นักวิจัยญี่ปุ่นเพาะยาในไข่ไก่ต้านมะเร็ง

นักวิจัยญี่ปุ่นเพาะยาในไข่ไก่ต้านมะเร็ง

คณะนักวิจัยชาวญี่ปุ่นตัดแต่งพันธุกรรมแม่ไก่ให้ออกไข่ที่มีตัวยารักษาโรคร้ายแรงรวมถึงมะเร็ง หากได้รับอนุญาตจากทางการจะช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดเงินค่ายาลงได้อย่างมาก

หนังสือพิมพ์โยมิอูริฉบับภาษาอังกฤษรายงานว่า คณะนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งชาติญี่ปุ่น (เอไอเอสที) ในเขตคันไซได้ทดลองใส่ยีนที่สามารถผลิตอินเตอเฟอรอนเบตา ซึ่งเป็นโปรตีนที่ใช้รักษาโรคร้ายแรงหลายอย่าง เช่น โรคมะเร็ง โรคตับอักเสบ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (เอ็มเอส) ไว้ในเซลล์ที่จะเติบโตเป็นอสุจิ แล้วนำเซลล์นั้นไปปฏิสนธิกับไข่เกิดเป็นแม่ไก่ที่มียีนพิเศษ สามารถออกไข่ที่มีอินเตอเฟอรอนเบตา 

ปัจจุบันมีแม่ไก่ที่เกิดจากกระบวนการนี้แล้ว 3 ตัว แต่ละตัวออกไข่เกือบทุกวัน ตั้งเป้าจำหน่ายไข่ให้บริษัทยานำสารรักษาโรคไปใช้ในการวิจัย ซึ่งจะทำให้ราคาอินเตอเฟอรอนเบตาลดลงอย่างมาก จากปัจจุบันที่มีราคาสูงถึง 100,000 เยน (ราว 29,650 บาท) ต่อไม่กี่ไมโครกรัม

อย่างไรก็ดี โครงการนี้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากญี่ปุ่นมีระเบียบเข้มงวดเรื่องการใช้ยาตัวใหม่หรือยาจากต่างประเทศ กระบวนการตรวจสอบอาจต้องกินเวลาหลายปี คณะนักวิจัยคาดหวังว่า เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ราคาอินเตอเฟอรอนเบตาลดลงเหลือเพียง 10% ของราคาปัจจุบัน และจะช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดเงินค่ายาลงได้อย่างมาก