ไต้หวันรณรงค์เลิกเคี้ยวหมาก

ไต้หวันรณรงค์เลิกเคี้ยวหมาก

ไต้หวันเล็งรณรงค์ให้ประชาชนเลิกเคี้ยวหมากที่เป็นวัฒนธรรมหยั่งรากลึกมานาน เพราะเป็นผลเสียต่อสุขภาพโดยเฉพาะการเป็นมะเร็งช่องปาก

กระทรวงสาธารณสุขไต้หวันแถลงว่า ผู้เคี้ยวหมากมีโอกาสเป็นมะเร็งช่องปากมากกว่าคนที่ไม่ได้เคี้ยวถึง 28 เท่า แม้จำนวนผู้เคี้ยวหมากลดลงตั้งแต่มีผลการศึกษาปี 2546 ยืนยันว่าหมากเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ประชาชนร่วม 2 ล้านคนจากทั้งหมด 23.55 ล้านก็ยังไม่เลิก โดยเฉพาะกลุ่มคนใช้แรงงานเพศชายที่พึ่งพาฤทธิ์การกระตุ้นจากหมากเพื่อให้สามารถใช้แรงงานหนักได้นานขึ้น

หนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาของทางการไต้หวันคือ ลดจำนวนหมากที่จะออกสู่ตลาดด้วยการให้เงินอุดหนุนเกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนต้นหมาก แต่ก็ยอมรับว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนักตั้งแต่เริ่มโครงการปี 2557 

เกษตรกรไต้หวันรายหนึ่งเผยว่า หลายคนลังเลใจที่จะเข้าร่วมโครงการเพราะการปลูกพืชชนิดอื่นเป็นงานหนักกว่าเดิม ต้องอาศัยการชี้แนะและจูงใจอย่างมากเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

หมากเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมดั้งเดิมของไต้หวันมาหลายพันปี มักใช้ในการประกอบพิธีกรรมและงานเลี้ยงต่าง ๆ ช่วงที่ได้รับความนิยมสูงสุดถูกเปรียบว่าเป็นทองคำสีเขียว เพราะเป็นพืชที่ทำรายได้งามรองจากข้าว 

องค์กรนอกภาครัฐ (เอ็นจีโอ) ที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยมะเร็งช่องปากเผยว่า ลำพังการรณรงค์เรื่องอันตรายต่อสุขภาพยังไม่เพียงพอ เพราะการเคี้ยวหมากอยู่คู่กับสังคมไต้หวันมายาวนาน เป็นรายได้เลี้ยงชีพของคนจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้การเป็นมะเร็งช่องปากใช้เวลานาน 10-20 ปี กว่าผู้เคี้ยวหมากกว่าจะรู้ตัวก็มักเกินสายไป เรื่องนี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งด้านการศึกษา การเกษตร และเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง