'อันดามัน' ฐานใหม่ 'ท่าเรือราชาเฟอร์รี่'

'อันดามัน' ฐานใหม่ 'ท่าเรือราชาเฟอร์รี่'

ราคาหุ้นไม่วิ่ง แต่แผนธุรกิจพร้อมออกมาโลดแล่น เอาใจแฟนคลับ 'อภิชาติ ชโยภาส' เอ็มดี 'ท่าเรือราชาเฟอร์รี่' ต่อจิ๊กซอว์อวดความงามเชื่อมโยงการลงทุนโลจิสติกส์ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

แผนขยายเส้นทางเดินเรือไปยังทะเลอันดามัน งานประมูลบริหารจัดการขยะบนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และการรับเรือเฟอร์รี่ลำใหม่ ที่มีความคืบหน้าล่าช้ากว่ากำหนดอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้ราคา หุ้น ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ หรือ RP ถึงร่วงมาต่ำกว่าราคาจองหุ้นละ 12 บาท ปัจจุบันราคาซื้อขาย 5.80 บาท (วันที่ 11 ต.ค.2560)

สารพัดเหตุผลเหล่านั้น เป็นต้นเหตุกดดันการเติบโตเพิ่มขึ้นของบริษัทในปีนี้ต้องเลื่อนออกไป แม้ว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 'ตระกูลชโยภาส' ไม่มีใครขายหุ้นออกมา แต่ต้องคอยตอบคำถาม 'ฮอตฮิต' ที่ถามว่าทำไมหุ้น RP ไม่วิ่งไปไหนเลย...! 

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ 'อภิชาติ ชโยภาส' กรรมการผู้จัดการ บมจ.ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ หรือ RP ต้องเร่งมือเรียกศรัทธากลับคืนมาด่วน... 

ถือโอกาสฉายแผนธุรกิจให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ที่ผ่านมาได้ให้ข่าวถึงแผนที่จะขยายการเติบโตในหลายๆ ด้าน หนึ่งนั่นคือ 'การเปิดเส้นทางระบบโลจิสติกส์' โดยมีแผนจะเข้าไปประมูลบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ฝั่งทะเลอันดามัน จากเดิมบริษัทขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางฝั่งทะเลอ่าวไทย  จากการเข้าไปศึกษาราว 2 ปี พบว่าบริษัทมีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าไปบริหารจัดการได้ ทั้งจำนวนเรือขนาดใหญ่  เครือข่าย และความสามารถในการสร้างท่าเทียบเรือ เพราะว่าทะเลฝั่งอันดามันยังไม่มีท่าเทียบเรือที่มีมาตรฐาน รวมทั้งต้องเผชิญภาวะคลื่นทะเลที่สูงกว่าฝั่งอ่าวไทยมาก และมีแต่เรือขนาดเล็กที่ให้บริการเท่านั้น 

แต่ปัจจุบันติดปัญหาจะเข้าไปบริหารจัดการได้นั้นต้องผ่านขั้นตอนขออนุญาตทางการ และต้องทำการประเมินประเมิน 'ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม' (EIA) ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะติดปัญหาผลประโยชน์ของหลายฝ่าย ทว่าบริษัทยังตั้งใจที่จะดำเนินการเกิดขึ้นให้ได้ 'หากทำได้จริงจะพลิกภาพการเติบโตของบริษัทจากหน้ามือเป็นหลังมือในทันที' นอกจากนี้ หากมีเรือเฟอรี่เข้ามาวิ่งให้บริการขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยวจากเกาะไปยังจุดหมายอื่นได้โดยไม่อันตรายและเข้าออกเกาะได้ตลอด จะส่งผลดีให้ราคาสินค้าบนเกาะต่างๆ มีราคาถูกลง รวมถึงค่าโดยสารด้วย   

เขา บอกต่อว่า โอการข้างหน้าบริษัทมองเห็นภาพการเชื่อมโยงกันของธุรกิจระหว่างท่าเทียบเรือ เส้นทางการเดินเรือ จะสามารถมาเชื่อมกับการบริการโลจิสติกส์ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้า-ออกเฉลี่ย 1 หมื่นคนต่อวัน ระหว่างเกาะพีพี ,เกาะลันตา ,เกาะยาว เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเข้าไปประมูลบริหารจัดการขยะบนเกาะสมุย มูลค่า 300 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมามีการเปิดประมูลไปแล้ว 2 รอบ แต่ติดปัญหาทำให้ต้องยกเลิกการประมูลออกไป แต่บริษัทมั่นใจว่าจะชนะการประมูลเพราะว่าทุกรอบที่ผ่านมาบริษัทชนะการประมูลทุกครั้ง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มอัตราการเติบโตในอนาคตอีกทางหนึ่ง 

