25 ปี ธิงค์แพด จุดยืน ‘เลอโนโว’ สนามพีซีองค์กร

25 ปี ธิงค์แพด จุดยืน ‘เลอโนโว’ สนามพีซีองค์กร

ท่ามกลางจุดเปลี่ยนและความไม่แน่นอนของตลาด “คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล” หรือ “พีซี” ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการมาของสมาร์ทดีไวซ์อย่างสมาร์ทโฟน แทบเล็ต

หนึ่งในแบรนด์ที่ยังคงสามารถรักษาจุดยืนที่แข็งแรงในฐานะผู้เล่นหัวแถว ทั้งมีความเคลื่อนไหวออกมาไม่หยุดคือ “เลอโนโว” โดยเฉพาะสายผลิตภัณฑ์ “ธิงค์แพด” พีซีสำหรับธุรกิจองค์กรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบตัวเครื่อง สี ปุ่มแทรคพอยต์สีแดงตรงคีย์บอร์ด ขณะเดียวกันได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดมาต่อเนื่อง

ธิงค์แพด ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อราวปี 2535 หรือ กว่า 25 ปี โดย ยักษ์ฟ้า “ไอบีเอ็ม” จากนั้นเปลี่ยนมือมาอยู่ภายใต้ค่ายคอมพ์ยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนเลอโนโวที่ตัดสินใจซื้อกิจการส่วนธุรกิจดังกล่าวมาช่วงปี 2548 กว่าจะมาถึงวันนี้ ความสำเร็จย่อมมีที่มาที่ไป...

หนึ่งในผู้สร้างตำนานธิงค์แพด “อริมาซะ ไนโตะ” รองประธานและคณะสมาชิกบริหาร เลอโนโว กล่าวว่า บริษัทวางตำแหน่งทางการตลาดผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ธิงค์แพดไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นพีซีระดับพรีเมียมสำหรับการใช้งานของภาคธุรกิจ เป้าหมายสำคัญไม่ใช่เพียงนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สู่ตลาด แต่หวังเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จ สามารถก้าวไปถึงเป้าหมายที่วางไว้

“เราต้องการติดอาวุธให้กับองค์กรธุรกิจ และอาวุธชิ้นนี้จะต้องเป็นอาวุธที่ยอดเยี่ยมมากที่สุดด้วย”

บริษัทไม่เคยคิดจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ จากนี้มุ่งทำงานอย่างหนัก วิจัยและพัฒนา รวมถึงทำความเข้าใจเชิงลึกต่อความต้องการของผู้บริโภค ยืนยันได้ว่าก้าวต่อๆ ไปจะได้เห็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาเกิดขึ้น และดียิ่งขึ้นไปอีกแน่นอน

ที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับทั้งการออกแบบ การพัฒนานวัตกรรม คุณภาพ ทำราคาให้สมเหตุสมผล สอดรับไปกับการมาของเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมไปถึงไลฟ์สไตล์การทำงานยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปสู่รูปแบบโมบิลิตี้ มีความเป็นส่วนตัวเข้ามาปะปนมากขึ้นอย่างแยกออกได้ยาก

ล่าสุด เปิดตัว ธิงค์แพดรุ่นพิเศษฉลองครบรอบ 25 ปี “The ThinkPad Anniversary Edition 25” มาพร้อมสีดำที่เป็นเอกลักษณ์ โลโก้หลากสี ปุ่มแทรคพอยต์ หน้าจอ 14 นิ้ว ซีพียูอินเทลคอร์ ไอ7-7500ยู กราฟฟิกเอ็นวิเดีย จีฟอร์ช 940 เอ็มเอ็กซ์

ขณะนี้พร้อมจำหน่ายแล้วทั่วโลกในราคา 1,899 ดอลลาร์ ด้วยจำนวนที่จำกัด เบื้องต้นเอเชียแปซิฟิกได้โควต้า 2,000 เครื่อง โดยจะขายที่สิงคโปร์และฮ่องกงเป็นอันดับแรก ส่วนประเทศอื่นๆ อยู่ระหว่างการพิจารณา

ต้องเข้าใจปัญหา

“เดวิด ฮิลล์” อดีตหัวหน้าทีมออกแบบ ฝ่ายออกแบบ เลอโนโว เปิดมุมมองว่า การออกแบบธิงค์แพดได้รับแรงบันดาลใจมาจากข้าวกล่องญี่ปุ่น หรือ เบนโต๊ะ ที่นอกจากต้องดูแต่ตั้งแต่ตัวกล่องแล้ว เปิดมาต้องทำให้รู้สึกว้าวกับของที่อยู่ภายใน เช่นเดียวกัน การออกแบบผลิตภัณฑ์ของบริษัทหวังแสดงออกให้เห็นถึงความตั้งใจในทุกรายละเอียดทั้งภายนอกและภายใน

โดยมีคำกล่าวหนึ่งที่ชื่นชอบเป็นการส่วนตัวและยึดถือเป็นแนวปฏิบัติมาโดยตลอดคือ การเปลี่ยนแปลงนั้นง่าย ทว่าสิ่งที่ยากกว่าคือการปรับปรุงพัฒนา โดย เฟอร์ดินานด์ พอร์ช

