ชาย ศรีวิกรม์ นายอำเภอแห่งย่านราชประสงค์

ชาย ศรีวิกรม์ นายอำเภอแห่งย่านราชประสงค์

การบริหารย่านเศรษฐกิจ ไม่เพียงแนวคิดทางธุรกิจเท่านั้น แต่ "อุดมการณ์" ที่มีร่วมกัน และผู้นำย่านซึ่งทำงานราวกับ "นายอำเภอ" จะช่วยขับเคลื่อนย่านไปข้างหน้าได้

การรวมตัวของผู้ประกอบการในย่านราชประสงค์ ผลักดันให้เกิดโครงการที่สร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างให้แก่เมืองและธุรกิจในย่าน ตั้งแต่โครงสร้างสาธารณะอย่างทางเดินลอยฟ้า ที่เชื่อมการคมนาคมระบบรางเข้าสู่อาคารธุรกิจต่างๆ เอื้อต่อการสัญจรของผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาในย่าน แม้ผู้ริเริ่มจะเป็นหน่วยงานรัฐ แต่หากขาดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมของกลุ่มเอกชนในย่าน ก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้ ไปจนถึงถึงกิจกรรมต่างๆ ในย่าน ก็กลายเป็นต้นแบบที่น่าจับตามอง

แต่ความเคลื่อนไหวที่ซึ่งเกิดจากความร่วมมือในนามสมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจในย่านราชประสงค์นั้น มีมากไปกว่าการดำเนินธุรกิจ แต่ที่จริงแล้วพื้นฐานคือการบริหารเมือง ให้มีโครงสร้างทั้งที่เป็นสิ่งก่อสร้างและการใช้พื้นที่ในย่านให้มีประสิทธิภาพ แต่ก็มิเพียงเรื่องของเมืองอีก เมื่อถามชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ ถึงสิ่งที่ขับเคลื่อนย่านราชประสงค์อยู่ เขาตอบทันทีว่า

“เป็นเรื่องของอุดมการณ์ ที่เรามีร่วมกัน”

ชาย ศรีวิกรม์ นายอำเภอแห่งย่านราชประสงค์

ความปลอดภัยนำไปสู่ย่านที่ดี

นายกสมาคมฯ บอกว่าต้องขอบคุณทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่จุดวิสัยทัศน์การสร้างย่านชอปปิ้งสตรีทขึ้นมาในช่วงปี พ.ศ. 2538 และวางแผนไว้เป็นที่ย่านราชประสงค์ เชื่อมโยงกับดิวตี้ฟรีที่อยู่ชั้นบนสุดของ World Trade Center ในขณะนั้น (Central World ในปัจจุบัน) ซึ่งในตอนนั้นทางททท.ได้เชิญที่ปรึกษาด้านการออกแบบเมืองมาทำงานนี้ ทำให้ชาย ศรีวิกรม์ได้เรียนรู้เรื่องการออกแบบและวางแผนเมือง และเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ต้องจับมือกันระหว่างผู้ประกอบการในย่าน ระดมทุนช่วยให้โครงการสกายวอล์คสำเร็จขึ้นมา จากการร่วมมือกันครั้งนั้น นำไปสู่การก่อตั้งเป็นสมาคมในภายหลัง  และชาย ศรีวิกรม์ก็เริ่มมองการพัฒนาย่านในมุมมองของการพัฒนาเมือง มากกว่าการผลักดันแต่เพียงธุรกิจอย่างเดียว

เขายกตัวอย่างการดูแลย่าน อย่างเรื่องความปลอดภัยขึ้นมา

“หลังจากสร้างสกายวอล์คเชื่อมกันหมดแล้ว ก็เกิดปัญหานักท่องเที่ยวถูกขโมยกระเป๋า เราจึงต้องติดกล้อง CCTV ตามถนนต่างๆ พอผมพูดเรื่องขึ้นมาตอนแรก ประมาณ 10 ปีที่แล้ว ให้ทุกคนติดกล้องหน้าตึกคนละตัว ไม่มีใครสนใจเลย แต่ปลายปีนั้นมีวางระเบิดเกิดขึ้น จนเราต้องหยุดการจัดงานเคานท์ดาวน์ หลังจากนั้นทุกคนโทรหาผม พร้อมติด CCTV แล้ว ต้องมีปัญหาทุกคนถึงจะตื่นตัว แต่เราก็พร้อมที่จะรวมตัวกันทำ”

