ถนนสู่ 'การเลือกตั้ง' ..ปลายทางยังไม่ชัด?

ถนนสู่ 'การเลือกตั้ง' ..ปลายทางยังไม่ชัด?

เจาะประเด็นร้อน! ถนนสู่ "การเลือกตั้ง" ..ปลายทางยังไม่ชัด?

ยังคงเป็นข้อกังขาว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่กันแน่ แม้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะเลือกตั้งในปี 2561 แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กลับระบุว่าปี 2561 จะเป็นการประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง

และยิ่งจากสถานการณ์ผ่านๆ มา ทำให้หลายคนยังกังวลว่า ปี 2561 จะเลือกตั้งหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีก็เคยรับปากกับผู้นำระดับโลกอาทิ นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น หรือ นายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ว่าจะจัดการเลือกตั้งในปีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 2559 หรือ 2560 แต่สุดท้ายการเลือกตั้งก็ยังไม่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ถืออำนาจในปัจจุบันยืนยันว่า ทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแม็พ ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจว่า “โรดแม็พ” ของ คสช. นั้น เป็นระยะเวลาที่ถูกกำหนดไว้ในการทำตามกรอบของรัฐธรรมนูญ โดยที่ไม่ได้ระบุวันชัดเจนเอาไว้

ทั้งนี้ เราต้องย้อนความจำว่า ช่วงการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ระบุว่า รัฐธรรมนูญเขียนเงื่อนไขชัดว่า ต้องทำกฎหมายลูกให้เสร็จ 10 ฉบับ ภายใน 240 วัน หรือ 8 เดือน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ และใน 10 ฉบับมี 4 ฉบับ ที่ระบุว่า หากประกาศใช้ครบก็สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้เลย นั่นคือ 1.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง 2.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 3.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และ 4.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลิอกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งหาก 4 ฉบับนี้เสร็จสิ้น ต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน

แปลว่า นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ จะใช้เวลาประมาณ 13 เดือน ก็จะมีวันเลือกตั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้คนก็แห่กันไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญและมองเห็นว่าจะมีการเลือกตั้งในระยะเวลาอันไม่นาน และถ้าจำกันได้แม่นกว่านั้น มีการระบุด้วยว่ากฎหมายทั้ง 4 ฉบับ อาจเสร็จก่อน 8 เดือน และการเลือกตั้งจะมาก่อน 13 เดือนที่กำหนด

หากนับวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เมื่อเดือน เม.ย. 2560 การเลือกตั้งก็น่าจะมีขึ้นไม่เกินเดือน พ.ค. 2561 และไม่เกินเดือน ส.ค. 2561 ก็จะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่เมื่อมาถึงวันนี้แล้ว ดูเหมือนว่าสิ่งที่โฆษณาไว้ จะไม่เป็นไปตามนั้นเสียแล้ว เพราะดูไปแล้วอุปสรรคในการทำกฎหมายลูกและช่วงเวลาสามารถยืดออกไปได้มากกว่าที่คาดหมายไม่น้อย

เริ่มที่กระบวนการร่างกฎหมายลูกที่ไม่ใช่ว่าครบ 240 วัน แล้วจะประกาศใช้ได้เลย แต่เงื่อนไขกลับกลายว่า 240 วันนั้น เป็นเพียงเวลาให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญทำร่างกฎหมายเท่านั้น ไม่รวมเวลาที่ สนช. จะพิจารณา

ที่วันนี้กฎหมายที่จำเป็นสี่ฉบับ เพิ่งประกาศใช้ได้เพียงฉบับเดียวคือ กฎหมาย กกต. ขณะที่กฎหมายพรรคการเมืองอยู่ในขั้นตอนระหว่างการทูลเกล้าฯ ส่วนกฎหมายอีกสองฉบับอยู่ระหว่างการร่างโดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยร่างกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. คาดว่าจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. คาดว่าจะใช้เวลาเต็มเหยียด 240 วัน นั่นคือจะส่งให้ สนช. ภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2560

นอกจากนี้กระบวนการ ในการพิจารณาของ สนช. ก่อนที่จะออกมาเป็นกฎหมายยังพบว่าล้วนแล้วแต่ต้องใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น เพราะเมื่อกฎหมายหลุดจากมือ กรธ. แล้ว สนช. จะมีเวลาในการพิจารณา 60 วัน หรือ 2 เดือน ซึ่งหากมีการแก้ไขให้ไม่เหมือนกับ ร่างที่ กรธ. ส่งไปก็ต้องตั้งกรรมาธิการร่วม

และก่อนตั้งกรรมาธิการร่วมจะมีเวลาอีก 10 วัน ให้องค์กรที่เกี่ยวข้องทำความเห็นแย้ง จากนั้นจึงจะเข้าสู่กรรมาธิการร่วม และ กรรมาธิการร่วมจะมีเวลาอีก 15 วัน ในการทำงานและให้ สนช. ลงมติ รวมระยะเวลาตรงนี้จะใช้เวลา 85 วัน

จากนั้นก็จะส่งเรื่องให้นายกฯรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯ ต้องรอ 5 วัน เพื่อดูว่า สนช. จะเสนอให้ตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือนายกฯ จะเป็นผู้ส่งเอง หากไม่ส่ง ก็จะใช้เวลา 20 วันในกระบวนการทูลเกล้าฯ จากนั้นก็เป็นช่วงเวลารอพระบรมราชวินิจฉัย

รวมขั้นตอนนับแต่วันส่งร่างให้ สนช. จะใช้เวลา 110 วัน ในการทูลเกล้าฯ หรืออยู่ที่ราวกลางเดือน มี.ค. 2561 จากนั้นจึงจะได้เริ่มนับ 5 เดือน สู่การเลือกตั้ง หรืออยู่ที่ราวๆ เดือนสิงหาคม 2561 บวกลบอีกเล็กน้อย

แต่ใช่ว่านั่นจะเป็นวันเลือกตั้งที่แน่ๆ ตามที่นายกฯไปคุยกับ “โดนัลด์ ทรัมป์” เอาไว้ เพราะยังมีอีกอย่างน้อย สองกระบวนการที่อาจทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป และทั้งสองตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายลูกทั้งสิ้น

ทางหนึ่ง อยู่ที่การส่งตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ ยิ่งจะดูชุลมุนวุ่นวายยิ่งขึ้น หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องถูกรีเซ็ทตามกฎหมายลูกที่จะเขียนขึ้น อาจทำให้เรื่องต้องแขวนอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าจะได้ตุลาการชุดใหม่มาพิจารณา

แต่สุดท้าย เมื่อพิจารณาเสร็จก็ต้องประกาศใช้อยู่ดี แม้จะไม่ผ่านบางมาตราแต่ก็ไม่ทำให้กฎหมายทั้งฉบับเป็นอันตกไป

อย่างไรก็ตาม อีกทางหากจะทำให้การเลือกตั้งเคลื่อนออกไปได้คือ การคว่ำร่างกฎหมายลูกที่หนึ่งในสองฉบับที่เหลือ ซึ่งจะมีผลทำให้ต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งในการร่างกันใหม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีอะไรการันตีเลยว่าจะต้องร่างกันอีกกี่ครั้ง เพราะพ้นจากขอบเขตที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้แล้ว

ถ้าถึงวันนั้นจริง จะเขียนกฎหมายใหม่กันอีกกี่ครั้งก็คงมิอาจคาดเดาได้ และการเลือกตั้งก็คงยังไม่สามารถกำหนดวันที่ชัดเจนได้ ขณะที่รัฐบาลก็จะบอกเพียงว่าทุกอย่างยังอยู่ในโรดแม็พ

ไม่แน่สหรัฐอเมริกาอาจเลือกตั้งใหม่ ก่อนประเทศไทยก็เป็นได้!?