ฟ้าใหม่ 2 ชาติพันธุ์ หัวใจขวานทอง

ฟ้าใหม่ 2 ชาติพันธุ์ หัวใจขวานทอง

ชะตาชีวิตพาครอบครัวฝรั่ง “สุขสเน่ห์” ปักหลักช่วยเหลือพี่น้องชนเผ่าตองเหลืองให้มีอาชีพถัก “เปลญวณ” เลี้ยงตัวเมื่อต้องออกจากป่า เกิดเป็นสายใยผูกพันของ2ชาติพันธุ์บนแผ่นดินขวานทอง ส่งต่อมาถึงรุ่นลูก “อุดม สุขสเน่ห์” ที่ขอสานต่อธุรกิจเพื่อสังคมผู้พ่อ

หนุ่มฝรั่งตาน้ำข้าวที่มีชื่อไทย อุดม สุขสเน่ห์ คือเด็กอเมริกันที่เติบโตในไทยตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ความฝันสูงสุดของเขาคือการได้รับสัญชาติไทย เมื่อถูกเลี้ยงดูและเติบโตมาบนแผ่นดินขวานทองมามากกว่า 30 ปี ชีวิต จิตวิญญาณ เสียงภาษา และวัฒนธรรม รวมถึงความคิดและหัวใจ เขาคือคนไทย “อุดม”เล่าว่าเขาเคยทำเรื่องขอสัญชาติไทยมาแล้วครั้งหนึ่ง หนังสือถูกชงจากหน่วยงานจังหวัดแพร่ เพราะคนในจังหวัดรู้จักเขาดีว่าเป็นหนุ่มเมืองแพร่ แต่มาถึงกรุงเทพฯเรื่องกลับตกไป

และแม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอก อุดม คือฝรั่งตาน้ำข้าวที่พูดไทยสำเนียงเหนือ ทว่ายิ่งได้สนทนายิ่งรู้สึกได้ว่า เขาแทบไม่มีความเป็นต่างชาติตามหน้าตาของเขา

นั่นเพราะ “อุดม” ย้ายตามพ่อและแม่อเมริกัน (บุญยืน และวาสนา สุขสเน่ห์) มาเป็นครูสอนศาสนาพร้อมกับตั้งรกรากอยู่เมืองแพร่ ช่วงเวลาที่เขาและครอบครัวได้เห็นความเป็นอยู่ของชนเผ่า"ตองเหลือง”ชนกลุ่มน้อยที่ต้องระเหเร่ร่อน ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ย้ายถิ่นฐานเมื่อใบไม้มุงหลังคาที่พักเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

ความแตกต่างของโอกาสทางสังคมของคนไทยกับชนกลุ่มน้อย จุดประกายให้พ่อ(บุญยืน)ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเผ่าตองเหลืองกว่า 100 ชีวิตให้เข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียม ตั้งมีหมู่บ้านเป็นแหล่งพักพิง ให้เข้าถึงอาหารและสาธารณสุข ในยุคที่พื้นที่ป่าเหลือน้อยลงเรื่อยๆ พวกเขาจึงยอมออกจากป่า เผชิญกับโลกภายนอก เรียนรู้การใช้ชีวิตปะปนกับชุมชนทั่วไป

พ่อของอุดมเริ่มจากการเข้าไปสร้างความไว้วางใจ หาแหล่งทำกิน แทนการรุกป่า ด้วยการระดมทุนช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ ยกระดับมาสู่การสร้างอาชีพให้ชนเผ่าตองเหลือง ด้วยการ "ถักเปลญวน"ขายมาตั้งแต่ปี 2539 โดยมีผู้พ่อคอยหาตลาดให้

“5 ปีแรกขายไม่ค่อยได้ ยากที่สุดคือทำการตลาดต้องทำแจกเพื่อนนับสิบผืนเพื่อให้คนได้ลองใช้จนสั่งซื้อ ส่วนใหญ่เปลวางขายแค่ในหมู่บ้านเมื่อมีคนมาเยี่ยมชมศูนย์เผ่าตองเหลือง(มลาบรี)และฝากขายที่อำเภอปายยอดขายเพียงปีละ 100 ชิ้น” เขาเล่าและว่า

ยุคแรกๆของการตั้งธุรกิจเพื่อสังคมของพ่อ เกิดจากการชักชวนคนเผ่าตองเหลืองมาถักเปลเป็นอาชีพเสริมเพียง 5 คน เพราะตอนนั้นคำสั่งซื้อยังไม่มาก

