ปชช.89%นำคำสอน 'ในหลวงร.9' มาปรับใช้ในชีวิต

ปชช.89%นำคำสอน 'ในหลวงร.9' มาปรับใช้ในชีวิต

ผลสำรวจปชช.กว่า 89% นำคำสอน "ในหลวง รัชกาลที่ 9" มาปรับใช้ในชีวิต ส่วนสิ่งที่คิดว่าจะทำเพื่อถวายฯ 65% ทำความดีด้วยการอาสาช่วยเหลือสังคม

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การน้อมนำหลักคำสอน ในหลวง รัชกาลที่ ๙ กับการดำเนินชีวิต” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 – 4 ตุลาคม 2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการน้อมนำหลักคำสอน ในหลวง รัชกาลที่ ๙ กับการดำเนินชีวิตการสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 0.5

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการนำหลักคำสอน หลักการดำเนินชีวิต ของในหลวง รัชกาลที่ ๙ มาปรับใช้ ในชีวิต พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 89.50 ระบุว่า มีความพอเพียงสำหรับการดำรงชีวิต รองลงมา ร้อยละ 36.75 ระบุว่า มีความพอดี ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง ร้อยละ 30.75 ระบุว่า ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง ร้อยละ 23.85 ระบุว่า ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทน เสียสละและไม่ย่อท้อ ร้อยละ 8.85 ระบุว่า การเอาชนะใจตน ต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เรารับทราบว่าเป็นความดี ร้อยละ 8.80 ระบุว่า มีความอ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม ร้อยละ 8.45 ระบุว่า รู้ตัวอยู่เสมอ จะทำให้เป็นคนมีระเบียบ แล้วจะทำการงานต่างๆได้ ร้อยละ 7.90 ระบุว่า พูดจริงทำจริง ผู้หนักแน่นในสัจจะ จึงได้รับความสำเร็จ ร้อยละ 5.75 ระบุว่า คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ ควรจะต้องรับและจะต้องให้ และร้อยละ 5.40 ระบุว่า หนังสือเป็นออมสิน หนังสือเป็นสิ่งสำคัญ คล้ายๆ ธนาคารความรู้ และเป็นออมสิน

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงสิ่งที่คิดว่าจะทำเพื่อถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในอนาคต พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.40 ระบุว่า ทำความดีด้วยการอาสาช่วยเหลือสังคม รู้จักการเสียสละเวลา โดยไม่หวังผลตอบแทน รองลงมา ร้อยละ 41.95 ระบุว่า พอเพียง ประหยัด และอดออม ชีวิตจะสุขเพียงพอ ร้อยละ 30.25 ระบุว่า ทำความดีง่ายๆ ด้วยการให้และบริจาค รู้จักเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ ร้อยละ 27.10 ระบุว่า ปลูกต้นไม้ถวายเป็นพระราชกุศล มีส่วนร่วมในการช่วยลดภาวะโลกร้อนแบบง่ายๆ ร้อยละ 13.70 ระบุว่า ทำใจให้เป็นสุข ด้วยการรู้จักลด ละ เลิกอบายมุข มีสติอยู่ในความไม่ประมาท ร้อยละ 12.35 ระบุว่า หยิบยื่นความรักและความปรารถนาดีแก่ผู้อื่น ร้อยละ 9.45 ระบุว่า ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ลดการเพิ่มขยะใช้ถุงพลาสติกที่ไม่จำเป็น และร้อยละ 2.35 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และจะน้อมนำหลักคำสอนของพระองค์ท่านทุกข้อมาใช้ในการดำเนินชิวิต

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.80 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 26.40 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.00 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 32.65 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.15 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 51.10 เป็นเพศชาย ร้อยละ 48.80 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.10 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่าง ร้อยละ 7.35 มีอายุไม่เกิน 25 ปี ร้อยละ 17.30 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.75 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 32.80 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 18.60 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.20 ไม่ระบุอายุ

ตัวอย่าง ร้อยละ 91.35 นับถือศาสนาพุทธ ตัวอย่างร้อยละ 4.15 นับถือศาสนาอิสลาม ตัวอย่างร้อยละ 0.75 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 3.75 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 22.00 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 69.05 สมรสแล้ว ร้อยละ 5.10 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.85 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 27.65 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 28.40 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.85 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.35 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.90 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.85 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 12.50 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.15 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.30ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.35 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.90 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.90 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.90 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.20 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 2.80 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 11.05 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 26.50 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.15 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 10.55 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.85 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 6.20 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 13.70 ไม่ระบุรายได้