ถึงตอนนี้กล้อง CCTV ตลอดทางสกายวอล์ค (ซึ่งปัจจุบันรวมเรียกว่า R Walk) และหน้าอาคารที่เป็นจุดเชื่อมมีรวมกัน 120 ตัว ส่งสัญญาณเชื่อมหากัน มีห้องควบคุมศูนย์กลางที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ดูกล้องทุกตัว ตรวจสอบการทำงานของกล้องให้ใช้งานได้ 24 ชั่วโมง และกล้องเหล่านี้แหละที่จับภาพผู้ก่อเหตุวางระเบิดที่ศาลพระพรหมเมื่อปี 2558 จนนำไปสู่การจับกุมได้

ย่านสำคัญ ตัวประกันทางการเมือง

นอกจากพื้นที่ที่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างถนนราชดำเนิน ย่านเศรษฐกิจสำคัญของประเทศกลายเป็นตัวประกันมูลค่าสูงในการต่อสู้กันของการแย่งขั้วอำนาจทางการเมือง เพื่อให้รัฐอยู่เฉยไม่ได้ การเข้ายึดพื้นที่สี่แยกราชประสงค์ของไม่ว่าขั้วไหน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อปากท้องของคนทำงานในย่านนั้น แต่เหตุการณ์หลายครั้งรัฐก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

 “จริงๆ แล้วผมอยากติดป้ายเลยด้วยซ้ำ ว่าที่นี่คือเขตปลอดการเมือง”

แต่ในเมื่อเป็นเช่นนั้นไม่ได้ ชาย ศรีวิกรม์จึงกลายมาเป็นผู้นำย่านในอีกรูปแบบหนึ่ง เริ่มตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการในปี 2553

“เราเริ่มศึกษาว่าทำอย่างไรดี เราดูความเดือดร้อน แล้วตั้งโต๊ะเจรจากับตำรวจ กับแกนนำ แล้วก็ไปคุยกับรัฐมนตรี ซึ่งเขาว่าเขาไม่ช่วยคนรวยหรอก ผมก็บอกว่าไม่ต้องช่วยผม แต่คุณต้องช่วยคนที่ตกงาน 40,000 กว่าคน เพราะ ลูกจ้างร้านค้าเหล่านี้เขาอยู่ไม่ได้หรอก เดือนแรกยังพอไหว แต่ 3 เดือน เขาไล่คนออกหมดแล้ว คุณจะช่วยเขาอย่างไร

“เราทำทะเบียนเงินเดือน คนตกงาน พนักงานรายวันของธุรกิจในย่านนี้ทั้งหมด เขาเข้ามาหาเราหมด มีคนมาลงทะเบียนกว่า 40,000 คน เราก็เอารายชื่อไปยื่นต่อรัฐบาลให้มีมาตรการช่วยเหลือ เราไม่ได้คิดว่าต้องเป็นหน้าที่เราหรือเปล่า แต่เราอยากช่วย นี่ก็เลยทำให้เราสามัคคีกันมากขึ้น ทุกคนก็เลยยิ่งเชื่อเครดิตพวกเรามาก” นอกจากดูแลกลุ่มธุรกิจในย่านราชประสงค์แล้วยังไปถึงย่านข้างเคียงที่ได้รับผลกระทบ

“วิกฤติทำให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เกิดความศรัทธาระหว่างกัน หลังจากนั้นพอสมาคมเรียกประชุมปั๊บมาเลย เพราะเขารู้ว่าเราทำอะไรที่ช่วยเหลือแก้ปัญหาให้ส่วนรวม ผมเลยเหมือนเป็นนายอำเภอในย่านนี้ ทุกคนมีปัญหาวิ่งมาหาผม ไม่ว่าจะไฟไหม้หรือน้ำท่วม สมาคมฯ ก็ช่วยดูแล วางแผน แก้ปัญหา เจรจากับกทม. นี่คืองานเบื้องหลังอีกด้านที่สมาคมฯ ทำ”