โดยช่วงที่พ่อของเขาอุทิศตัวให้กับการช่วยงานทางสังคม เป็นช่วงเดียวกันกับที่อุดมเรียนจบมัธยมที่“โฮมสคูล”ในเมืองไทย ก่อนจะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 5 ปี ในคณะอักษรศาสตร์ เพราะหวังจะทำงานด้านภาษาซึ่งเป็นงานที่เขารัก และมีความสุขที่จะเชื่อมโลกที่แตกต่างด้วยภาษา

หลังเรียนจบ ฝรั่งตาน้ำข้าว หัวใจไทยรีบบินลัดฟ้ากลับมาบ้านหลังเดิมในปี 2544 ต่อยอดธุรกิจเพื่อสังคมช่วยพี่น้องตองเหลือง พร้อมสานต่ออุดมการณ์ของพ่อ กับการเป็นล่ามแปลภาษา หาเงินเลี้ยงตัวเอง

เรียนจบกลับมา พ่อแม่มอบงานให้เร่งหาตลาดเปลญวน จึงต้องพัฒนาฝีมือทำเปล สร้างมาตรฐานโดยร่วมมือกับงานภาครัฐ เพื่อยกระดับกลุ่มธุรกิจให้เติบโตนำกำไรไปพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชนเผ่าตองเหลือง อุดม เล่าภารกิจเร่งด่วน

ส่วนการขยายตลาด เขาเริ่มมองเห็นช่องว่างใน“กลุ่มนักท่องเที่ยวตามเกาะ” จึงนำเปลญวนไปจำหน่ายตามชายหาด อาทิ เกาะลันตา เกาะช้าง เกาะเต่า เกาะสมุย ทำให้เปลญวนเผ่าตองเหลืองเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวมากขึ้น ยอดขายเพิ่มเป็นปีละ 1,000-1,900 ชิ้น ระหว่างนั้นเขาก็หาทางเปิดตลาดส่งออกไปในตัว

กระทั่งในปี 2552 นักธุรกิจจากสหรัฐรายหนึ่ง มาพักร้อนบนเกาะเห็นเปลญวน พร้อมกับฟังเรื่องเล่า (Story) เผ่าตองเหลืองจากคนขายเปล ทำให้เกิดความประทับใจจึงบินมาชมหมู่บ้านทันที ยิ่งรู้สึกซาบซึ้งในวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของตำนานเผ่าตองเหลืองรุ่นสุดท้ายที่ในหมู่บ้านมี 100 คน จากจำนวน 400 คนกระจายอยู่ในไทย

“นักธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้หลงใหลในเรื่องราวพี่น้องตองเหลืองถักเปล จึงนำเปลไปทำตลาดในอเมริกาจดทะเบียนเป็นธุรกิจเพื่อสังคม กลายเป็นแบรนด์สินค้า “Yellow Leaf” พร้อมออกอากาศรายการ “Good morning America” เวทีที่เปิดกว้างสำหรับธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อรับคำสั่งซื้อไปในตัว” เขาเล่าจุดเริ่มที่ทำให้เปลญวน ที่ชาวอเมริกันเรียกว่า Hammock ดังเป็นพลุแตก

ยิ่งเมื่อรู้ว่าต้นกำเนิดของเปลแบรนด์นี้ทำมาจากโซนเอเชีย โดยเผ่าตองเหลือง รุ่นสุดท้ายที่กำลังสูญพันธุ์ ก็ยิ่งอยากอุดหนุน

“นักธุรกิจสหรัฐทำตลาดเก่ง ดันยอดขายเปลในสหรัฐเพิ่มจากปีละ 1,000 ชิ้นในปี 2552 ก้าวกระโดดมาเป็น 7,000 ชิ้นในปี 2559  เมื่อรวมกับยอดขายในตลาดญี่ปุ่นและตลาดในไทย รวมทั้งปีมียอดขายเปลเกือบ 1 หมื่นชิ้น"

สิ่งที่เป็น“ความท้าทาย”ในยุคคำสั่งซื้อเฟื่องฟู คือการขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด รอยต่อที่เขาต้องเลือกระหว่างสงวนอาชีพเปลญวนไว้ในหมู่บ้านเผ่าตองเหลืองกว่า 100 คน แล้วปล่อยให้คำสั่งซื้อหลุดลอยไป หรือจะการขยายตลาดไปสู่“หมู่บ้านม้ง” ที่มีปัญหาการเข้าถึงโอกาสและรุกป่าไม่ต่างกัน

