กรมท่องเที่ยวเล็งจัดโซนนิ่งใช้‘ไกด์ไทย’

กรมท่องเที่ยวเล็งจัดโซนนิ่งใช้‘ไกด์ไทย’

กรมการท่องเที่ยว งัดมาตรการบังคับใช้ “ไกด์คนไทย” กำหนดโซนเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์-วิถีไทย หนุนรักษาตำแหน่งงานคนไทย

นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า มีแนวคิดในการออกมาตรการบังคับให้โซนท่องเที่ยวหรือแหล่งท่องเที่ยวที่มีจุดเด่นเกี่ยวข้องกับความเป็นไทย หรือประวัติศาสตร์ไทย เช่น วัด อุทยานประวัติศาสตร์ จะต้องมัคคุเทศก์ (ไกด์) คนไทยเป็นผู้บรรยายหลักให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 

หากไม่สามารถบรรยายด้วยภาษาที่ตรงกับความเข้าใจของนักท่องเที่ยวได้ ก็อนุญาตให้จัดไกด์ต่างชาติมาทำหน้าที่แปลความ เพื่อทำให้เกิดการสื่อสารข้อมูลประกอบการท่องเที่ยวที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับข้อกำหนดที่ใช้อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ วัดพระแก้ว

ทั้งนี้ จะนำแนวคิดดังกล่าวหารือกับ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พิจารณา ก่อนสู่การปฏิบัติ ซึ่งข้อดีของมาตรการนี้ จะช่วยทำให้นักท่องเที่ยวมีความเข้าใจถูกต้อง ไม่บิดเบือน จากที่ผ่านมาเคยมีการร้องเรียนว่าไกด์ต่างชาติมักบรรยายโดยขาดความรู้ที่ถูกต้อง ตามมาตรการนี้ไกด์คนไทยจะมีบทบาทและหน้าที่ชัดเจนมากขึ้น ท่ามกลางภาวะปัจจุบันการท่องเที่ยวไทยต้องเร่งจัดระเบียบความถูกต้องของการใช้ไกด์ชาวต่างชาติ

“ได้รับร้องเรียนเสมอเรื่องการใช้แต่ไกด์จีนบรรยายในแหล่งท่องเที่ยว หากกำหนดโซนพื้นที่ชัดเจน เน้นพื้นที่ที่ต้องรักษาความถูกต้องของข้อมูลที่เกี่ยวกับความเป็นไทย จะต้องกั้นเขตตรวจบัตรอย่างจริงจัง จะช่วยแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง"

อย่างไรก็ดี ภาพรวมของปัญหาไกด์ไทย คือ การใช้ภาษาที่คนต่างถิ่นไม่เข้าใจเท่าไกด์ชาติเดียวกัน หรือสื่อสารภาษาเดียวกันได้ จึงต้องปรับปรุงทักษะในจุดนี้ เช่นเดียวกับการยกระดับคุณภาพบริการอื่นๆ ควบคู่กันทั้งหมด

นายสุรวัช อัครวรมาศ อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) และคณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กล่าวว่า ประเทศที่มีการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมใหญ่อย่าง ฝรั่งเศส รัฐบาลกำหนดให้มีการใช้ไกด์เฉพาะพื้นที่ในการบรรยายแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ เช่น พระราชวังแวร์ซายส์ มีไกด์เฉพาะที่เชี่ยวชาญในเชิงประวัติศาสตร์ ห้ามไม่ให้ไกด์ที่เดินทางมาพร้อมกรุ๊ปทัวร์เป็นผู้บรรยายเองเด็ดขาด เพื่อป้องกันการให้ข้อมูลผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงที่บันทึกไว้

สำหรับสถานการณ์ของบริการนำเที่ยวด้วยไกด์ปัจจุบันมีปัญหาขาดแคลนต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มไกด์ที่สื่อสารภาษาถิ่นของตลาดนักท่องเที่ยวที่นำเข้ามา แม้ว่าจะมีไกด์คนไทย แต่ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งไม่นิยม เพราะมองว่าเสียเปรียบเมื่อพูดคนละภาษา ทำให้สื่อสารได้ไม่เต็มที่ 

กรณีนี้เห็นปัญหาชัดเจนในกรุ๊ปทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือทัวร์ราคาต่ำกว่าทุน ที่บริษัทนำเที่ยวจะมีรายได้มาจากการขายแพ็คเกจจากต้นทางในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง และคาดหวังรายได้จากการขายออปชั่นเสริมระหว่างทาง จึงต้องการไกด์ที่มีทักษะด้านภาษาเดียวกัน เข้าใจวัฒนธรรมเดียวกัน เพื่อเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้ดีกว่า จึงเป็นที่มาของการให้ข้อมูลขัดแย้งกันระหว่างบริษัทนำเที่ยวที่ระบุว่าขาดแคลน แต่ฝั่งไกด์บอกว่ามีเพียงพอ

ขณะนี้ กรมการท่องเที่ยวอยู่ระหว่างรวบรวมจำนวนไกด์ และจำแนกเชิงลึกว่ามีคุณภาพหรือความพร้อมระดับใด เช่น ความถนัดด้านภาษา เพื่อนำไปเป็นข้อมูลเสริมจุดที่ยังขาดแคลน แต่การลงทะเบียนตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร จึงได้ขยายเวลาไปอีกถึงวันที่ 31 ต.ค.