อูเบอร์-แท็กซี่...เรื่องนี้ถึงไหน?

อูเบอร์-แท็กซี่...เรื่องนี้ถึงไหน?

อัพเดทความเป็นไปของบริการไรด์แชร์ริ่ง “อูเบอร์” ซึ่งขณะนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ในประเทศไทย

เมื่อสัปดาห์ก่อน ขนส่ง จ.ชลบุรีเพิ่งลงโทษกรณีปัญหาทะเลาะวิวาทของโชเฟอร์รถอูเบอร์กับแท็กซี่พัทยา... หากรถอูเบอร์ยังรับจ้างสาธารณะจะถูกเปรียบเทียบปรับสูงสุด 2,000 บาท พร้อมงดใช้ใบอนุญาตขับขี่ 3 เดือน ส่วนคนขับรถแท็กซี่ ถ้ายังล้อมรถคู่กรณี ก่อเหตุรุนแรง จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อนๆ แร็ปเปอร์คนดังโพสต์เฟซบุ๊คระบายความในใจหลังเรียกใช้บริการอูเบอร์ผ่านแอพฯ เขาถูกคนขับเบี้ยวนัดแถมยังปิดโทรศัพท์หนี แทนที่จะได้ขึ้นรถกลับต้องเสียค่าบริการยกเลิกฟรีๆ เพราะระบบผูกกับบัตรเครดิตอยู่

แม้หลักคิดจะทันสมัยก็จริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าตลอด 3 ปีที่ให้บริการในไทย อูเบอร์ยังมีปัญหาข้อกฎหมาย ขณะที่หันมาดูแท็กซี่ขาประจำ ถึงจะมองว่าเป็นส่วนน้อยก็เถอะ แต่สักครั้งเป็นใครก็ต้องเจอคำว่า “รีบส่งรถ” กับ “แก็สไม่พอ” ใช่ไหม?

เมื่อความต้องการที่แท้จริงยังไม่ถูกสนอง พอๆ กับที่บริการรูปแบบใหม่ค่อยๆ เขยิบใกล้ผู้บริโภคไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นี่จึงเป็นนิยายเรื่องยาวว่าด้วยแท็กซี่ที่คนไทยคาดหวังซึ่งต้องติดตาม

จากแท็กซี่สู่ไรด์แชริ่ง

ชัดเจนว่า การเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่นไม่ใช่ปัญหา แต่ที่กรมขนส่งทางบกยังนิยามว่าผู้ขับขี่อูเบอร์ผิดกฎหมายให้ต้องปวดใจ คือการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) เพื่อใช้รับจ้างขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ไล่ตั้งแต่ 1.ใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้ 2.ไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด 3.ผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ไม่เคยผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และ 4. ไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก

อูเบอร์เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยราว 3 ปีแล้วก็จริง แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีกฎหมายข้อใดที่รับรองแม้แต่น้อย รอแล้วรอเล่าก็ยังไร้วี่แวว อูเบอร์จึงทำแคมเปญเสนอแก้กฎหมายโดยประชาชนตามสิทธิรัฐธรรมนูญ โดยให้ลงรายชื่อให้ครบ 10,000 รายชื่อ เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายพ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ.2522 เพื่อรองรับการให้บริการ

หลักของการเสนอแก้ไขกฎหมาย คือการสงวนรูปแบบบริการบางประเภทไว้ให้กับคนขับรถแท็กซี่เท่านั้น เช่น การโบกรถจากข้างถนน ลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นของแท็กซี่เพื่อลดภาระในการแข่งขันในตลาด ให้คนขับรถแท็กซี่มีภาระต่อรัฐใกล้เคียงกันกับคนขับรถรถป้ายดำ เช่น การยกเลิกการกำหนดสีรถ ยกเลิกการกำหนดป้ายบนหลังคา ส่วนอูเบอร์เน้นนิยามตัวเองว่าเป็นไรด์แชรริ่ง (Ride sharing) และจะเพิ่มกฎระเบียบสำหรับคนขับรถร่วมเดินทาง อาทิ เพิ่มระเบียบในการตรวจเช็คประวัติของคนขับเมื่อจดทะเบียน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรและนโยบาย เอเชียแปซิฟิก อูเบอร์ ย้ำว่า การแก้ไขกฎหมายในหลักการที่ว่าจะช่วยให้รัฐบาลไทยสามารถเพิ่มรถยนต์อีกหนึ่งประเภทที่มีการให้บริการผ่านแอพฯ ซึ่งจะช่วยให้รัฐสามารถออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อควบคุมดูแลผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการได้อย่างเหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมายเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้บริโภค และสิ่งที่อูเบอร์ย้ำเสมอคือการที่เน้นว่าอูเบอร์ไม่ได้ให้บริการในรูปแบบรับจ้างรับ-ส่งผู้โดยสารแบบแท็กซี่ป้ายดำ แต่เป็นบริการร่วมเดินทาง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาจราจรในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกได้จริง และเป็นนโยบายที่รัฐบาลควรสนับสนุนตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0

