แฉ 'ขบวนการเจ้ามอญเก๊' ตั้งมูลนิธิฯหลอกเหยื่อกว่า1,200บริษัท

แฉ 'ขบวนการเจ้ามอญเก๊' ตั้งมูลนิธิฯหลอกเหยื่อกว่า1,200บริษัท

ผู้การกองปราบฯ แถลงจับขบวนการ "เจ้ามอญเก๊" แฉตั้งมูลนิธิฯหลอกเหยื่อกว่า1200บริษัท เผยมีเอี่ยวเพิ่มอีก7รายจ่อออกหมายจับ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 11 ตุลาคม ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พ.ต.อ.ไมตรี ฉิมเฉิด รรท.ผบก.ป., พ.ต.อ.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผกก.4 บก.ป., พ.ต.ท.แมน เม่นแย้ม รอง ผกก.4 บก.ป., พ.ต.ต.ณัฐพงศ์ อำไพจิตร พ.ต.ต.ประเสริฐ หวังบุญสร้าง สว.กก.4 บก.ป. ร่วมกันรับตัว นางสุภัตทา หรือสุพัตทา จันทรรังสี หรือจันทรังสี อายุ 68 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2247/2560 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2560 ข้อหา“ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลปลอม หรือข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน และร่วมกันเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์อันรู้ว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ” ภายหลังเจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2559 เรื่อง ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดบางประการที่เป็นภัยอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายเศรษฐกิจและสังคม อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว เพื่อให้ทางพนักงานสอบสวน บก.ป.ทำบันทึกการรับตัวก่อนนำส่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีต่อไป

พ.ต.อ.ไมตรี กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ มีกลุ่มผู้เสียหายทั้งนิติบุคคล และบุคคล เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่า นับตั้งแต่ปี 2556 ได้ถูกนางสุภัตทา ประธานบริษัท ฮัจยี กรุ๊ป จำกัด ร่วมกับนายคยอ มยิน โอ (Kyaw Myint Oo) หรือเจ้าเทพโยธิน มหาทุน สัญชาติเมียนมา ประธานบริษัท ทิพยูไพล์ จำกัด ซึ่งอ้างตัวมีเชื้อสายเจ้าในรัฐมอญ ประเทศเมียนมากับพวก หลอกลวงให้ร่วมลงทุนโครงการต่างๆ ในประเทศเมียนมา โดยอ้างว่าทางบริษัททั้ง 2 แห่ง เป็นผู้รับเหมาที่ได้รับสัมปทานโครงการใหญ่จากรัฐบาลเมียนมา รวม 78 โครงการ อาทิ โครงการถมทราย ในเมืองเย เมืองปาโอ รัฐมอญ , โครงการขุดลอกคูคลอง จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นโครงการร่วมกิจการระหว่างไทย-มอญ ฯลฯ ก่อนจะหลอกลวงผู้เสียหายที่เป็นบริษัทต่างๆ กว่า 1,200 บริษัท นำเงินมาร่วมลงทุนดังกล่าว แต่โครงการทั้งหมดเป็นเพียงการอุปโลกน์ขึ้น ไม่มีโครงการจริง

พ.ต.อ.ไมตรี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้นางสุภัตทา ยังอ้างตัวเป็นประธานมูลนิธิชื่อดังในประเทศไทย มีการแต่งกายคล้ายข้าราชการตำรวจ รวมทั้งมีการประสานใช้รถนำขบวนเมื่อเวลาเดินทางไปในสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จนทำให้ผู้เสียหายยิ่งหลงเชื่อนำเงินไปร่วมลงทุนเป็นจำนวนมากรวมมูลค่าเสียหายหลายร้อยล้านบาท

ด้าน พ.ต.ท.แมน กล่าวเสริมว่า ภายหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ แล้ว จึงขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหา 3 ราย ประกอบด้วย นางสุภัตทา นายเคียว มิน อู และนายโกสินทร์ จินาอ่อน ก่อนประสานตำรวจ บก.ป. ร่วมสืบสวนติดตามจับกุมผู้ต้องหา โดยทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ สามารถจับกุมตัว นายโกสินทร์ ไว้ได้ ขณะที่ชุดสืบสวน กก.4 บก.ป.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร สามารถติดตามตัวจับกุมนางสุภัตทา ไว้ได้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารจะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.จากนั้นจึงคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน บก.ป.ในวันเดียวกันนี้ ขณะที่ นายเคียว มิน อู หรือเจ้าเทพโยธิน มหาทุน ยังคงหลบหนี

พ.ต.ท.แมน กล่าวอีกว่า จากการสืบสวนสอบสวนยังพบว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเพิ่มเติมเนื่องจากมีการแบ่งหน้าที่ในการหลอกลวงผู้เสียหายหลายส่วน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อขออำนาจศาลออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่ามีอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 7 ราย ส่วนความเชื่อมโยงกับมูลนิธิอาสาบรรเทาภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นั้น เบื้องต้นพบว่ากลุ่มผู้ต้องหาจะอ้างกับผู้เสียหายว่า การดำเนินการผ่านมูลนิธิฯ จะสามารถนำไปยกเว้น หรือลดหย่อนภาษี ได้ นอกจากนี้ยังแจ้งให้ผู้เสียหายสมัครสมาชิกมูลนิธิแห่งนี้ด้วย

พ.ต.ท.แมน กล่าวต่อว่า “การสมัครเป็นสมาชิกมูลนิธิฯ ทางกลุ่มผู้ต้องหาจะอ้างว่ามีการแบ่งระดับตามยอดเงินบริจาค โดยหากบริจาคให้เป็นจำนวน 50,000 บาท จะได้รับยศเทียบเท่า พล.ต. และหากบริจาคเงิน 80,000 บาท จะได้รับยศเทียบเท่า พล.ท.อย่างไรก็ดี สำหรับการพิจารณาดำเนินคดีกับทางมูลนิธิดังกล่าวนั้น ขณะนี้ทางพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน โดยคดีนี้ทางดีเอสไอ เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินคดี ซึ่งมีการทำงานร่วมกับทาง บก.ป.” ส่วนจะมีผู้เกี่ยวข้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในและนอกราชการ หรือพลเรือนรายใดอีกหรือไม่อยู่ระหว่างสอบสวนขยายผล

รอง ผกก.4 บก.ป.กล่าวต่อว่า หากทางผู้เสียหายซึ่งเป็นบริษัท หรือบุคคลใดที่ถูกกลุ่มผู้ต้องหาหลอกลวงได้รับความเสียหาย สามารถเข้าแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีได้ที่กองบังคับการปราบปราม หรือที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ส่วนขั้นตอนหลังจากรับตัว นางสุภัตทา จากเจ้าหน้าที่ทหารแล้วนั้น ก็จะมีการตรวจร่างกายและทำบันทึกก่อนนำส่งให้พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนดำเนินคดีตามขั้นตอน ซึ่งหากพบว่าพยานหลักฐานยังเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายใดอีก ก็จะมีการพิจารณาแจ้งข้อหาเพิ่มเติม รวมทั้งขยายผลไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป