บันทึกประวัติศาสตร์! เรื่องน่ารู้ 'ยิ่งลักษณ์' คดีจำนำข้าว

บันทึกประวัติศาสตร์! เรื่องน่ารู้ 'ยิ่งลักษณ์' คดีจำนำข้าว

รายงาน..บันทึกประวัติศาสตร์! เรื่องน่ารู้ "ยิ่งลักษณ์" กับคดีจำนำข้าว

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา ให้จำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี ไม่รอลงอาญา โดยระบุว่ามีความผิดฐานปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในการระบายข้าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรับจำนำข้าว

แม้ว่าถึงตอนนี้คดีน่าจะจบลงแล้ว เนื่องจาก “ยิ่งลักษณ์” หลบหนีคดี ในขณะที่กฎหมายลูกฉบับใหม่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดให้จำเลยต้องเดินมายื่นอุทธรณ์ด้วยตัวเอง แต่ก็มีหลายเรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับคดีนี้ “คมชัดลึก” รวบรวมไว้

เริ่มโครงการรับจำนำข้าวเมื่อไหร่
รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ใช้นโยบายรับจำนำข้าวเปลือกในปีการผลิต 2554/2555 โดยยกระดับราคารับจำนำข้าวเปลือก เป็นตันละ 15,000 บาท ซึ่งได้ประกาศเป็นนโยบายตอนหาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และประกาศเริ่มโครงการรับจำนำผลผลิตข้าวจากชาวนาหมดทุกเมล็ดในวันที่ 7 ต.ค. 2554

มีใครบ้างร้องให้ตรวจสอบเรื่องทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว
ตุลาคม-พฤศจิกายน 55 มีการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. 3 ครั้ง ให้ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว ได้แก่ พรรคการเมืองใหม่,องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และน.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โดยโฟกัสไปที่การทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรับจำนำข้าว

อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล “โครงการรับจำนำข้าว”
25-27 พ.ย. 55 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นำ ส.ส.ฝ่ายค้าน ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประเด็นทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)

ยื่นตรวจสอบซ้ำโครงการรับจำนำข้าว
5 มิ.ย. 56 น.พ. วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ยื่น ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการระบายข้าวค้างเก่าในโครงการรับจำนำข้าวปี 2554/2555 เป้าหมายในการยื่นเน้นไปที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติและ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ

ป.ป.ช.เริ่มไต่สวนเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว
28 ม.ค.57 ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ไต่สวน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในคดีโครงการรับจำนำข้าว

ใช้เวลาไต่สวนนานเท่าไหร่
ป.ป.ช. ใช้เวลาไต่สวนข้อเท็จจริง 21 วัน โดยในวันที่18 ก.พ.2557 ป.ป.ช. มีมติให้มีหนังสือเรียก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 27 ก.พ.57

ป.ป.ช. มีมติส่งเรื่องให้ถอนถอน “ยิ่งลักษณ์ ”
8 พ.ค, 57 ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลความผิด น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในโครงการรับจำนำข้าว ส่งเรื่องให้ สนช. ดำเนินการถอดถอน

ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดอาญา “ยิ่งลักษณ์”
17 ก.ค. 57 ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในโครงการรับจำนำข้าว ในส่วนคดีอาญา

อัยการสูงสุดสั่งฟ้องคดีอาญา“ ยิ่งลักษณ์” และ สนช.มีมติถอดถอนวันเดียวกัน
23 ม.ค. 58 ช่วงเช้า อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในข้อหา เป็นเจ้าพนักงานละเว้นปฏิบัติหน้าโดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาและมาตรา 123/1 พ.ร.บ. ป.ป.ช. ต่อมาช่วงเที่ยง สนช.มีมติถอดถอน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ด้วยคะแนน 190 ต่อ 18 เสียง ส่งผลตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาล
19 ก.พ. 58 อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้อหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 123/1

ศาลฎีกาฯ สั่งให้ “ยิ่งลักษณ์” มาศาลทุกนัดและให้ประกันตัว
19 พ.ค. 58 ศาลฎีกาฯนัดพิจารณาคดีครั้งแรก และสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาศาลทุกครั้งในการไต่สวนพยานทั้งฝ่ายโจทก์-จำเลย และให้ประกันตัวด้วยเงินสด 30 ล้านบาท

อัยการยื่นเพิ่มเอกสารเกี่ยวกับการระบายข้าว
ก่อนการไต่สวนพยานจะเริ่มขึ้น อัยการได้ยื่นเพิ่มเติมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวเกือบ 7 หมื่นแผ่นต่อศาลฎีกาฯ จากเดิมที่เอกสารในชั้นกล่าวหาของ ป.ป.ช. มีเพียง 329 แผ่น

ไต่สวนพยานโจทก์
15 ม.ค. 59 เริ่มไต่สวนพยานโจทก์นัดแรก
ไต่สวนพยานจำเลยนัดแรก “ยิ่งลักษณ์” แถลงด้วยวาจาเปิดคดี
5 ส.ค. 59 “ ยิ่งลักษณ์” ยืนแถลงด้วยวาจาในห้องพิจารณาคดีเพื่อเปิดคดีในส่วนของจำเลย ใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมง

ไต่สวนพยานนัดสุดท้าย
21 ก.ค. 60 ไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย

