จิตรกรรมฝาผนังตามแนวพระราชดำริในรัชกาลที่ 9

 จิตรกรรมฝาผนังตามแนวพระราชดำริในรัชกาลที่ 9

จิตรกรรมโครงการพระราชดำริ ภายในพระที่นั่งทรงธรรม อาคารประกอบพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นงานบันทึกประวัติศาสตร์ศิลปะชิ้นสำคัญของงานจิตรกรรมไทยพระเพณีร่วมสมัยในรัชกาลที่ 9

มณเฑียร ชูเสือหึง  จิตรกรเชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ ผู้ดำเนินการออกแบบ กล่าวถึงการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ในงานจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งทรงธรรม 3 ผนัง แสดงเรื่องราวโครงการพระราชดำริ 46 โครงการ ความว่า

           “เป็นการนำรูปแบบจิตรกรรมไทยร่วมสมัยตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชดำริในเรื่อง รูปแบบ เนื้อหา ซึ่งมีลักษณะการเขียนแบบขนบไทยโบราณในเรื่องของการตัดเส้นรอบนอก การจัดภาพในลักษณะแบบ Bird’s eye view หรือ มุมสูงมาลำดับเนื้อหาเรื่องราวที่มองเห็นได้อย่างครบถ้วน

            นำมาผสมผสานกับวิธีการเขียนแบบทัศนียวิทยาแบบตะวันตกในลักษณะเหมือนจริง เหมือนธรรมชาติ ยกตัวอย่างในภาพบุคคล จะมีสัดส่วนโครงสร้างที่ถูกต้องตามกายวิภาคของมนุษย์ มีกล้ามเนื้อ มีมิติ มีระยะ มีperspective มีเงาตกทอด มาผสมผสานกับแบบไทยเพื่อบูรณาการรูปแบบศิลปไทยมาสู่ยุคปัจจุบันมากขึ้น

          ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่โปรดเกล้าฯให้กรมศิลปากรดำเนินการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อปี 2546 มีลักษณะแบบจิตรกรรมไทยร่วมสมัยที่ทรงพระราชทานแนวการเขียนในรูปแบบผสมผสานจิตรกรรมไทยกับตะวันตกเข้าด้วยกันเพื่อเป็นการพัฒนาให้เป็นสมัยรัชกาลที่ 9

          เราได้นำเอาวิธีคิดวิธีเขียนตามแนวพระราชดำริมาเป็นแบบอย่างในการเขียนภายในพระที่นั่งทรงธรรมในครั้งนี้” จิตรกรเชี่ยวชาญ อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างการเขียนภาพจิตรกรรมไทยประเพณีกับภาพจิตรกรรมไทยตามแนวพระราชดำริให้เข้าใจว่า

          “จากที่เราเคยเขียนตามแบบอย่างกันมาเป็นการเขียนแบบอุดมคติสองมิติเป็นการตัดเส้นรูปทรงรอบนอกไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ทิวทัศน์ หรือ อาคารสถาปัตย์ ตลอดจนภาพบุคคล มีลักษณะแบนๆเป็นสองมิติ แต่ในครั้งนี้เป็นลักษณะสามมิติ

ในขณะเดียวกันเรานำการเขียนแบบโบราณ คือการตัดเส้นรอบนอกภาพสามมิติที่มีลักษณะเหมือนจริงไม่ว่าจะเป็นภาพบุคคลตัวอาคาร สถาปัตย์ ทิวทัศน์ มาใช้โดยดูด้วยว่าสมควรใช้ตรงไหนมากน้อยเพียงใด ส่วนไหนที่เน้น ส่วนเป็นระยะไกลๆเราต้องปล่อย ผสมผสานนำหลักคิดตะวันตกมาผสมผสานเข้าด้วยกัน”

         กล่าวได้ว่าเป็นผลงานจิตรกรรมฝาผนังที่หลอมรวมขนบโบราณ วิทยาการแบบตะวันตก รวมทั้งวิถีปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกัน

        “งานศิลปะในครั้งนี้จะเป็นกรณีศึกษาของยุคเปลี่ยนผ่านงานศิลปะของไทยเรา เป็นการเปลี่ยนผ่านของศิลปะจากยุครัชกาลที่ 9 สืบทอดมายังยุคปัจจุบัน คนรุ่นหลังจะได้ศึกษาศิลปะของไทยที่ได้มีการพัฒนามาแต่ละยุคมาถึงปัจจุบัน เป็นกรณี ศึกษา เป็นองค์ความรู้ให้กับประชาชน นักศึกษา จนไปถึงองค์ความรู้ทางศิลปะของชาติ แสดงให้เห็นถึงรูปแบบ เนื้อหา และวิธีการเขียน มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงมาถึงปัจจุบัน

          เราไม่ได้ทิ้งอัตลักษณ์รูปแบบเดิมแต่เราสามารถนำมาใช้ ปรับวิธีคิดรูปแบบให้ทันสมัย สมัยใหม่บันทึกเหตุการณ์ในภาพ ลักษณะการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งทรงธรรมถือเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจริงๆ  ในภาพจิตรกรรมจะมีมากกว่าภาพเขียนทั่วไป นอกเหนือจากโครงการพระราชดำริแล้ว ยังสอดแทรกด้วยปรัชญา พระบรมราโชวาท เพื่อจะให้เราคนไทยน้อมนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต”

         ประชาชนสามารถชมผลงานจิตรกรรมฝาผนังบนพระที่นั่งทรงธรรม ในนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยรัฐบาลจะเปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2560 เวลา 7.00 -22.00 น.