ราชรถปืนใหญ่ ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ  

ราชรถปืนใหญ่  ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ   

เรื่องเล่าประเพณีโบราณเกี่ยวกับราชรถปืนใหญ่ สร้างจากคติความเชื่อแบบพุทธและพราหมณ์

...................

“เป็นพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่10 ให้ดำเนินการจัดสร้างราชรถปืนใหญ่ขึ้นใหม่ เพื่อเชิญพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องจากราชรถปืนใหญ่องค์เดิมชำรุด โดยครั้งนี้สร้างจากการถอดแบบจากราชรถปืนใหญ่ที่ทรงพระโกศพระบรมศพ สมัยรัชกาลที่ 8” ชนะโยธิน อุปลักษณ์ นายช่างศิลปกรรมปฎิบัติงาน สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผู้ออกแบบราชรถปืนใหญ่ กล่าว

ตามประเพณีโบราณ การเชิญพระโกศพระบรมศพ พระศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ ที่ทรงรับราชการทหาร เมื่อครั้งดำรงพระชนม์ชีพ จะใช้ราชรถปืนใหญ่แทนพระยานมาศสามลำคาน (เป็นคานหามขนาดใหญ่ กลางตั้งแท่นทำด้วยไม้สลักปิดทองประดับกระจกสี มีพนักโดยรอบ 3 ด้าน และมีคานหาม 3 คาน)

 ในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ราชรถปืนใหญ่จะเคลื่อนจากพระบรมมหาราชวังสู่พระเมรุมาศ และแห่อุตราวัฏ (เวียนซ้าย) รอบพระเมรุมาศ 3 รอบ

ชนะโยธิน บอกว่า ราชรถปืนใหญ่แบบนี้ ในต่างชาติไม่มี อย่างมากก็ประดับด้วยริ้วธงชาติและดอกไม้ แต่ราชรถปืนใหญ่แบบไทยๆ ทำจากโครงสร้างปืนภูเขาแบบ 51โดยถอดตัวปืนออก ส่วนที่เหลือออกแบบใหม่ทั้งหมด

“การออกแบบตรงนี้ทำตามประเพณีโบราณ มีความเป็นไทย และเป็นที่สุดในโลก ไม่เคยมีราชรถปืนใหญ่แบบนี้มาก่อน ถ้าเป็นราชรถปืนใหญ่แบบดั้งเดิมดัดแปลงมาจากเกวียน แต่ที่สร้างในครั้งนี้ดัดแปลงจากโครงสร้างปืนใหญ่ มีการออกแบบซีกล้อประดับด้วยลวดลายกระจัง ตัวถังประดับลายประจำยาม”

ซีกล้อราชรถปืนใหญ่องค์เดิมจะไม่มีลวดลาย และมีปุ่มน็อตเต็มไปหมด แม้จะเป็นเรื่องยากในการเพิ่มลวดลาย แต่ชนะโยธินก็พยายามใส่ความงดงามด้วยลวดลายไทยให้มีความวิจิตรงดงาม

“หลังจากว่างเว้นจากการใช้ราชรถปืนใหญ่มานาน่กว่า 60 ปี ข้อมูลเรื่องเหล่านี้มีน้อยมาก ผมก็พยายามหาข้อมูล จึงมีการสร้างขึ้นใหม่จากต้นแบบงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งออกแบบโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทุกอย่างเป็นไปตามราชประเพณีโบราณ”

ราชรถปืนใหญ่ในครั้งนี้ ต้องมีความยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ เนื่องจากพระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ 

"ฐานรองรับพระบรมโกศบนแคร่จากขาตรงๆ รูปแบบง่ายๆ เราก็ออกแบบให้เป็นฐานสิงห์ เพื่อแสดงฐานานุศักดิ์ให้สมพระเกียรติ ประดับลวดลายบนซีกล้อและวงล้อ แต่ฟอร์มยังมีลักษณะคล้ายคลึงองค์เดิม