ที่สุดแล้วเขาเลือกอย่างหลัง เพื่อทำให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นแหล่งผลิต "เปลญวณที่ใหญ่ที่สุดในโลก” สร้างกองทุนช่วยเหลือชนกลุ่มน้อย ผลักดันให้เปลญวนจะเป็นแหล่งรายได้ของผู้ด้อยโอกาส จนพี่น้องที่มาถักเปลรายได้ขั้นต่ำวันละ 300 บาท หรือมีรายได้ร่วมหมื่นบาทต่อเดือน ส่วนคนที่ถักเปลจนชำนาญจะมีรายได้มากกว่านั้น 

เมื่อได้รับการตอบรับจากตลาดมากขึ้น “อุดม” จึงตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด “ฝรั่งเมืองแพร่” ในปี 2558 เพื่อทำให้ลูกค้าทั่วโลกน่าเชื่อถือว่าบริษัทมีตัวตน ทำกิจการสร้างคุณค่าให้กับผู้ด้อยโอกาสให้มีรายได้สม่ำเสมออย่างยั่งยืน พร้อมไปกับหาทางขยายตลาดไปยังโรป และภูมิภาคอื่นๆ เดินตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กระจายความเสี่ยงไม่พึ่งพาตลาดสหรัฐอย่างเดียว

“แม้ปัจจุบันรายได้จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆแต่เพื่อความยั่งยืน จึงต้องกระจายความเสี่ยง เศรษฐกิจพอเพียงสอนไม่ให้ทำเกินตัวแบบผลิตก่อนขายทีหลังแต่ต้องทำตามออเดอร์ รวมถึงไม่เคยกู้ยืมเงิน” เขาเล่าถึงหลักการบริหารธุรกิจ

หนุ่มฝรั่งเมืองแพร่ ปัจจุบันอายุ 41 ปี ไปอยู่สหรัฐอเมริกาเพียง 5 ปี กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเพียง 4 ครั้ง บางครั้งเคยคิดจะกลับไปอยู่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นชีวิตที่สบาย แต่คิดได้ว่าแผ่นดินไทยคือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเขา เป็นแผ่นดินที่เขารักและรู้สึกมาตลอดว่าตัวเองเป็นคนไทย จึงทำงานกับพี่น้องตองเหลืองด้วยความรักและผูกพัน ของคนต่างชาติพันธุ์ แต่หัวใจขวานทอง

“ผมใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยแบบไม่เคยถามตัวเองว่ามาอยู่ตรงนี้ทำไม เพราะแต่ละวันถูกขับเคลื่อนด้วยงานทางสังคม ทำให้มีความสุขบนผืนดินไทย ทั้งวันไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ใช้แต่ภาษาไทยจนลืมภาษาบ้านเกิดไปเลย”

การได้เห็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเผ่าตองเหลืองที่ปัจจุบันสภาพความเป็นอยู่เปลี่ยนไปมีบ้าน เข้าถึงการรักษาพยาบาล และการศึกษา แต่สิ่งที่เผ่าตองเหลืองรุ่นสุดท้ายยังเก็บรักษาไว้คือ วัฒนธรรมความเชื่อ มรดกทางภาษาพูด และความรักผืนป่าที่สัมพันธ์กับชีวิตพวกเขา

อุดมยังหวังว่า ธุรกิจเพื่อสังคมจะถูกส่งต่อให้เผ่าตองเหลืองรุ่นต่อไปเข้ามาบริหารจัดการธุรกิจด้วยตัวเอง และสุดท้ายเมื่อธุรกิจเดินได้ เขาจะถอยกลับไปทำงานที่เขารัก นั่นคือ การเป็นนักแปลภาษา ตอนนั้นไม่แน่ว่าเขาอาจจะได้สัญชาติไทย ได้บัตรประชาชนใบแรกในฐานะคนไทย ไม่ต้องไปต่อวีซ่าทุกปีอีกต่อไป

นี่คือ คุณค่าที่ชาติพันธุ์กลุ่มเล็กๆ 2 กลุ่มที่ต่างเชื้อชาติและศาสนา มาเจอกันบนผืนดินขวานทองไทย จนเกิดการรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน สร้างเป็นประโยชน์มหาศาลให้บ้านเกิด

หากเป็นศาสนาพุทธก็ต้องเชื่อว่าคนต่างชาติพันธุ์มาเจอกันได้เพราะเคยทำบุญร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน ได้เกิดและเติบโตภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ผืนดินที่เปิดกว้างทางเชื้อชาติ ศาสนา เขาทิ้งท้ายอิ่มเอมกับความสุขที่ได้รับ