ย้อนตำนาน การลดธงลงครึ่งเสา

ย้อนตำนาน การลดธงลงครึ่งเสา

ธรรมเนียมการลดธงครึ่งเสาเพื่อแสดงความอาลัย รวมถึงเพื่อ "ไว้ทุกข์" ในเหตุการณ์สำคัญ มีความเป็นมาอย่างไร อ่านได้ที่นี่

หนึ่งในแบบแผนธรรมเนียมตะวันตกที่ประเทศไทยนำมาปรับใช้ในพระราชพิธี และรัฐพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ลำดับต้นที่รัฐบาลประกาศนั่นคือ “การไว้ทุกข์” และ “ลดธงลงครึ่งเสา”

การไว้ทุกข์ ปรากฏมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยจะแต่งกายด้วยชุดขาว และโกนผม ต่อมา เมื่อรับอิทธิพลตะวันตก จึงได้มีการกำหนดสีเสื้อผ้าขึ้นใหม่ กล่าวคือ หากผู้ตายมีตำแหน่งทางสังคมสูงกว่า ให้ไว้ทุกข์ด้วยชุดสีขาว หากเป็นตรงข้าม ให้ไว้ทุกข์ด้วยชุดสีดำ

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เครื่องแต่งกายดำ ก็กลายเป็นสีมาตรฐานของการไว้ทุกข์ ดังปรากฏใน “สาส์นสมเด็จ” ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ความว่า “ธรรมเนียมการไว้ทุกข์ เราเอาตามอย่างต่างประเทศทั้งนั้น ของเราเองไม่มี”

สำหรับ “การลดธงครึ่งเสา” นั้นไม่ใช่พระราชพิธี แต่เป็นธรรมเนียมสากลที่รัฐบาลจะประกาศให้หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจปฏิบัติเพื่อแสดงความไว้อาลัย โดยธรรมเนียมลดธงครึ่งเสาจะถูกประกาศให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐ และเอกชนปฏิบัติในช่วงต้นนับตั้งแต่ประกาศการเสด็จสวรรคต 13 ตุลาคม 2559 จนกระทั่งพ้นกำหนด 30 วัน จึงชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาตามปรกติ

ในวาระที่จะครบรอบ 1 ปีของการเสด็จสวรรคตและการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้หน่วยงานต่างๆ ลดธงลงครึ่งเสา ระหว่างวันที่ 13-29 ตุลาคม 2560

บทความนี้จึงเรียบเรียงขึ้นเพื่อร่วมรำลึกถึงความสูญเสียที่พสกนิกรชาวไทยต่างอาลัยในพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ โดยนำเสนอแบบแผนธรรมเนียมการไว้อาลัยโดยลดธงลงครึ่งเสาซึ่งมีที่มาและธรรมเนียมปฏิบัติยาวนานกว่า 4 ศตวรรษ และเมื่อประเทศสยามติดต่อสัมพันธ์กับชาติตะวันตกมากขึ้น การแสดงธงและการลดธงจึงถูกนำมาปรับใช้จนเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่ร่วมกันกับนานาอารยประเทศ 

สำหรับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2559 ไม่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะนานาชาติต่างแสดงความอาลัยร่วมกับพสกนิกรชาวไทยและลดธงลงครึ่งเสาแสดงความอาลัยต่อการเสด็จสู่สวรรคาลัยขององค์พระประมุขแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นการสูญเสียประมุขประเทศ และบุคคลสำคัญของโลกด้วยเช่นกัน

OOOOOOOOOOOO

การประกาศให้สถานที่ราชการลดธงชาติลงครึ่งเสา นับตั้งแต่มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต วันที่ 13 ตุลาคม 2559 สำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้ในวันรุ่งขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2559 ลดธงลงครึ่งเสาเป็นเวลา 30 วัน เป็นการแสดงความไว้อาลัยที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และนับตั้งแต่ไทยประกาศใช้ธรรมเนียมการลดธงลงครึ่งเสาเป็นหลักเกณฑ์ที่สอดรับกับสหรัฐอเมริกาที่กำหนดว่า หากประธานาธิบดีถึงแก่อสัญกรรมในขณะดำรงตำแหน่งจะลดธงลงครึ่งเสา 30 วัน อันเป็นการแสดงสัญลักษณ์แห่งความไว้อาลัยในระดับสากล

ธรรมเนียมการลดธงลงครึ่งเสาถูกกำหนดให้ปฏิบัติกันในบ้านเมืองในโลกตะวันตกมาหลายศตวรรษ จุดเริ่มต้นจากแคนาดาเมื่อนักสำรวจชาวอังกฤษถูกชาวเอสกิโมสังหาร ใน ค.ศ. 1612 ระหว่างสำรวจชายฝั่งตะวันตกของแคนาดา เรือ Heart’s Ease จึงมุ่งหน้ากลับสู่กรุงลอนดอนโดยลดธงลงครึ่งเสา