สำหรับ 'ธุรกิจบริการเดินเรือเฟอร์รี่' ที่บริษัทให้บริการโดยสารและขนส่งทางเรือจากดอนสัก-เกาะสมุย และ จากเกาะสมุย-พะงัน  กำลังเข้าสู่ช่างไฮซีซั่นของฝั่งอ่าวไทย คาดว่าไตรมาส 4 ปี 2560 ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 2 ปี 2561 เป็นช่วงที่ผลประกอบการจะเติบโตสูงสุดของบริษัท สะท้อนผ่านยอดจองห้องพักกับโรงแรมบนเกาะสมุย และเกาะพะงัน เต็มหมดแล้ว และยาวต่อเนื่องไปถึงปี 2561 

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวประเทศจีน พบว่ามีสัดส่วนมากสุด ซึ่งมีการเช่าเหมาลำเครื่องบินจากจีนมาจำนวนมาก และจะเข้ามาท่องเที่ยวยาวไปจนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีนปีหน้า ทำให้คาดการณ์ว่าเฉพาะบนเกาะสมุยและเกาะพะงัน น่าจะมีนักท่องเที่ยวข้ามเรือไปกลับจาก 1.2 ล้านคนต่อปี เป็น 1.5 ล้านคนต่อปี 

แม้ว่าในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวจะน้อยกว่าฝั่งอันดามัน เช่น กระบี่ ,ภูเก็ต แต่หากดูในแง่ของการใช้จ่ายต่อหัวต่อคนพบว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวบนเกาะสมุยและเกาะพะงันใช้จ่ายมากกว่า เพราะว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับสูง ซึ่งพวกเขาเต็มใจเสียเงินเพื่อแลกกับความสะดวกสบาย โดยบริษัทให้บริการขนส่งผู้โดยสารจากดอนสัก-เกาะสมุย ประมาณ 32-33 เที่ยวต่อวัน จากดอนสัก-เกาะพะงัน ประมาณ 12 เที่ยวต่อวัน และเกาะสมุย-เกาะพะงัน ประมาณ 5-6 เที่ยวต่อวัน และยังมีการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคข้ามไปยังเกาะต่างๆ  อีกด้วย 

'หุ้นใหญ่' เล่าต่อว่า วางเป้ารักษาการเติบโตปีนี้ 'ระดับ10%' จากการเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ใหม่เพื่อเพิ่มปริมาณผู้โดยสาร โดยบริษัทเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยบริษัทให้บริการรถตู้ไป-กลับ ในเส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี-เกาะสมุย และเกาะพะงัน และมีรถยนต์เชื่อมต่อจากท่าเรือดอนสักไปกรุงเทพฯ รวมทั้งบริการรถวิ่งไปจังหวัดภูเก็ต ,นครศรีธรรมราช ,หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวไปยังสนามบิน โดยรายได้เติบโตราว 10% 

และมีการทำระบบร่วมกับตัวแทนบริษัททัวร์สามารถจองตั๋วเรือเฟอร์รี่ของบริษัทได้ทันทีผ่านโมบายแอพพลิเคชั่นที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ ทั้งจองตั๋วรถตู้  ตั๋วเรือ  ซึ่งในอนาคตรวมที่พักด้วย เรียกว่า 'อาร์พี มาร์เก็ตเพลส' จะเปิดให้ใช้บริการได้ในไตรมาส 1 ปี 2561

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการให้บริการจองตั๋วเครื่องบินของสายการบินไทยแอร์เอเชียด้วย ตอนนี้อยู่ระหว่างการทำออฟฟิศ หากเสร็จจะเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า ซึ่งเพิ่มยอดขายทั้งบริษัทและสายการบิน ไปพร้อมๆ กัน  และสามารถกระตุ้นการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวได้เร็วขึ้นอีกด้วย

'ทุกวันนี้แทนที่จะถามลูกค้าต้องการอะไร แต่กลับเป็นบริษัทต้องคิดให้ลูกค้าและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้ด้วย'  