รวมพยานโจทก์-พยานจำเลย
ไต่สวนพยานโจทก์ 10 นัด 15 ปาก ไต่สวนพยานจำเลย 16 นัด 30 ปาก

“ยิ่งลักษณ์” แถลงปิดคดีด้วยวาจา
1 ส.ค. 60 น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดีด้วยวาจา คำแถลงมีความยาว 19 หน้า 6 ประเด็น

นัดพิพากษา “ยิ่งลักษณ์”ไม่มาศาล
ศาลฎีกาฯนัดฟังคำพิพากษา 25 ส.ค.60 แต่ “ยิ่งลักษณ์” หนีคดีไม่มาศาล ศาลฎีกาฯออกหมายจับเพื่อนำตัวมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ก.ย. 60

ศาลจำคุก 5 ปี ปล่อยให้มีการทุจริตในการระบายข้าวจีทูจี
27 ก.ย.60 ศาลฎีกาฯอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย เนื่องจากไม่ได้ตัว “ยิ่งลักษณ์” มาศาล โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาว่า “ยิ่งลักษณ์” ไม่ระงับยับยั้งปล่อยให้มีการทุจริตในการระบายข้ายจีทูจี เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ลงโทษบทหนักสุดตามพ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 123/1จำคุก 5ปี และออกหมายจับแบบไม่มีอายุความ เพื่อนำตัวมาบังคับตามคำพิพากษา โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ป.ป.ช. ปี 58 ที่ไม่ให้นับอายุความหากจำเลยหนีคดีไปหลังมีคำพิพากษา

ใช้เวลาพิจารณาคดีนาน 2 ปี 7 เดือน
นับแต่วันที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯจนถึงวันที่มีคำพิพากษาใช้เวลาทั้งสิ้น 2 ปี 7 เดือน

กฎหมายลูกฉบับใหม่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีอาญาของนักการเมืองมีผลบังคับใช้
29 ก.ย. 60 พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560มีผลบังคับใช้ ซึ่งในมาตรา 25 วรรคสาม ระบุ ไม่ให้นับอายุความกรณีจำเลยหนีคดีหลังมีคำพิพากษา เท่ากับตอกย้ำว่า“ยิ่งลักษณ์” หนีคดีไปนานเท่าไหร่ ก็ไม่มีวันขาดอายุความ ต้องหนีคดีตลอดชีวิต

อุทธรณ์คดี
การอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ต้องอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ทั้งนี้ พ.ร.ป. วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 61 ระบุว่า จําเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ ดังนั้นหากถือตามกฎหมายฉบับนี้“ยิ่งลักษณ์”จะมอบหมายให้ทนายความดำเนินการแทนในเรื่องยื่นอุทธรณ์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลฎีกาฯจะเห็นว่าจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามรัฐธรรมนูญปี 60

ในกรณี“ยิ่งลักษณ์”เดินทางมาศาลเพื่ออุทธรณ์ ศาลก็จะออกหมายขังควบคุมตัวเพราะสัญญาประกันตัวหมดลงแล้วเนื่องจากผิดสัญญาไม่มาศาลในนัดฟังคำพิพากษาครั้งแรก หากต้องการได้ประกันตัวต้องยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวใหม่ แต่ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่

ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตลอดชีวิต
หากคดีอาญาถึงที่สุด“ยิ่งลักษณ์” ต้องห้ามลงสมัคร ส.ส. เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. และผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี2560 มาตรา 98 (9,10)
นอกจากนี้ยังมีคดีแพ่งเรียกให้“ยิ่งลักษณ์”ชดใช้ค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว

จุดเริ่มต้นเรียกค่าเสียหาย
12 ก.พ. 58 ป.ป.ช. ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ให้เรียกค่าเสียหายจาก น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในโครงการรับจำนำข้าว

เคาะเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง
21ก.ย.59 นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ของกระทรวงการคลัง ลงนามรับรองมติที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่ให้เรียกค่าเสียหาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 35,717 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าความเสียหาย 178,586 ล้านบาท และนำเสนอต่อ รมว.คลัง 13 ต.ค.59 รมว.คลัง เซ็นคำสั่งทางปกครองให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 35,717 ล้านบาท ภายใน 30 วัน

“ยิ่งลักษณ์”ฟ้องเพิกถอนคำสั่งเรียกค่าเสียหาย
23 พ.ย.59 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากับพวก ต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้สั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ที่ให้ชดใช้ค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว พร้อมไปกับยื่นคำร้องขอให้ทุเลาการบังคับคดีเป็นการชั่วคราวไว้ก่อน

ศาลปกครองยกคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี
10 เม.ย. 60 ศาลปกครองกลาง ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี โดยเห็นว่า ยังไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครองยึดหรืออายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่อย่างใด

“ยิ่งลักษณ์ ”ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีครั้งที่ 2
19 ก.ค.60 น.ส. ยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีเป็นครั้งที่ 2 โดยอ้างว่าเริ่มมีการอายัดบัญชีเงินฝากในธนาคารของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งศาลปกครองกลางได้พิจารณาคำร้องแล้วได้ให้กระทรวงการคลังและกรมบังคับคดีชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องทำการยึด อายัด ทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ชี้แจงเป็นเอกสารมายังศาลปกครองกลางแล้ว ขณะนี้ศาลปกครองกลางกำลังรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อมีคำสั่งต่อไป