เมื่อสยามติดต่อสัมพันธ์กับนานาชาติในที่สุดประเทศไทยจึงรับแบบแผนการแสดงธงมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 2 ในการประดับธงกับเรือสัญชาติสยาม เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ที่ใช้ธงรูปช้างเผือก กระทั่งรัชกาลที่ 6 ใช้ธงเป็นแถบสีแดงและขาวสลับกัน ในที่สุดเป็นธงไตรรงค์ สีแดงสลับสีขาว ตรงกลางเป็นสีขาบขนาดกว้างกว่าสองสีแรกและสลับด้านล่างด้วยสีขาวและแดงตามลำดับ

ย้อนตำนาน การลดธงลงครึ่งเสา

สำหรับการกำหนดไว้อาลัยด้วยการลดธงลงครึ่งเสาถูกนำมาใช้เพื่อแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียประมุขหรือบุคคลสำคัญของประเทศ การลดธงครึ่งเสาเพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อการสูญเสียบุคคลสำคัญของประเทศครั้งแรกในสยามเกิดขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อคราวสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีสวรรคต (ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์ สิ้นพระชนม์) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2404 บรรดาฝรั่งลดธงลงครึ่งเสา 3 วัน

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระยาศรีพิพัฒน์หัวหน้าคณะทูตสยามไปเจริญพระราชไมตรียังประเทศฝรั่งเศส มีข้อความว่า

“แม่เพอยนี้ถึงในกรุงเทพฯ ท่านทั้งปวงว่าเป็นเจ้าเล็กเจ้าน้อยก็ดีแต่ในเมืองที่มาทำสัญญาไมตรีแลลูกค้าพาณิชต่างประเทศเป็นอันมากเขานับถือว่าเป็นคนโตคนใหญ่ ตั้งแต่วันสิ้นชีวิตลงแล้ว กงสุลต่างประเทศ บรรดาที่มีธงเขาก็ลดธงครึ่งเสาให้สามวัน เรือกำปั่นที่จอดทอดอยู่ในแม่น้ำทุกลำ

กงสุลก็ป่าวร้องให้ลดธงแลไขว้เชือกแดงสำแดงให้รู้ว่าเศร้าโศกสามวัน...ก็หนังสือนี้จะมาถึงท่านทั้งปวงเมื่อใดที่ตำบลใดก็ยังไม่ทราบ ถ้าได้หนังสือนี้ที่เรือหรือที่บกควรจะยกธงกึ่งเสาเป็นคำนับสามวันหรือเจ็ดวันอย่างไร ก็จงคิดเป็นเกียรติยศแก่ข้าพเจ้าด้วย

หรืออย่างหนึ่งเมื่อข่าวว่ามารดากวีนวิคตอเรียสิ้นชีพแล้วเข้ามาถึงกรุงเทพฯ พวกกงสุลอังกฤษเขายกธงกึ่งเสาสิบสี่วัน แล้วเขาแต่งด้วยเครื่องดำด้วยสิบสี่วัน แต่รายนี้จะทำสามวันหรือเจ็ดวันก็ควรอยู่แล้ว พวกทูตถ้ามีเครื่องดำแต่ง จะแต่งเครื่องดำด้วยก็ตาม พอให้เป็นเกียรติยศ แต่ถ้าจะสำแดงการอย่างนี้จงประกาศการให้ปรากฏก่อน อย่าให้กิตติศัพท์เลื่องลือผิดกลายเป็นตัวข้าพเจ้าเองไปได้ เพราคนในประเทศเป็นอันมาก แลนอกประเทศบางพวก มันนั่งเร่งนอนเร้าข้าพเจ้าอยู่ ท่านก็จะรู้อยู่แล้ว”

จากประโยคที่ยกมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่าบรรดาชาวต่างชาติในพระราชอาณาจักรสยามเมื่อล่วงรู้ข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระราชเทวีซึ่งเป็นพระมารดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าของพระมหากษัตริย์ต่างแสดงความไว้อาลัยด้วยการป่าวร้องให้ลดธงในสถานกงสุลและบรรดาเรือลดธงลงครึ่งเสา จากนั้นมาธรรมเนียมสากลนี้ถูกนำมาใช้ปฏิบัติต่อเนื่อง แต่ประกาศให้คนทั่วไปได้ทราบข่าวเสียก่อน เพื่อเกรงความเข้าใจผิดพลาด และอาจส่งผลต่อความมั่นคง

OOOOOOOOOOOO

ปัจจุบันการลดธงลงครึ่งเสาเพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของบุคคลสำคัญระดับผู้นำประเทศ บรรดามิตรประเทศจะร่วมแสดงความเสียใจ โดยปกติจะกำหนดให้ลดธงครึ่งเสา 3 วัน

