‘เหง้ามันชาโคล’ ตีตั๋วชิงแชมป์คลีนเทค

‘เหง้ามันชาโคล’ ตีตั๋วชิงแชมป์คลีนเทค

ต้อม คาซาว่า (Tom Casava) จ.กาญจนบุรี ใช้คลีนเทคโนโลยีแก้ปัญหาเหง้ามันสำปะหลัง ของเหลือทิ้งทางการเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์ถ่านชาโคลราคาสูง คว้ารางวัลชนะเลิศนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด ตีตั๋วไปชิงรางวัลระดับโลกที่สหรัฐ

ผู้ผลิตตั้งเป้าจะสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ถ่านชาโคลเหง้ามันสำปะหลัง 100 ล้านบาท สร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร และมีโอกาสทางการตลาดที่จะโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็หวังที่จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการโลกร้อน โดยตั้งเป้าลด 5 หมื่นตันในปี 2561

ถ่านชาโคลจากเหง้ามัน

“เหง้ามันสำปะหลัง” ของเหลือทิ้งทางการเกษตรที่หากปล่อยทิ้งก็จะสร้างปัญหาเชื้อราในดิน จึงต้องกำจัดด้วยการเผาทำลายปีละกว่า 5.5 ล้านตัน สร้างปัญหาสภาพแวดล้อมและก๊าซเรือนกระจก “พลอยฉัตรชนก วิริยาทรพัน” ผู้ก่อตั้ง “ต้อม คาซาว่า” ใช้ความชำนาญเรื่องของมันสำปะหลังมาช่วยเปลี่ยนของเสียเป็นรายได้เพิ่ม

เธอเริ่มตั้งแต่เปลี่ยนใบมันสำปะหลัง ที่เป็นขยะจากไร่มันและโรงแป้งมันที่สร้างปัญหาเรื่องกลิ่นมาหมักเป็นอาหารสัตว์ แล้วเชื่อมโยงกับสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์ให้รับซื้ออาหารสัตว์จากใบมัน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน กระทั่งต่อมามองเห็นปัญหาการเผาทำลายเหง้ามันฯ จึงเริ่มวิจัยและพัฒนาเพื่อเปลี่ยนให้เป็นเชื้อเพลิง

ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาเตาเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพในการเผาได้สูงถึง 1 พันองศาเซลเซียส โดยมีกระบวนการพิเศษที่ทำให้เหง้ามันฯ ในระดับความร้อนดังกล่าวไม่สลายหายไปเหมือนที่เตาเผาธรรมดาทำ แต่กลายเป็นถ่านชาโคล (Activated Chacoal) ภายใน 20 นาที

ถ่านชาโคลเหง้ามันฯ มีจุดเด่นที่ไม่มีสารเคมีใดๆ เป็นวัตถุดิบที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในขณะเดียวกัน “ต้อม คาซาว่า” ก็พัฒนาผลิตภัณฑ์จากถ่านชาโคลทั้งของใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง สบู่ถ่าน ถ่านดูดกลิ่น รวมถึงเม็ดถ่านฟอกอากาศสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม โดยทดสอบประสิทธิภาพในโรงงานและเริ่มมีความต้องการใช้งานเข้ามาแล้ว

พร้อมอวดที่ซานฟรานฯ

ต้อม คาซาว่า ได้รับรางวัลชนะเลิศ สาขานวัตกรรมการใช้ของเสียเป็นพลังงาน โครงการ GCIP THAILAND ปี 2559 หรือโครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดโอกาสใหม่ของธุรกิจเอสเอ็มอี โดยความร่วมมือของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การยูนิโด

โครงการนี้ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ริเริ่มธุรกิจหรือสตาร์ทอัพ ได้คิดค้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสะอาดของประเทศ ด้วยหวังให้เกิดความสนใจและการสร้างหรือพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดของไทยให้เพิ่มขึ้น กระทั่งเกิดเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดของประเทศได้ต่อไป

โครงการมุ่งเน้นใน 6 ด้าน ได้แก่ การใช้งานพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ของเสียเป็นพลังงาน พลังงานทดแทน นวัตกรรมด้านงานก่อสร้าง และนวัตกรรมขนส่ง

หลังจากรับเงินมูลค่า 30,000 ดอลลาร์หรือราว 1 ล้านบาทในงาน Thailand Tech Show 2017 พร้อมตั๋วที่จะพาทีมต้อม คาซาว่า เข้าร่วมงาน CleantechOpen Global Forum เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐ ในเดือน ก.พ.ปีหน้า พลอยฉัตรชนกชี้ว่า มีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม พร้อมเตรียมที่จะเติมศักยภาพของทีมให้ตอบโจทย์ตลาด และประทับใจคณะกรรมการ

“ปีที่แล้ว มาเลเซียได้รางวัลชนะเลิศ แต่ปีนี้เราอยากจะพาทีมไทยไปคว้ารางวัลนั้น นอกจากสร้างชื่อเสียงแล้วยังจะนำเงินรางวัลมาพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย”