ชาวบ้านลุ่มน้ำอีสานจับตาภาษีน้ำ หวั่นกระทบวิถีชีวิต

ชาวบ้านลุ่มน้ำอีสานจับตาภาษีน้ำ หวั่นกระทบวิถีชีวิต

ชาวบ้านลุ่มน้ำอีสานจับตาภาษีน้ำ เรียกร้องให้รัฐรับฟังความคิดเห็นการจัดการน้ำโดยประชาชนต้องมีส่วนร่วม หวั่นเกิดศึกแย่งชิงน้ำระหว่างเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรม

กรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. …. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สำหรับลุ่มนํ้าท่าจีนและลุ่มนํ้าแม่กลอง โดยได้มีการพิจารณาแล้ว 81 มาตรา จากทั้งหมดมี 9 หมวด 100 มาตรา โดยระหว่างนี้จะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนควบคู่กันไป ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 3 ครั้ง ใน 3 จังหวัดได้แก่ พะเยา ลพบุรี และขอนแก่น

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 12 ต.ค. 60 นายศิริศักดิ์ สะดวก แกนนำจากลุ่มน้ำชี กล่าวว่า ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐมีความพยายามในการผลักดันให้มีร่าง พ.ร.บ.น้ำมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุดมีประเด็นพูดคุยเกี่ยวกับการเสียค่าน้ำ ยิ่งเพิ่มความสับสน ความกังวลให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นอย่างมาก
นายศิริศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย เพราะกระบวนการร่างกฎหมายนั้น ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน จากการติดตามของกระบวนการร่าง พ.ร.บ.น้ำของเครือข่ายลุ่มน้ำอีสาน มีความเห็นว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะต้องถอดถอนร่างพระราชบัญญัติน้ำ เนื่องจากมีเกษตรกรไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นการเก็บภาษีน้ำจากเกษตรกรเพราะจะทำให้เกษตรกรเพิ่มการลงทุน

“มองว่าโครงสร้าง บทบาทของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้างกับทรัพยากรน้ำ ถูกกำหนดไว้แล้ว โดยไม่มีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ถึงแม้ว่าหน่วยงานรัฐจะออกมาระบุว่า จะเก็บภาษีน้ำจากภาคอุตสาหกรรม แต่มองว่าในพื้นที่ภาคอีสานมีการขยายการทำอุตสาหกรรม ทั้งโรงงานไฟฟ้าชีวมวล โรงงานน้ำตาล ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการจัดเก็บ ประกอบกับกังวลว่าจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ เพราะอุตสาหกรรมมีกำลังในการจ่ายค่าน้ำ สามารถซื้อได้ปริมาณมาก ในอนาคตอาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำ เพราะเชื่อว่า พ.ร.บ.น้ำจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่มากกว่า อาจจะทำให้เกษตรกรรายย่อยขาดแคลนน้ำ” นายศิริศักดิ์ กล่าว