หนังสือในดวงตา พระราชาในดวงใจ

หนังสือในดวงตา พระราชาในดวงใจ

ตลอดหลายทศวรรษผ่านมาเรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้รับการบันทึกเป็นหนังสือจำนวนแทบนับไม่ถ้วน

ตลอดรัชสมัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวไทย นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายเรื่องราว หลากหลายแง่มุม ที่บางคนอาจรู้ แต่หลายคนยังไม่รู้เกี่ยวกับพระองค์ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระปรีชาสามารถต่างๆ สิ่งละอันพันละน้อย ซึ่งตลอดหลายทศวรรษผ่านมาเรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้รับการบันทึกเป็นหนังสือจำนวนแทบนับไม่ถ้วน

            ด้วยความที่อุทยานการเรียนรู้ TK park เป็นแหล่งรวมความรู้และเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ใจกลางเมือง แน่นอนว่าต้องมีหนังสือเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 อยู่ไม่น้อยเลย ด้วยความตั้งใจที่จะถวายความอาลัยแด่พระองค์ท่าน จึงเกิดเป็นนิทรรศการ หนังสือในดวงตา พระราชาในดวงใจ ขึ้น

            พรผกา อังกูรสุทธิพันธ์ นักจัดการความรู้อาวุโสของฝ่ายกิจกรรม TK park เล่าว่านิทรรศการนี้เกิดจากความตั้งใจน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และถวายความอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก่อนที่จะถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพซึ่งเป็นวาระสำคัญของชาติ

            “อยากทำอะไรให้คนไทยได้ระลึกถึงพระองค์ท่านในวาระสุดท้าย”

            ซึ่งเหตุผลที่ต้องเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับหนังสือเพราะหนังสือคือจุดแข็งของอุทยานการเรียนรู้แห่งนี้

            “ทุกคนรู้จักเราว่าคือห้องสมุด ห้อสมุดก็ต้องมีหนังสือ และเรามองว่ามีไม่กี่หน่วยงานนักที่นำหนังสือออกมาแนะนำให้คนได้อ่าน แต่เราได้เปรียบตรงที่ว่าเรามีทรัพยากรอยู่ในห้องสมุดค่อนข้างเยอะ ก็เลยดึงหนังสือของในหลวงรัชกาลที่ 9 ออกมาจัดแสดง ออกมาแนะนำ”

            นั่นหมายความหนังสือที่ละลานตาในนิทรรศการทั้งหมดล้วนมาจากห้องสมุดที่นี่ โดยที่ไม่ได้แบ่งแยกว่าต้องเป็นหนังสือของสำนักพิมพ์ใดเป็นพิเศษ หากปรากฏในห้องสมุดที่นี่ ทุกเล่มคือหนังสือของพระราชา

            ทว่า ถ้าดูเปรียบตลาดหนังสือบ้านเราเป็นจักรวาล หนังสือที่เห็นมากมายก่ายกองกลับเป็นเพียงกลุ่มดาวในกาแลกซีหนึ่งเท่านั้น ยังมีหนังสือเกี่ยวกับพระองค์ท่านอีกจำนวนไม่น้อยที่อาจจะพลัดหลงหรือไปอยู่อีกกาแลกซีหนึ่ง แม้มองเห็นที่นี่แต่ก็ยังมีอยู่

            หลังจากรู้แล้วว่าหนังสือเกี่ยวกับพระองค์ที่มีใน TK park มีเล่มใดบ้าง ก็ถึงคราวที่ต้องจำแนกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ซึ่งไม่ได้อิงการจัดหมวดหมู่หนังสือแบบดิวอี้ตามทั่วไป เพราะพระองค์คือมหาราชา เรื่องราวของพระองค์ย่อมพิเศษ

            “ตอนจัดหมวดหมู่ในนิทรรศการ เรามาคิดกันว่าเรื่องอะไรของพระองค์ท่านที่อยากให้คนไทยได้จดจำ หลีกนี้ไม่พ้นเรื่องพระราชประวัติเพราะเราต้องการให้ทุกคนได้ศึกษาพระราชประวัติของพระองค์ท่านโดยละเอียด และเรื่องพระราชกรณียกิจที่พระองค์ท่านทำเพื่อพสกนิกรชาวไทย และบันทึกความทรงจำเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 9 และหนังสือประจำบ้านที่เราต้องการให้คนอ่านที่อ่านแล้วรู้สึกประทับใจได้หาซื้อเก็บไว้ที่บ้าน ไว้เป็นความทรงจำ และมีหนังสือสำหรับเด็กที่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ออกมาค่อนข้างเยอะ ซึ่งแต่ละเล่มน่าสนใจมาก ด้วยภาษาเข้าใจง่าย รูปภาพสวยงามดึงดูดความสนใจเด็กได้ดี และหมวดปกิณกะ เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งหลังจากพระองค์ท่านสวรรคต มีการตามหาว่าคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้เป็นใคร เราอยากให้ทุกคนได้อ่าน”

