โอน8ภารกิจตำรวจ ส่อมีปัญหา หลังหลายหน่วยงานอ้างไม่พร้อม

โอน8ภารกิจตำรวจ ส่อมีปัญหา หลังหลายหน่วยงานอ้างไม่พร้อม

กรรมการปฏิรูปตำรวจ ระบุปมโอนภารกิจงาน8ด้าน ไร้ข้อสรุป เหตุหน่วยงานรับโอน อ้างไม่พร้อม-ติดปัญหา ด้านงานสอบสวนร่วมอัยการ-ตำรวจ มีปัญหาอีกตร.หวั่นถูกแทรกแซง-ขาดอิสระ "เสรี"ย้ำต้องปฏิรูปเพื่อให้ถ่วงดุล ลดปัญหาปชช.ถูกจับเป็นแพะในคดี

นายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) กล่าวถึงความคืบหน้าต่อการพิจารณาทำเนื้อหาด้านการปฏิรูปตำรวจ ว่า จาการพิจารณาครั้งล่าสุด เกี่ยวกับการโอนย้ายและแบ่งภารกิจงานที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ 8 ภารกิจ ได้แก่ ด้านการตรวจคนเข้าเมือง, ด้านงานจราจร, ด้านทางหลวง, ด้านรถไฟ, ด้านตำรวจน้ำ, ด้านตำรวจป่าไม้, ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ ด้านความผิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบตรงสายงานนั้น ซึ่งได้เชิญหน่วยงานที่กำหนดให้รับมอบภารงานเข้าหารือ แต่มีหลายหน่วยงานที่ปฏิเสธการรับโอน เนื่องด้วยความไม่พร้อม และยอมรับบางภารกิจแต่ไม่รับบางภารกิจ เช่นงานด้านตำรวจจราจร ที่กรุงเทพมหานครพร้อมรับภารกิจด้านการอำนวยความสะดวก และจัดระเบียบ แต่ไม่พร้อมรับงานด้านคดีความที่เกิดจากอุบัติเหตุบนถนน, งานด้านตำรวจรถไฟ ที่เตรียมโอนให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดูแล มีความพร้อมเรื่องการดูแล และสอบสวน, งานตำรวจป่าไม้ ที่ไม่ขอรับงานด้านสืบสวน เป็นต้น ทำให้ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการโอนย้าย แต่ได้ให้หลักการสำคัญไว้ คือ กรณีที่หน่วยงานปฏิเสธการรับโอน ด้วยสาเหตุความไม่พร้อมนั้น ไม่เป็นเหตุผลสำคัญที่จะปฏิเสธงานดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปได้ ดังนั้นประเด็นที่จะตัดสินใจรับโอนนั้น ควรเป็นประเด็นของแผนงาน ระยะเวลา และงบประมาณ

นายเสรี กล่าวถึงประเด็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับการให้อัยการมีส่วนร่วมต่องานสอบสวนของพนักงานสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยยอมรับว่าเป็นข้อถกเถียงที่ฝ่ายตำรวจไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่อัยการยุ่งเกี่ยวกับการสอบสวนหรือทำสำนวนคดี เพราะกังวลว่าพนักงานอัยการจะเข้าแทรกแซงการทำงานและทำให้การทำงานขาดความเป็นอิสระ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำข้อกังวลดังกล่าวหาข้อสรุปกันอีกครั้ง ขณะที่ความตั้งใจของกรณีดังกล่าวเพื่อให้การทำสำนวนคดีหรือการสอบสวนทั้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการมีการถ่วงดุลและทำงานการสอบสวนให้เป็นไปอย่างยุติธรรมและเที่ยงธรรมที่สุด

“ข้อเสนอในหลักการเกี่ยวกับการถ่วงดุลเรื่องงานสอบสวนนั้น ต้องเปิดเผย ตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม ทั้งนี้อาจให้อัยการมีพนักงานสอบสวนเป็นคนของตนเอง มีอำนาจสอบคดีเพิ่ม หรือ รับข้อร้องเรียนของประชาชนกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือสอบคดีที่กระทบความมั่นคง หรือคดีที่เกี่ยวกับสาธารณชนโดยรวม แต่ทั้งหมดนั้นยังไม่ได้ข้อสรุปในหลักการ แต่ในข้อศึกษาของงานปฏิรูปตำรวจระบุถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและวางโจทย์ที่เป็นเป้าหมายคือ ประชาชนได้รับความเป็นธรรม ไม่ถูกจับโดยไม่กระทำผิด หรือตกเป็นแพะ รวมถึงการทำสวนหรือสั่งคดีต้องเป็นไปตามเนื้อผ้า ไม่มีการประโยชน์จากการทำสำนวน ซึ่งตำรวจและอัยการต้องเป็นฝ่ายที่ถูกตรวจสอบได้เช่นกัน” นายเสรี กล่าว