก

รีเทลสู่ยุค‘Digital Revolution’ เชื่อมการค้าทั่วโลก

อุตสาหกรรมค้าปลีกประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทุกๆ 10 ปี ในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งด้านโมเดลธุรกิจ ยุทธศาสตร์การขยายตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภค  

ห้วงเวลาก่อนปี 2540 เป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านของค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) ระหว่างนี้เป็นยุคเฟื่องฟูของธุรกิจห้างสรรพสินค้า รวมทั้งร้านโชห่วยขนาดเล็ก พร้อมๆ กับการแตกแขนงสร้างรูปแบบร้านค้าปลีก (เซ็กเมนท์เทชั่น) ก้าวสู่ค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เต็มตัว 

แรงกระเพื่อมของวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของค้าปลีกเมืองไทย เมื่อบรรดา “ค้าปลีกข้ามชาติ” ที่เปี่ยมด้วยพลังทุนและโนว์ฮาวดาหน้าเข้ามาปักหลักขยายเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ ส่งผลสมรภูมิค้าปลีกเมืองไทยห้ำหั่นกันอย่างดุเดือดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก!!  หากแต่สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเสมือนเครื่องมือคัดกรองผู้ที่แข็งแกร่งให้สามารถยืนหยัดอยู่ในเวทีการแข่งขันพร้อมขยายอาณาจักรทางการค้าอย่างต่อเนื่อง  ท่ามกลางพัฒนาการของ “เทคโนโลยีสมัยใหม่” ล้ำหน้าขึ้นทุกขณะและเข้ามามีบทบาทใน “รีเทลบิสสิเนส” มากขึ้นเรื่อยๆ

จากเดิมการใช้ระบบเทคโนโลยีไอทีเป็นเรื่องของ “หลังบ้าน” และจำกัดอยู่ในแวดวงธุรกิจนั้นขยับขยายเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคผ่านรูปแบบสินค้าและบริการต่างๆ สร้างความตระหนักรู้ และคุ้นชิน กระทั่งปัจจุบัน เทคโนโลยี เข้ามาอยู่ใน “ชีวิตประจำวัน” ของผู้คนไปแล้ว สถานะของโลกการค้าออฟไลน์กำลังถูกเขย่าอย่างหนักเพื่อปรับโหมดเข้าสู่ "ออนไลน์” โลกการค้าแห่งอนาคต

ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า โลกการค้าปลีกขณะนี้กำลังเข้าสู่ยุค “Digital Revolution” โดยลูกค้าส่วนใหญ่อยู่บนโลกออนไลน์ ดังนั้น หากผู้ประกอบการยังคงดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ ด้วยการขยายสาขาร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าใหม่ไปเรื่อยๆ เพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถแข่งขันได้

การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค และการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้อุตสาหกรรมค้าปลีกได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จนทำให้ห้างค้าปลีกบางแห่งปิดตัวลงไป ธุรกิจต้องโฟกัสออนไลน์ควบคู่ไปด้วย”

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วรอบด้าน นับเป็นความท้าทายใหญ่ของการดำเนินธุรกิจ ภายใน 10 ปีข้างหน้า โลกจะเปลี่ยนไปมากกว่า 50 ปีที่ผ่านมา แม้วันนี้ธุรกิจจะมีสถานะผู้นำหรือมีความเชี่ยวชาญในสายธุรกิจสูงก็ตาม

โลกยุคใหม่ คือ โลกของคนรุ่นใหม่ ดังนั้น “กลยุทธ์ดิจิทัล” จะมีความสำคัญอย่างมาก โดยกลุ่มเซ็นทรัลได้จัดสรรงบประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ลงทุนระบบเทคโนโลยีไอทีต่างๆ โดยปีหน้าคาดว่าจะใช้งบถึง “1 หมื่นล้านบาท” ในการวางโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ต่างๆ รองรับการเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันสร้างยอดขายเป็นสัดส่วนราว 1% ของยอดขายรวมทั้งเครือ ตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 15% ภายใน 5 ปีข้างหน้า