            แนวความคิดการจัดหมวดหมู่ทำนองนี้เกิดจากการอ่านมาก ได้เห็นภาพกว้างและยังเข้าใจภาพลึกของหนังสือเล่มต่างๆ กระทั่งเกิดเป็นแรงบันดาลใจ ที่สำคัญการอ่านหนังสือช่วยสะสมคลังคำ แล้วตกผลึกเป็นหมวดหมู่หนังสือสำหรับนิทรรศการนี้โดยเฉพาะ

            แม้จะอ่านมาก แต่นักจัดการความรู้อาวุโสฯ คนนี้ก็ยอมรับว่าหนังสือเกี่ยวกับพระองค์ท่านมีมากจริงๆ แม้จะพยายามอ่านให้หมด อ่านให้ครบ ก็ไม่ครบสักที แต่ทุกเล่มที่อ่านล้วนมีจุดร่วมเดียวกันคือ ผู้เขียนล้วนเขียนด้วยความรักความภักดีที่มีต่อพระองค์ท่านอย่างเหลือล้น

            “เหมือนกับที่เรากำลังทำนิทรรศการนี้ คือ เราหวังจะทำอะไรเพื่อพระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้าย นักเขียนก็เช่นเดียวกันที่อยากทำอะไรเพื่อพระองค์ท่าน พวกเขาจึงทำผ่านตัวอักษรออกมา”

            หนังสือที่เกิดขึ้นมากมายตั้งแต่เมื่อนานมาแล้วจนกระทั่งปลายรัชกาลที่และหลังพระองค์สวรรคต เสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ แต่หนังสือเหล่านี้ยังสะท้อนถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่หลายคนยังเข้าใจว่าอยู่สูงจนห่างไกล แต่ถ้าได้ศึกษาจะเข้าใจว่าพระองค์ท่านอยู่ใกล้ชิดประชาชนตลอดเวลา

            พรผกา บอกว่าหลังจากอ่านหนังสือเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 จะสังเกตได้ว่าพระองค์พยายามไปใกล้ชิดประชาชน แม้ในความเป็นจริงจะเสด็จไปไม่ได้ทุกตารางเมตรหรือได้ใกล้ชิดประชาชนทุกคนจริงๆ ก็ตามที

            หนังสือที่จัดแสดงในนิทรรศการเกือบทุกเล่มเคยผ่านตาพรผกามาแล้ว และมีหลายเล่มได้รับการันตีจากนักอ่านด้วยว่าเหมาะสมที่จะขึ้นชั้นโชว์ อีกจุดสำคัญที่ทีมงานตั้งใจมากถึงขั้นต้องอ่านหนังสือแต่ละเล่มกันใหม่ คือ การเขียนบทคัดย่อที่ไม่ได้ดึงจากบทคัดย่อเก่า อ่านใหม่ เขียน เพื่องานนี้

            ทว่านิทรรศการจะเป็นรูปเป็นร่างไม่ได้ และอาจไม่น่าสนใจหากถูกจัดวางแบนๆ ทื่อๆ นิทรรศการนี้จึงถูกออกแบบให้เมื่อมองจากด้านบนจะเห็นเป็นเลข ๙ แม้ไม่ใช่ตัวเลขขนาดมหึมา แต่ด้วยความตั้งใจก็ทำได้สมกับขนาดพื้นที่ที่จำกัด ส่วนมุมมองระดับสายตาป้ายนิทรรศการต่างๆ จะโค้งมน ด้านหนึ่งนูนออก อีกด้านเว้าเข้า มีภาพหนังสือและข้อมูลบทคัดย่อที่อ่านแล้วเข้าใจว่าหนังสือเล่มนี้น่าอ่านอย่างไร