เครือข่ายที่แข็งแกร่ง

ความร่วมมือเป็นเครือข่ายที่เหนียวแน่น ทำให้มีความคล่องตัวในการทำงานต่างๆ ฝั่งราชการเองก็ให้ความสำคัญ “เช่น ตำรวจมีการแชร์ข้อมูลเรื่องลิสต์อาชญากรข้ามประเทศ ให้เราจับตาดูในย่าน ฝ่ายความมั่นคงก็เรียกเราเข้าประชุม ททท.ก็ทำเรื่องการท่องเที่ยวกับเรา กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ทำงานร่วมกัน และเกิดภาพรวมในราชประสงค์ขึ้น เกิดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ขึ้นมามากมาย ผลที่เราทำได้จนถึงภาพนี้ ก็ต้องขอบคุณททท. ที่ให้วิชั่นนี้มา เพราะหลังจากวิชั่นนี้ ก็เกิดสิ่งนี้”

การทำงานร่วมกันทั้งหมดนี้มีจุดประสงค์คือต้องการให้โมเดลของราชประสงค์ เป็นต้นแบบให้กรุงเทพมหานคร สามารถเอาโมเดลนี้ไปทำที่อื่นได้

ชอบรูปนี้_1

คนคือกลไกในการสร้างอุดมการณ์

ต่อให้มีทางเชื่อมอย่างดี มีกล้อง CCTV กว่าร้อยตัว แต่ความเป็นย่านที่สะดวกสบายและปลอดภัยจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะ “คน” เท่านั้น

“เรามีรปภ. ชุดสีเขียวของเราเดินในย่าน ดูแลความปลอดภัย มีการทำงานเชื่อมกัน ถ้าเกิดเหตุการณ์วิ่งราวตรงโน้น วิ่งมาตรงนี้ เราจะจับภาพพร้อมกันเลยว่าคนนี้อยู่ตรงไหน คุณช่วยจับกุมด้วย ส่งไปให้ตึกแต่ละตึก ระวังคนนี้นะ เราทำงานอย่างนี้เลย ถ้าขโมยที่เซ็นทรัลเวิร์ล วิ่งมาเกษร มาจับตรงนี้ เราทำมาแล้วนะครับ ฉะนั้น อัตราอาชญากรรมในย่านเราลดลงมากนะครับ

“นอกจากนี้ รปภ. เราจะได้ประชุมกับตำรวจ ดูภาพผู้ต้องสงสัย ถ้ามีเข้ามาในย่าน ก็รายงานได้ หรือคนที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย รปภ. เราจะประกบเลยนะครับ ขอให้อธิบายตัวเอง ท่านมาจากไหน ท่านไปที่ไหน คุยอย่างสุภาพนะ แต่ให้เขารู้ว่าเราดูท่านอยู่นะ แม้แต่แม่บ้าน เขาก็รายงาน หน้านี้มาอีกแล้วค่ะ เขาก็จะแจ้งมา เราทำงานลักษณะนี้กัน นี่เป็นเรื่องของชุมชนที่เราสร้างนิสัยขึ้นมาให้ช่วยกันดูแล

“จริงๆ แล้วสิ่งที่เรามีร่วมกันก็คืออุดมการณ์ ‘คน’ สำคัญที่สุด อย่างเรื่องความปลอดภัยของคนในย่าน เรามีเครื่องมือก็จริง แต่เครื่องมือก็เป็นแค่เครื่องมือ เอาไว้ดู แต่ความคิดต่างๆ อยู่ที่คน ระบบปฏิบัติการอยู่ที่คน เป็นกระบวนการที่เราสร้างขึ้นมา  สำคัญที่สุดเราต้องพัฒนาคน มันจึงเป็นย่านที่ยั่งยืนได้

วิสัยทัศน์สู่ยุคใหม่

ในระหว่างทางของการพัฒนาย่านราชประสงค์ให้กลายเป็น “ดาวน์ทาวน์” ที่ทัดเทียมกับดาวน์ทาวน์ระดับโลกได้ การพัฒนาธุรกิจของทางเกษรเองก็ยังเชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ ชาย ศรีวิกรม์บอกว่าตอนนี้สิ่งที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงเราก็คือการมาถึงของเศรษฐกิจดิจิทัล แต่การที่จะพูดถึง Digital Economy ตอนนี้ก็ออกจะล้าสมัยไปเสียแล้ว