ต้องออกแบบให้สง่างาม มีความเข้มแข็งบึกบึน เพิ่มขนาดบางส่วน แต่รูปลักษณะคล้ายกัน โดยถอดแบบคุณลักษณะพิเศษที่ดีออกมา ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทการใช้และคติความเชื่อ ซึ่งในวันบวงสรวงอัญเชิญราชรถปืนใหญ่ที่ผ่านมา สื่อมวลชนต่างชาติได้เห็นศิลปะไทยๆ ก็ทึ่ง เพราะราชรถปืนใหญ่ของต่างชาติ ไม่ได้ตกแต่งลวดลายแบบนี้ และราชรถองค์เก่าก็ไม่ได้ประดับขนาดนี้”

การใช้ราชรถปืนใหญ่ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สร้างขึ้นตามคติความเชื่อพุทธศาสนาและพราหมณ์

“เป็นการสร้างจากคติความเชื่อการออกพระเมรุในเรื่องไตรภูมิ และจักรวาลวิทยา และความเชื่อทางพราหมณ์ พระมหากษัตริย์ไทย เปรียบเสมือนสมมติเทพ เหมือนองค์พระนารายณ์อวตารลงมา เพื่อปราบทุกข์เข็นบนโลกมนุษย์ อย่างการสร้างพระเมรุมาศก็จำลองตามแนวความคิดในเรื่องจักรวาล  เขาไกรลาศเปรียบเสมือนสถานที่สถิตย์ของพระศิวะ

และอีกนัยยะความเชื่อพราหมณ์ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์์ ซึ่งเปรียบเสมือนองค์พระนารายณ์ ซึ่งกำลังจะเคลื่อนขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ชนะโยธิน บอกว่า เป็นการนำเอาแนวความคิดและคติความเชื่อทั้งพุทธและพราหมณ์มาใช้ในการออกแบบราชรถปืนใหญ่ให้มีพลัง 

ราชรถปืนใหญ่ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทางศูนย์ซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์สายสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก ได้ดำเนินการสร้างราชรถปืนใหญ่ทั้งหมด 3 องค์ ประกอบด้วย ราชรถปืนใหญ่ต้นแบบ (ซึ่งใช้ในการฝึกซ้อม) ราชรถปืนใหญ่สำรอง (มีรูปแบบเหมือนองค์จริง ใช้เป็นองค์สำรอง) และราชรถปืนใหญ่ที่ใช้ในพระราชพิธีฯ 

 โดยในเอกสารบันทึกไว้ว่า พลฉุกชักราชรถปืนใหญ่จะมีประมาณ 40 คน ฉุดชักสายละ 15 คน และมีพลยังอยู่บนราชรถทั้งสองข้าง ซึ่งทางทหารจะเป็นผู้ควบคุมริ้วขบวน และทางทหารอาจมีการเพิ่มจำนวนตามความเหมาะสม

“เราก็มีหน้าที่ออกแบบให้เห็นภาพว่า เวลาฉุดลากราชรถ ทหารมหาดเล็กต้องอยู่ตำแหน่งตรงไหน แม้กระทั่งการยึดโยงพระบรมโกศต้องทำยังไง ก็ต้องอธิบายให้เข้าใจ” ชนะโยธิน กล่าว และบอกว่า ชุดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในหลวง รัชกาลที่10 โปรดให้ใช้เครื่องแบบเต็มยศสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งในงานพระราชพิธีออกพระเมรุครั้งนี้ คนไทยจะได้เห็นริ้วขบวนที่มีความวิจิตรงดงามทางศิลปะ ในรูปแบบแลนด์อาร์ต และจะได้เห็นศิลปะไทยทุกแขนง

“ทำไมเราไปตื่นเต้นกับศิลปะที่ฝรั่งทำ ศิลปะวัฒนธรรมไทยก็มีความยิ่งใหญ่งดงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าศิลปะตะวันตก เพียงแต่คนไทยมองไม่ออก มองแค่เป็นรูปแบบประเพณี แต่ถ้ามองในแง่ศิลปะ คุณจะเห็นความงามหลายอย่าง อย่างลวดลายหน้าบรรณบนตัวโบสถ์ ฝรั่งเห็นแล้วตื่นเต้น บนหน้าบรรณมีทั้งการปิดทอง ประดับกระจก การแกะสลัก และมีการรวมตัวกันของธาตุทางทัศนศิลป์ เส้น สี น้ำหนัก รูปทรงต่างๆ คนไทยมองแค่ว่ามันคือลวดลาย แต่ไม่ได้มองเรื่องศิลปะ"