            “เราไม่อยากได้รูปแบบนิทรรศการที่เป็นทางการมาก เพราะพอพูดถึงหนังสือแล้วจะรู้สึกน่าเบื่อ ยิ่งพูดถึงพระมหากษัตริย์ทุกคนจะยิ่งรู้สึกถึงความเป็นทางการมากขึ้น เราจึงต้องการทำนิทรรศการให้ผ่อนคลาย เอาแค่แบบตัวอักษร (Font) เราก็ตั้งใจใช้แบบที่ทันสมัย ไม่จำเป็นต้องเป็นทางการไปเสียหมด”

            ถึงแม้หนังสือกับเจ้าหน้าที่ TK park จะเป็นของคู่กัน แต่การจัดนิทรรศการนี้คือการเริ่มต้นอ่านใหม่เพื่อเข้าใจนิทรรศการจริงๆ อาจคิดว่านี่คือภาระหน้าที่ แต่จากคำบอกเล่าของนักจัดการความรู้อาวุโสฯ จึงได้รู้ว่า ทีมงานแต่ละคนตั้งใจและอยากทำให้เต็มที่

            “พวกเราไม่ได้มีโอกาสถวายงานพระองค์ท่านโดยตรงเมื่อครั้งพระองค์มีพระชนม์ชีพ นี่จึงเป็นเสมือนการถวายงานแด่พระองค์เป็นครั้งสุดท้าย”

            ด้วยความตั้งอกตั้งใจแบบนี้ แต่เมื่อถามถึงความคาดหวัง คำตอบกลับไม่ใช่ความคาดหวังมากมาย เพียงแค่ผู้คนสนใจ เข้ามาดู มาหยิบ เท่านั้นเอง

            “แม้จะไม่เปิดอ่าน แค่ดูหน้าปก เราก็ดีใจแล้วนะที่เขาให้ความสนใจ และที่สำคัญหนังสือทุกเล่มยังยืมได้ตามปกติ ตามกฎเกณฑ์ของห้องสมุด ถ้าหนังสือออกจากชั้นเราจะเอามาเติมให้ เพราะมีหนังสือหลายเล่มมีคนสนใจเยอะ เช่น เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ เป็นหนังสือยอดนิยมโดยเฉพาะหลังพระองค์สวรรคต กลายเป็นหนังสือจองคิวยาวเลย เพราะเป็นหนังสือพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงพระเยาว์”

            นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเล่มที่ได้รับความนิยม เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และเจ้านายไทยในโลซานน์

            พรผกา เล่าว่าหลังจากพระองค์สวรรคต เกิดปรากฏการณ์ใน TK park คือ คนแห่แหนกันมาอ่านหนังสือเกี่ยวกับพระองค์ท่านมากกว่าเท่าตัว แม้แต่ในร้านหนังสือก็มีหลายเล่มที่ขาดตลาดไปแล้ว ด้วยลักษณะนิสัยที่ช่างสังเกตว่าผู้ใช้บริการอ่านอะไร เพื่อที่จะอ่านตามบ้าง พบว่าหนังสือหลายเล่มติดคิวจองยาวเหยียด บางเล่มถึงกับต้องซื้อเองเลย

            “หนังสือเป็นแรงบันดาลใจ เราหาประสบการณ์ได้จากในตัวหนังสือ อยากให้ทุกคนลองมาหาประสบการณ์ผ่านตัวอักษร ผ่านหนังสือ ที่เป็นเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ทรงเป็นต้นแบบการดำเนินชีวิต ถ้าเข้ามาอ่านเข้ามาเรียนรู้ อาจได้มุมมองใหม่ๆ ที่อาจไม่เคยรู้มาก่อนก็ได้ หนังสือบางเล่มมีพันหน้า บางเล่มมีร้อยหน้า อย่างน้อยๆ ต้องมีอะไรที่ได้กลับไปจากการอ่านหนังสือแน่นอน”

          ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่พระองค์ท่านสวรรคต หรือจะย้อนไปไกลกว่านั้นก็ตาม มีหนังสือเกี่ยวกับพระองค์ท่านออกสู่โลกหนังสือมากมาย ไม่ว่าจะพิมพ์ใหม่ พิมพ์ซ้ำ เท่ากับว่าประวัติศาสตร์สำคัญยิ่งของชาติไทยได้ถูกบันทึกแล้วด้วยหนังสือจำนวนมหาศาล สมกับที่เป็น ‘หนังสือในดวงตา พระราชาในดวงใจ’

*หมายเหตุ

            นิทรรศการ ‘หนังสือในดวงตา พระราชาในดวงใจ’ จัดแสดงวันนี้ – 31 ตุลาคม 2560 เวลา 10.00-20.00 น. ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 Dazzle Zone ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์