“ตอนนี้เรามองไปไกลกว่านั้นเราเริ่ม Artificial Intelligence Economy แล้ว มองถึง AI ซึ่งมันเรียนรู้ได้ ฉะนั้น การจะทำให้เกิด คุณต้องมีระบบ Sensing Systems ที่ดีมากในย่าน ตอนนี้เราก็พัฒนาเรื่องการประหยัดพลังงาน เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เรานำเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ที่วัดอุณหภูมิภายนอกภายใน แล้วไปปรับแอร์คอนดิชั่นให้เหมาะสม ฉะนั้น สามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 20 เปอร์เซนต์ เทียบกับอาคารสมัยก่อน นี่คือตัวอย่าง ต้องมีระบบตรวจจับวัดได้ ซึ่งเราได้วางโครงสร้างไปบ้างแล้ว

เขายกตัวอย่างข้อมูลจาก CCTV ที่นำมาใช้เรื่อง Traffic Flow ตรวจจับออกมาเป็นข้อมูลอัจฉริยะ สามารถบริหารการจราจรในย่านได้ การเข้าออกของรถแต่ละตึก ว่าขณะนี้การจราจรในถนนเป็นอย่างไร แต่ละห้างสามารถปล่อยรถออกได้กี่คัน กี่นาที ต้องรอนานแค่ไหน ส่งเป็นข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่น ที่ทั้งเจ้าหน้าที่นำไปใช้ในการปล่อยรถ และผู้บริโภคสามารถดูเพื่อตัดสินใจว่าจะรอ หรือออกจากห้างตอนไหน นี่คือตัวอย่างที่เกิดขึ้นแน่นอน

“เรานำ Big Data มาใช้ได้อีกมาก เช่น ต่อไปสามารถดูโปรไฟล์ของคน แยกแยะได้ว่าหญิงชาย อายุเท่าไหร่ โฟลวของคนแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร เราสามารถดูแลอะไรได้บ้าง เราพร้อมแล้วที่จะเข้าไปสู่ Artificial Intelligence Economy”

ดิจิทัลกระทบทุกอุตสาหกรรม ในส่วนของค้าปลีกก็ต้องมีการปรับตัวอย่างหนักเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ และบทบาทของศูนย์การค้าก็เปลี่ยนไปแล้ว

“ห้างสรรพสินค้าจะกลายเป็นโชว์รูม และเป็น Social Meeting Place ให้คนไปนัดเจอกัน ไปดู ไปลองของจริง แล้วซื้อออนไลน์ พื้นที่ห้างจะกลายเป็นสถานที่ที่สร้างประสบการณ์”

ห้างเกษรวิลเลจ พัฒนาบนคอนเซปท์ Experiential Space เช่นกัน “ฉะนั้น จึงมีทติ้งพอยท์เยอะ ในรูปแบบแตกต่างกัน ทั้งร้านอาหาร หรือทางเดินที่เป็น Cocoon ระหว่างตึกก็เป็นจุดนัดพบ นั่นคือสิ่งที่เราเห็นจากพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งสำนักงานแบบใหม่ ที่มีขนาดและเลย์เอาท์หลากหลาย มีมิติของการปฏิสัมพันธ์ สร้างพื้นที่ในการพบปะ แลกเปลี่ยนความคิด และเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้น”

เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง ในฐานะผู้นำที่จะสื่อสารกับคนในองค์กรย่อมมีปัญหาอยู่บ้าง

“ปัญหามีอยู่แล้ว ในการปรับเปลี่ยนความเข้าใจ แต่เราให้เขาดูภาพอนาคตที่จะเกิดขึ้น ทุกคนเห็นแล้วใช่ไหมว่าอนาคตแบบนี้กำลังมา เราจะเป็นคนทำให้มันเกิดขึ้น หรือรอว่ามันจะมาทำเรา จะเอาไงดี คุณจะรอรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หรือคุณจะเป็นคนนำการเปลี่ยนแปลงเอง อยากเป็นคนแบบไหน ให้คุณเป็นคนเลือก”