ด้าน “ไบรอัน ลีโอนาร์ด” รองประธานฝ่ายออกแบบ กลุ่มพีซีและสมาร์ทดีไวซ์ เลอโนโว เสริมว่า หลักการสำคัญของการออกแบบผลิตภัณฑ์คือการเข้าไปช่วยลูกค้าแก้ปัญหา ไม่ใช่การประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกมา

“ต้องทำความเข้าใจลูกค้า มีความเข้าใจต่อปัญหา ความต้องการ ความปรารถนา ทุกวันนี้ไลฟ์สไตล์การทำงานเปลี่ยนไป โจทย์สำคัญในฐานะผู้ผลิตคือทำอย่างไรจะสามารถเข้าไปตอบสนองความเปลี่ยนแปลง พร้อมรองรับโลกยุคใหม่ซึ่งต่อไปคอมพิวติ้งจะอยู่รอบๆ ตัวเรา”

จากประสบการณ์สิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด คือ ความสามารถที่ช่วยประหยัดเวลา ใช้งานสะดวก สามารถเชื่อมต่อระบบเครือข่ายได้ดี ที่ขาดไม่ได้ต้องมีความยืดหยุ่นมากพอ

ครบทุกมิติใช้งาน

ขณะที่ “เจอรี่ พาราไดซ์” ผู้อำนวยการบริหารกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่และธุรกิจธิงค์พีซี เลอโนโว กล่าวว่า ไม่มีทางที่คอมหนึ่งเครื่อง หรือหน้าจอเพียงขนาดเดียวจะสามารถตอบโจทย์ได้ทุกการใช้งาน ดังนั้นต้องเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายมากที่สุดให้กับผู้บริโภค

มากกว่านั้น สร้างผลิตผลทางธุรกิจที่มากกว่า รองรับเมกะเทรนด์ทางเทคโนโลยี โอกาสใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับการพัฒนาทางดิจิทัลในหลายๆ อุตสาหกรรม และนับจากนี้บทบาทผู้ผลิตจำต้องสามารถตอบโจทย์ที่มีความเป็นส่วนบุคคลได้มากขึ้น

“เราต้องพร้อมตอบโจทย์ทั้งเชิงฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ การบริการ การใช้งานเฉพาะทาง สำคัญตอบสนองความต้องการเชิงลึกของลูกค้าได้ทุกกลุ่มตลาด”

พีซีเริ่มฟื้น

ด้าน “ลูอิส เฮอร์นานเดส” รองประธาน ศูนย์พัฒนาผลิตภัณแบบบูรณาการ กลุ่มพีซีและสมาร์ทดีไวซ์ กล่าวว่า สภาพตลาดรวมพีซีทั่วโลกเริ่มฟื้นและกลับมาเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะพีซีองค์กร ที่น่าสนใจคือโอกาสใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับการเติบโตของอุตสาหกรรมเกม รวมถึงการมาของเทคโนโลยีเออาร์ วีอาร์ 

ดังนั้น ทิศทางธุรกิจของบริษัทพร้อมเข้าไปโฟกัสกับโอกาสดังกล่าว โดยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ออกสู่ตลาดจะครอบคลุมเดสก์ท็อป โน็ตบุ๊ค เชื่อว่ามีจุดแข็งที่จะก้าวไปข้างหน้าได้ดี อนาคตของพีซีจะต้องมีการพัฒนาการทั้งเชิงคุณภาพ สเปค และที่เข้าถึงรายบุคคล ขณะที่ความท้าทายสำคัญคือเรื่องของซิเคียวริตี้ และความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล

“เรามั่นใจในจุดยืนที่แข็งแกร่ง ด้วยทีมงานคุณภาพ คู่ค้าที่ดี สินค้าครบทุกไลน์ กล่าวได้ว่าอยู่ในตำแหน่งที่ดีอย่างมากที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจองค์กรเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่โลกดิจิทัล”

ปัจจุบัน เลอโนโวมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มพีซีสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ไม่รวมเอสเอ็มบี 

“ดิลิป บาห์เทีย” รองประธานฝ่ายการตลาดนานาชาติ กลุ่มผู้ใช้งานและประสบการณ์ลูกค้า เผยว่า ปักธงการเป็น “ฮาร์ดแวร์ คอมพานี” ไม่มีแผนเปลี่ยนไปเป็น “ซอฟต์แวร์ คอมพานี” เหมือนบริษัทเทคโนโลยีหลายราย เนื่องจากจะได้โฟกัสสิ่งที่เป็นธุรกิจหลักได้อย่างเต็มที่ ส่วนการให้บริการโซลูชั่นรวมถึงซอฟต์แวร์ใช้วิธีการจับมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลกช่วยดูแลและเติบโตไปพร้อมกัน

สำหรับแนวทางการตลาดและจัดจำหน่าย จะมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ตรงกับสภาพตลาดในแต่ละท้องถิ่น อย่างธิงค์แพดมีทั้งแบบที่ขายหน้าร้านค้าปลีก ผ่านตัวแทนจำหน่าย บางประเทศมีขายเฉพาะช่องทางออนไลน์ ด้านความต้องการตลาดทั่วโลกพื้นฐานไม่แตกต่างกันมากนัก จะมีบ้างเช่น เอเชียแปซิฟิกชอบเครื่องบางเบา เครื่องสำหรับเล่นเกม