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนเพิ่มลำเรือในปีนี้อีก  3 ลำ ได้รับมอบมาแล้ว 1 ลำ  อีก 1 ลำ จะรับมอบ 15 ตุลาคมนี้  เพื่อนำมารองรับลูกค้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ทั้งจากฤดูกาลท่องเที่ยวและการเพิ่มช่องทางต่างๆ ของบริษัทแต่ด้วยที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจไม่ดีทำให้บริษัทที่ผลิตเรือน้อยลง กระทบแผนการรับมอบลำเรือของบริษัทสะดุดไปด้วย ดังนั้นจำเป็นที่บริษัทจึงต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของเรือเก่าที่มีมีอยู่  ด้วยการจัดการอัตราความเร็วให้เหมาะสม  ปรับขนาดเรือให้เหมาะกับผู้โดยสาร  เช่น  เรือใหญ่ใช้ช่วงคนเยอะ เรือเล็กใช้ช่วงคนน้อยๆ ทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาดมากที่สุด 

'นอกจากจะหาช่องทางเพิ่มรายได้แล้ว ต้องบริหารต้นทุนรวมให้ลดลง โดยเฉพาะต้นทุนค่าน้ำมัน เป็นต้นทุนหลักของธุรกิจที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา เพราะบริษัทยังมีเรือเก่าที่มีอัตราการใช้น้ำมันสูง 3-4 ลำ จากทั้งหมด 13 ลำ'

อสังหาฯสูตรลงทุน 'ชื่นชอบสุด'

'อภิชาติ ชโยภาส' กรรมการผู้จัดการ บมจ.ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ หรือ RP เล่าให้ฟังว่า นอกจากธุรกิจเดินเรือเกาะสมุย-เกาะพะงัน ที่ยาวนานกว่า 30 ปี แต่อีกส่วนหนึ่งของชีวิตที่มีความผูกผันมาก นั่นคือ “อสังหาริมทรัพย์” ประเภทที่ดินสะสมไว้มากจนตัวเองคำนวณไม่ถูกว่ามีมูลค่าแค่ไหนแล้ว

'มูลค่าที่ดินที่มีอยู่คิดไม่ออก มีกี่ไร่ยังจำไม่ได้เลย ดังนั้นมูลค่าไม่ต้องมาถาม จะรู้เมื่อจะขายเท่านั้น' 

โดยส่วนตัวชื่นชอบและมีความถนัดในการสะสมที่ดินว่างเปล่า เพราะถือคติที่ว่า 'ที่ดินย่อมมีมูลค่าตลอด และไม่มีที่ดินงอกใหม่เพิ่มขึ้นมาได้เหมือนปลูกพืช' ซึ่งในอดีตเคยนำที่ดินของตัวเองมาพัฒนาแต่ลองทำดูกลับไม่ชอบจึงหยุด และปล่อยให้คนอื่นมาเช่าไปพัฒนาเป็นโรงแรม และพลาซ่า ถือว่าสร้างผลตอบแทนได้ในระดับดี

โดยมีที่ดินหลักๆ อยู่โซน กรุงเทพฯ มีที่ดินโรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนห้วยขว้าง จำนวน 31 ไร่ มูลค่าตอนนี้ตกตารางวาละ 1.5 ล้านบาท แต่หากเป็นที่ดินในต่างจังหวัดจะเน้นที่ดินติดทะเล เพราะเอื้อประโยชน์กับการทำธุรกิจเดินเรือ และธุรกิจโรงแรมของครอบครัว ซึ่งเป็นที่ดินที่ซื้อเองบ้าง และเป็นที่ดินที่คุณพ่อซื้อเอาไว้นานแล้วบ้าง เช่น ที่ดินแถวหาดเฉวง เกาะสมุย 1,000 ไร่ เกาะพะงัน สุราษฎร์ธานี และจังหวัดภูเก็ต ส่วนใหญ่จะปล่อยเช่าให้สร้างโรงแรมที่พัก เป็นสวนปลูกพืชไรบ้าง ที่ดินบางพื้นที่ทางครอบครัวมีธุรกิจโรงแรม นำมาพัฒนาเองมีโรงแรมที่เกาะสมุย 5 แห่ง

'ทุกวันนี้ตั้งเป้าหมายชัดเจนคงไม่ซื้อสะสมเพิ่มเติมอีกแล้ว เพราะต้องดูแลรักษาไหนจะภาษีที่ดิน สำคัญที่สุดการมีที่ดินเป็นทุกข์ลาภ มีแล้วจะทำไรถามตัวเองตลอดว่าเอาไปทำอะไร แต่อยากทำให้ที่ดินที่มีอยู่นั้นตอบแทนกลับไปให้คนในพื้นที่ด้วย'