สืบสาน ‘ลาน’ ล้านนา

สืบสาน ‘ลาน’ ล้านนา

เมื่อต้นลานกำลังจะหายไป งานอนุรักษ์พันธุ์ไม้มีค่าจึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการสืบสานมรดกภูมิปัญญาล้านนา

ไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้เห็น‘ดอกลาน’บานสะพรั่ง ยิ่งเป็นกลางเมืองเชียงใหม่ด้วยแล้วยิ่งสร้างความแปลกตาให้กับผู้พบเห็นอย่างมาก และแม้ว่าวันนี้ดอกลานจะร่วงหล่นต้นลานเหี่ยวเฉาตามวัฏจักร แต่หน่ออ่อนทางความคิดที่ผุดขึ้นมาพร้อมๆ กับเมล็ดที่เริ่มผลิต้นใหม่แทนที่ ก็คือโครงการ “ปลูกลาน ปลูกหมาก ฝากไว้กับแผ่นดิน”

“หลังจากโพสต์ภาพลานกำลังยืนต้นตาย บริเวณแจ่งหัวรินลงไปในสื่อโซเชียลก็เกิดคำถามขึ้นมากมาย บางคนไม่รู้จักต้นลาน บางคนเสียดายที่มันกำลังตาย แต่ที่น่าดีใจก็คือมีคนอาสาเสาะหากล้ามาให้ซึ่งหายากมาก กลายเป็นปรากฏการณ์ของผู้คนที่รักเมือง ชักชวนกันมาปลูกต้นลานแทนต้นแม่ที่กำลังจะตาย” ชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานมูลนิธิสืบสานล้านนา เล่าถึงที่มาของแนวคิดในการปลูกต้นลานที่วัดและสถานที่สำคัญในจังหวัดเชียงใหม่

อย่างที่ทราบกัน ต้นลานจะออกดอกเมื่อมีอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป โดยทั่วไปจะออกเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นลำต้นจะเหี่ยวเฉาตาย ส่วนเมล็ดที่ตกลงบนพื้นดินก็ค่อยๆ แทงยอดออกมาเกิดเป็นต้นลานต้นใหม่แทนที่ต้นเดิม จนมีคำกล่าวขานกันว่า ต้น“ลูกฆ่าแม่”

แม้ฟังดูน่าเศร้า ทว่า นี่คือกลไกตามธรรมชาติที่ไม่ได้ทำให้ต้นลานสูญหายไปจากโลกใบนี้ เพียงแต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพื้นดินต่างหากที่ทำให้ ‘ลาน’ ค่อยๆ หายไปจากเมือง

“เมื่อก่อนลานเป็นสิ่งคู่กับวัด แต่ปัจจุบันเมื่อไม่ได้ใช้งาน บวกกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป พื้นที่ตามวัดสมัยใหม่เป็นปูน พอลูกตกลงไปมันก็ไม่เกิดต้นใหม่ แล้วก็มีเรื่องของการบริโภค มีคนมาขอซื้อลูก มาเก็บไป มันก็หายไป” ดิเรก อินจันทร์ นักวิชาการศูนย์ใบลานศึกษา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวและว่า น่าเสียดายหากคนรุ่นหลังจะไม่รู้จักและไม่เข้าใจว่าใบลานสำคัญกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมในอดีตอย่างไร

คัมภีร์ใบลาน วัฒนธรรมการบันทึก

ย้อนหลังกลับไปในวันที่ยังไม่มีการผลิตกระดาษมาใช้สำหรับการจดบันทึก ใบลานคือวัสดุสำคัญในการจดจารเรื่องราวโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาของผู้คนในดินแดนแถบนี้

“การบันทึกหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าลงบนใบลานนั้นปรากฏเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ.433 ที่ลังกา เมื่อมีการเผยแผ่พุทธศาสนามายังดินแดนแถบนี้ ไม่ว่าจะเป็นในล้านนา ในประเทศไทย หรือในเอเชีย ดินแดนที่รับพุทธศาสนามาจากอินเดียและลังกาจึงได้รับวัฒนธรรมการบันทึกพระไตรปิฎกลงในใบลานเข้ามาด้วย” อ.ดิเรก ให้ข้อมูล ก่อนจะอธิบายต่อว่า