การลดธงลงครึ่งเสาคือการเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาแล้วลดระดับธงลงมา 1 ใน 3 ของเสาส่วนในเวลา 18.00 น. ก่อนถึงเวลาชักธงชาติลง 5 นาทีกำหนดให้ผู้ชักธงชาติจะต้องชักธงชาติขึ้นไปสู่ยอดเสา แล้วเมื่อถึงเวลา 18.00 น.จึงชักธงลงจากยอดเสาเมื่อเพลงชาติบรรเลง

ธรรมเนียมการลดธงครึ่งเสามีนัยยะเพื่อเว้นที่ให้แก่ ธงแห่งความตายที่มองไม่เห็น (The Invisible Flag of Death) ได้โบกตระหง่านอยู่บนยอดเสา เป็นการแสดงให้เห็นว่า ความตายนั้นมีพลังอำนาจ การมีอยู่ และการปรากฏของความตายอันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญไม่มียกเว้น

สิ่งที่น่าสนใจ คือ บางประเทศมีธรรมเนียมที่แตกต่างกันไป ธงชาติของซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน อิรัก อัฟกานิสถาน และโซมาลีแลนด์ จะไม่ชักลงครึ่งเสา เนื่องจากบนผืนธงนั้นมีข้อความชะฮาดะฮ์ เป็นคำกล่าวปฏิญาณตนต่ออัลลอฮฺ และ คำว่า ตักบีร แทนคำว่า อัลลอฮูอักบัร แปลว่า ฮัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่ (God is Great) หรือ อัลลอฮฺยิ่งใหญ่ที่สุด (God is (the) greatest) อันเป็นพระนามของฮัลลอฮฺปรากฏบนธง ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้ธงนี้แสดงความอาลัยได้ เนื่องด้วยความเชื่อในศาสนาอิสลามพระอัลลอฮฺทรงเป็นสิ่งสุดสูงไม่มีอื่นใดเหนือกว่าและทุกสิ่งถูกกำหนดขึ้นโดยพระองค์

ขณะที่ธรรมเนียมการไว้ทุกข์และการชักธงของประเทศญี่ปุ่นจะเพิ่มแถบผ้าสีดำอันเป็นการแสดงสัญลักษณ์ไว้ทุกข์ไว้เหนือธงชาติญี่ปุ่น

ย้อนตำนาน การลดธงลงครึ่งเสา

อนึ่ง ในวาระแห่งการสูญเสียพระประมุขของราชอาณาจักรไทย หลังจากแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ในเวลาถัดมาสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ลดธงลงครึ่งเสา และได้ปลดธงชาติของทุกประเทศที่มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ นครเจนีวาลง เพื่อเป็นการถวายความอาลัย เช่นเดียวกับสำนักงานสหประชาชาติในทุกนคร เนื่องด้วยช่วงเวลาแห่งการเตรียมการถวายพระเพลิงพระบรมศพตามโบราณราชประเพณีของประเทศไทยนั้นมักจะกินระยะเวลายาวนานเนื่องจากก่อสร้างพระเมรุมาศ ณ ทุ่งพระเมรุ หรือท้องสนามหลวง อันเป็นพื้นที่โล่ง

สำหรับพระราชพิธีพระบรมศพครานี้กินระยะเวลายาวนานกว่า 1 ปี แต่ถึงกระนั้นความโศกเศร้าก็ยังไม่ได้เลือนหายจากความรู้สึกของพสกนิกร อนึ่ง เมื่อถึงการพระราชพิธีถวายพระเพลิงจึงเป็นอีกหนึ่งวาระที่จะถวายความอาลัยต่อองค์พระภัทรมหาราชของปวงชนชาวไทยในทุกวิถีทางที่แต่ละคนจะสามารถถวายความอาลัย และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

หนึ่งในนั้นคือ การลดธงลงครึ่งเสา ธรรมเนียมไว้อาลัยที่คุ้นเคย และมีเกียรติยศอย่างยิ่งในสากลโลกจะกลับมาปรากฏอีกครั้งในระหว่าง 13-29 ตุลาคม 2560 ตามประกาศของรัฐบาลให้สถานที่ราชการสถานศึกษา สถานที่ทำการของรัฐ ทั้งใน และต่างประเทศลดธงลงครึ่งเสารวม 17 วัน

____________________________

เกี่ยวกับผู้เขียน
วสิน ทับวงษ์ : อดีตบรรณาธิการสังคมและหัวหน้ากองบรรณาธิการ นิตยสารไฮคลาสและสื่อออนไลน์ในเครือ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เป็นหนึ่งในนักวิจัยในโครงการวิจัย ปริทรรศน์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงการวิจัย 100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ในความสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว.