‘ซีอีเอ’ชูภารกิจขับเคลื่อนครีเอทีฟฮับ

‘ซีอีเอ’ชูภารกิจขับเคลื่อนครีเอทีฟฮับ

ทีซีดีซี ยกระดับเป็น สนง.ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ชูโมเดลไดร์ฟ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เตรียมจัดงาน “บางกอก ดีไซน์ วีค” เนรมิตย่านเจริญกรุงเป็นพื้นที่แห่งการออกแบบ

ทีซีดีซี ยกระดับเป็น สนง.ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ชูโมเดลไดร์ฟ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เตรียมจัดงาน “บางกอก ดีไซน์ วีค” เนรมิตย่านเจริญกรุงเป็นพื้นที่แห่งการออกแบบ


นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ ทีซีดีซี กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรี 20 มิ.ย.ที่ผ่านมาให้ ทีซีดีซี แยกออกมาจากสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือโอเคเอ็มดี พร้อมจัดตั้งเป็น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency (CEA) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ธ.ค.นี้-ม.ค.ปีหน้า ขณะนี้เข้าสู่ขั้นตอนกฤษฎีกา ดังนั้น บทบาทหน้าต่อไปนอกจากการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ในกลุ่มผู้ประกอบการแล้ว ยังมี 2 พันธกิจเพิ่มขึ้นมา คือ การทำงานเชิงนโยบาย สร้างนโยบายทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งในอดีตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีหลายหน่วยงานภาครัฐทำในเรื่องการสนับสนุน แต่ยังไม่มีใครทำในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ต้นแบบ โดยมีย่านเจริญกรุงเป็นที่แห่งแรกพร้อมขยายไปทำในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยในอนาคต โดยจะเริ่มจากการเปิดสาขาขอนแก่น เชียงใหม่และภาคใต้


พร้อมกันนี้จะจัดงาน Bangkok Design Week ระหว่าง ม.ค.-ก.พ. เพื่อแปลงพื้นที่ย่านเจริญกรุง และครอบคลุมไปถึงเส้นทางรถไฟฟ้าสุขุมวิท ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ พร้อมกับร่วมกับกรุงเทพมหานครสมัคร World Design Capital เพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวในปี 2565 จากสมาพันธ์การออกแบบโลก คัดเลือกให้เป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลก โดยคัดเลือกจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่เสนอชื่อเมืองร่วมแข่งขันกับประเทศอื่นๆ จากทั่วโลก รวมทั้งจัดทำโครงการ ไดร์ฟ (Drive) ร่วมกับหลายๆ หน่วยงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่ง่ชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ( สนช.) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเกิดการบูรณาการในการสร้างสรรค์นวัตกรรมออกมาเชิงพาณิชย์เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูงขึ้น


ล่าสุดได้ร่วมกับ บริติช เคานซิล ผลักดันยุทธศาสตร์ครีเอทีฟฮับ ระดับภูมิภาคเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยการจัดกิจกรรมสัมมนา “การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ และศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์” จากกรณีศึกษาของเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากประเทศต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ทำให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นส่วนหนึ่งในไทยแลนด์ 4.0 ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1. การนำคนที่มีศักยภาพเข้ามาในพื้นที่โดยมีมาตรการจูงใจ เพื่อเกิดการแบ่งบันความรู้ซึ่งกันและกัน 2.การพัฒนาธุรกิจในพื้นที่ 3. การสร้างระบบนิเวศน์ในพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และทำงานร่วมกัน


“ประเทศไทยมีพื้นที่ฐานความคิดสร้างสรรค์ดี ไม่ว่าจะเป็น งานโฆษณา หัตถกรรม อัญมณีและอุตสาหกรรมการออกแบบ ไม่แพ้ใครในโลก ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้สามารถเข้าไปช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมหลักของประเทศด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การเกษตร สตา่ร์ทอัพ ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นมหาศาล ส่วนแนวทางความร่วมมือกับบริติชเคานซิล คือการดึงเอาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาในประเทศไทย มาแบ่งปันประสบการณ์การทำงานสร้างสรรค์” อย่างไรก็ตาม อุปสรรคอย่างหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือเงินทุนและนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งมีบทบาทสำคัญและเป็นเจ้าภาพหลักในการลงทุนเนื่องจากประเทศไทยไม่ใหญ่ หรือมีทรัพยากรมากมาย แต่สิ่งที่มีอยู่ไม่จำกัดคือไอเดียความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐต้องลงทุนให้เกิดขึ้น เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนประเทศไปตามนโยบายไทยแลนด์4.0