วัฒนธรรมใบลานสะดวกสำหรับผู้คนในยุคนั้น อีกทั้งยังมีความคงทน โดยหลักฐานที่ค้นพบว่ามีความเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ คือคัมภีร์ใบลานอายุกว่า 550 ปี ซึ่งยังอยู่ในสภาพดี เก็บรักษาไว้ที่วัดไหล่หิน จ.ลำปาง

“วัฒนธรรมการบันทึกเอกสารต่างๆ ส่วนมากจะเกี่ยวกับศาสนา พระเณรที่มาจารใบลาน หลักๆ ก็คือเรื่องหลักคำสอนในพระศาสนา แต่บางทีก็มีจารเรื่องโหราศาสตร์ ความรู้ ตำรายาต่างๆ เมื่อก่อนเฉพาะในภาคเหนือจะแบ่งได้ชัดเจนว่า ใบลานที่มีขนาดยาวนิยมจารเรื่องราวที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา แต่ถ้าเป็นลานขนาดสั้นก็เป็นเหมือนบันทึกส่วนตัว”

และแม้วัฒนธรรมการจารใบลานจะพบในหลายท้องถิ่น แต่ความแตกต่างซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา คือการใช้ลานที่เรียกกันว่า ‘ลานวัด’

“ลานที่พบในภาคเหนือที่ปลูกตามวัดต่างๆ เป็น ลานวัด ทางพฤกษศาสตร์บอกว่าเป็นลานที่นำเข้ามานานแล้ว จากอินเดียใต้ ศรีลังกา เชื่อว่านำเข้ามาหลังจากพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามา ใบของลานชนิดนี้จะมีความกว้าง และหนากว่าใบลานที่เป็นลานป่า เหมาะกับการจารมากกว่า เพราะเวลาใช้จริงต้องเอามาทำเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมก่อนจะนำไปต้มและผ่านขั้นตอนต่างๆ ตามภูมิปัญญาแต่โบราณเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน”

สำหรับต้นลานที่พบในประเทศไทยมี 3 ชนิด คือ ลานพรุ พบในแถบภาคใต้, ลานป่า หรือ ลานทุ่ง จัดเป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของไทยพบได้ทั่วไป และ ลานวัด ที่บางคนเรียกว่า ลานบ้าน หรือ ลานหมื่นเถิดเทิง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corypha umbraculifera L. เป็นปาล์มชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีถิ่นกำเนิดในประเทศศรีลังกาและอินเดีย ไม่พบตามธรรมชาติในประเทศไทย แต่มีการนำมาเพาะปลูกในภาคเหนือ ลักษณะเด่นคือมีใบกว้าง นิยมนำมาจารเป็นคัมภีร์

“ลานวัดเป็นพันธุ์ไม้ซึ่งแต่ก่อนมีความสำคัญกับวัฒนธรรมล้านนาค่อนข้างมาก เกี่ยวกับพุทธศาสนา ชัดเจนว่าเราเอาใบลานมาบันทึก แล้วพระเณรก็เอามาเทศน์ เชื่อกันว่าเวลาถวายคัมภีร์ธรรมก็ได้อานิสงส์ จารใบลานก็ได้อานิสงส์ เหมือนเราพิมพ์หนังสือเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนก็ได้อานิสงส์” อ.ดิเรก ชี้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ต้นลาน

ปลูกลาน สานต่อมรดกล้านนา

ปัจจุบัน แม้ว่าคัมภีร์ใบลานจะยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ในวัดสำคัญหลายแห่ง แต่หากจะหาคนที่รู้กรรมวิธีในการเตรียมใบลาน รวมถึงการจารใบลานนับว่าเหลือน้อยเต็มที เช่นเดียวกับต้น ‘ลานวัด’ ที่กลายเป็นพันธุ์ไม้หายากไปแล้ว

เหตุนี้ โครงการ “ปลูกลาน ปลูกหมาก ฝากไว้กับแผ่นดิน” โดยมูลนิธิสืบสานล้านนา ศูนย์ใบลานศึกษา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และ “Spark U Chiang Mai” จึงได้ร่วมกับวัดสำคัญหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ปลูกต้นลานและต้นหมากเพื่อเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติและสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมไปพร้อมกัน โดยนอกจากต้นลานซึ่งมีความสำคัญดังที่กล่าวมาแล้ว ต้นหมากถือเป็นไม้มงคลอีกอย่างหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญคู่วิถีชีวิตชาวล้านนาในด้านพิธีกรรมความเชื่อตามจารีตประเพณี ใช้ทำเป็นเครื่องสักการบูชาประดับขันแก้วทั้งสามเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

พระเทพปริยัติ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอด เล่าว่าสมัยก่อนการเขียนธรรมะใช้ใบลานทั้งนั้น ขณะที่ต้นหมากก็ผูกพันกับวิถีและวัฒนธรรมล้านนามาแต่โบราณ นอกจากนำมาบริโภคแล้วยังใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น การยกขันตั้งครู การตกแต่งเครื่องครัวทาน การที่ได้ร่วมใจกันเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไม้หายากและเป็นพันธุ์ไม้ที่อยู่ในศาสนาจึงเป็นเรื่องที่ดี

ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2560 มีต้นลานที่หยั่งรากลงในผืนดินเชียงใหม่แล้ว 51 ต้น ต้นหมากจำนวน 525 ต้น โดยในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งได้รับความร่วมมืออย่างดีทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป

สำหรับกล้าลานที่นำมาปลูกในโครงการนี้ ชัชวาล ทองดีเลิศ บอกว่า ได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งได้ทำหนังสือขอกล้าลาน(วัด)จากสวนจิตรลดา โครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 50 กล้า โดยต้นกล้ามีอายุ 2 ปี เริ่มปลูกกันที่วัดเจ็ดยอดเป็นแห่งแรก เนื่องจากเป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกของโลกในปี พ.ศ.2020 จากนั้นทยอยปลูกตลอดช่วงเข้าพรรษาจนสิ้นสุดโครงการในวันออกพรรษา ซึ่งหลังจากนี้จะมีการติดตามให้เกิดการดูแลทุกต้นที่ปลูกไปแล้ว พร้อมๆ กับชวนกันปลูกต่อไป ไม่เฉพาะแต่ต้นลาน ต้นหมาก แต่ยังรวมถึงต้นไม้อีกหลากหลายชนิดในพื้นที่ที่เหมาะสม

การปลูกต้นไม้ไม่ว่าชนิดใดย่อมเป็นเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง แต่สำหรับพันธุ์ไม้อย่างหมากกับลานนั้นมีความหมายที่สัมพันธ์กับวิถีวัฒนธรรมล้านนาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งในมุมมองของนักวิชาการ-ใบลานศึกษา อย่างอ.ดิเรก อยากให้คนทั่วไปมองให้ลึกลงไปมากกว่าการเป็นไม้ประดับ

“ก่อนหน้านี้พืชทั้งสองชนิดมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนในอดีต แม้ว่าปัจจุบันคนทั่วไปอาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ แต่ก็อยากให้รู้ว่ามันมีประโยชน์ทั้งในแง่ของพุทธศาสนา องค์ความรู้ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม ดังนั้นแทนที่จะปลูกต้นไม้อื่นในวัด การปลูกลานปลูกหมากย่อมมีความหมาย”

แม้ดอกลานจะร่วงหล่น แต่ต้นลานยังเติบโต ให้ร่มเงา และใบลานจะทำหน้าที่สานต่อมรดกทางวัฒนธรรมให้ยังคงอยู่ต่อไป