ดิจิทัล ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ ช้าไม่ได้ จะเห็นว่าการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ผู้คนมีไลฟ์สไตล์ที่แยกออกจากโลกดิจิทัลไม่ได้มีความต้องการสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น ด้วยสินค้าและบริการที่ดีกว่าเดิมทั้งด้านความสะดวกสบาย ความพิเศษเพื่อตัวเอง โลกออนไลน์และออฟไลน์ต้องรวมเป็นหนึ่งเดียว

การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การคมนาคม หรือการค้าขาย เรียกได้ว่าในอนาคตอันใกล้ทุกสิ่งที่เราทำ ตั้งแต่ตื่นนอน และการใช้ชีวิตในประจำวัน ต้องมีความข้องเกี่ยวกับดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ประการสำคัญ ยุคต่อไปทุกคนจะต้องมี “สมาร์ทโฟน” เป็นของตนเอง และทำธุรกรรมทุกอย่างผ่านทางมือถือ ผู้ประกอบการค้าปลีกต้องพัฒนาธุรกิจควบคู่กันทั้งด้านออฟไลน์และออนไลน์ควบคู่กัน 

สำหรับกลุ่มเซ็นทรัล ประกาศนโยบาย “Digital Centrality” เป็นกรอบยุทธศาสตร์หลักที่ธุรกิจในเครือเซ็นทรัลจะต้องพาตัวเองไปบนโลกออนไลน์ที่ลูกค้าอยู่ และสร้างความพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าด้วยรูปแบบออมนิแชนแนล(Omni-channel) พร้อมสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ธุรกิจต่างๆ ล่าสุด “ร่วมทุน” กับยักษ์ใหญ่ JD.com สร้างออนไลน์มาร์เก็ตเพลสแห่งใหม่ที่แตกต่างและเหนือกว่า เพื่อก้าวขึ้นเป็น “เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของประเทศไทย” ตอกย้ำความเป็นผู้นำทั้งด้านออฟไลน์สโตร์และไซเบอร์สโตร์ของกลุ่มเซ็นทรัล

ในระยะยาวการเข้าสู่โลกออนไลน์ ไม่เพียงอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเข้าถึงธุรกิจได้อย่างง่ายดาย แต่ยังเป็นการขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทั่วโลกอีกด้วย

ไม่ต่างจาก ชฏาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า  สภาวะปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกกำลังประสบการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ลูกค้าไม่เพียงมองหาสินค้า หากยังคาดหวังประสบการณ์การชอปปิงที่แปลกใหม่ทั้งบนออฟไลน์และโลกออนไลน์

เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเทคโนโลยีซึ่งก่อให้เกิดการเชื่อมต่อ (Connectivity) และเข้าถึง (Accessibility) ที่สะดวกรวดเร็ว”

ปัจจุบันสยามพิวรรธน์อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม Marketing Transformation โดยการบริหารจัดการ Big Data Management เพื่อรองรับกับโลกที่เปลี่ยนไป มีการใช้ “ออนไลน์” ในการเชื่อมต่อขยายฐานลูกค้าทั่วโลกผ่านลอยัลตี้โปรแกรม “โกลบอล พริวิเลจ พาร์ทเนอร์ชิพ” กับเครือข่ายพันธมิตรค้าปลีกต่างชาติ 

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจจากนี้เป็นยุคปฏิวัติด้วย “ดิจิทัล” มุ่งโตคู่ขนานระหว่าง “ออฟไลน์” และ “ออนไลน์”  ระบบออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกขณะ จะเห็นว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

แนวทางพัฒนาธุรกิจให้สอดรับพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องผสาน “ออนไลน์” เพื่อเชื่อมต่อลูกค้าแบบไร้รอยต่อ หรือสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ตลอดเวลาทุกช่องทาง 

หากทำค้าปลีกอย่างเดียวอยู่ได้แต่ยากลำบาก และไม่แข็งแรงจริงอยู่ไม่ได้ อย่างไรก็ดี ออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อผู้บริโภคมีความเคยชินมากขึ้นจะไม่กลับไปใช้ออฟไลน์ นั่นหมายถึงการเติบโตอย่างเสถียรและมีผลต่อธุรกิจออฟไลน์ที่ต้องเร่งปรับตัวตั้งแต่วันนี้”