ทั้งนี้อูเบอร์ยกการสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่รู้จักและเคยใช้บริการอูเบอร์หรือการเดินทางแบบร่วมเดินทาง พบว่า 93.58% เห็นด้วยที่จะให้เมืองไทยมีรถโดยสารสาธารณะ แบบร่วมเดินทาง จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันกฎหมายให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่ออูเบอร์จะได้ให้บริการแบบมีกฎหมายรองรับ และร่วมบริการกับขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ ขณะที่ประชาชนเองสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 เพื่อรองรับอูเบอร์ให้ถูกกฎหมาย ทาง t.uber.com/regTH

แรงต้านและหนุน

จะเป็นวันนี้หรือเมื่อ 3 ปีก่อน จะเป็นกรณีในไทยหรือต่างประเทศ ประเด็นของอูเบอร์มีทั้งแรงหนุนและแรงต้าน เช่นเดียวกับผู้ให้และผู้รับบริการที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไป

เชื่อไหมว่า ถ้าลองสุ่มเดินตามซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือคอมมูนิตี้มอลล์ใกล้ๆ บ้าน จำนวนกว่าครึ่งคุณจะพบเห็นบูธรับสมัครคนขับรถอูเบอร์ ซึ่งจากการสอบถามพบว่า แม้จะมีข่าวในมุมความขัดแย้งกับรถแท็กซี่เป็นระยะ แต่ภาพรวมก็ยังมีผู้สมัครหน้าใหม่เข้ามาอยู่เรื่อยๆ

โชเฟอร์อูเบอร์รายหนึ่ง บอกว่า เมื่อคนขับรายเก่าๆ ทยอยเลิกไป กลุ่มคนใหม่ๆ ก็เข้ามาแทนที่ เพราะทุกคนต่างมองว่าอาชีพนี้อิสระ สามารถทำตอนไหน เมื่อไรก็ได้ ซึ่งแนวทางเช่นนี้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่อยากมีอาชีพเสริม ขณะที่รายเก่าๆ ทยอยเลิกไปเพราะโปรโมชั่นสำหรับคนเก่าเริ่มน้อยลง ตัวคูณรายได้ไม่เท่าเดิม การร้องเรียนความไม่แฟร์ของอูเบอร์ก็มีเป็นระยะ เพียงแต่ไม่มากเหมือนกับเรื่องแท็กซี่ป้ายเหลืองที่ได้ยินกันทุกวัน

กลุ่มสหกรณ์แท็กซี่ยืนยันก่อนหน้านี้ว่า พวกเขาไม่ได้มีปัญหากับการเรียกรถผ่านแอพฯ แต่รถแท๊กซี่ทุกแบบควรอยู่ในกรอบกติกาเดียวกัน และทุกวันนี้ที่ไม่พอใจเพราะอูเบอร์อยู่นอกกติกา จะทำอะไรก็ได้ แต่แท็กซี่มีกฎหมายกำกับที่เคร่งครัด อาทิ การกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องเป็นรถที่ไม่เกิน 1,600 ซีซี ใช้งานไม่เกิน 2 ปี ต้องตรวจสอบตามกำหนด ต้องออกรถใหม่ป้ายแดงซึ่งใช้ต้นทุนประมาณ 8 แสนบาทต่อคัน ต่างจากอูเบอร์ที่ไปหารถมือสอง อายุไม่เกิน 10 ปี ก็วิ่งรับคนได้แล้ว

“ถ้าออกรถมาแล้ว ใครจะเช่าเราก็อยากจะให้ เพราะการจอดเฉยๆ มันมีต้นทุน บางอู่ไม่ตรวจประวัติคนขับด้วยซ้ำ เพราะอยากรีบปล่อยรถ ส่วนในฐานะคนขับ ผมก็ยอมรับนะว่าถ้าเรียกไปส่งไกลๆ แล้วยากจะมีผู้โดยสารวิ่งกลับเราไม่อยากไป มันไม่คุ้ม ขับไปก็ขาดทุนเปล่าๆ" แท็กซี่คนหนึ่งบอก

มหากาพย์ ปฏิรูปแท็กซี่

ตั้งแต่ปี 2535 ที่มีการเปิดเสรีการให้บริการรถแท็กซี่ กำหนดอายุรถ ติดตั้งมิเตอร์ คือการปฏิรูปแท็กซี่ครั้งล่าสุด และจนถึงขณะนี้การให้บริการแท็กซี่ก็ไม่ต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนทั้งเรื่องรถ คนขับ โครงสร้างราคา 

ความคืบหน้าจากการที่ Digital Disturb ในวงการแท็กซี่มีเพียงกระทรวงคมนาคมกำลังศึกษาการให้บริการทั้งระบบ โดยเฉพาะระบบไรด์แชร์ริ่ง ทั้งการเก็บค่าบริการ การเรียกเก็บภาษีจากผู้ประกอบกิจการ การคุ้มครองผู้บริโภคและคุณภาพบริการ และแนวทางการแก้กฎหมายรองรับและบทลงโทษ

รศ.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตั้งข้อสังเกตว่า นิยามของไรด์แชริ่งน่าจะเป็นการแชร์ในลักษณะส่วนบุคคลมกากว่า เช่น ชุมชนหนึ่งมีการเปิดรับลงทะเบียนรถของสมาชิก และสร้างช่องทางสื่อสารเพื่อให้คนในเครือข่ายทราบว่าเส้นทางที่ตัวเองกำลังจะเดินทางไปมีรถสมาชิกคันใดมุ่งหน้าไปทางเดียวกันบ้าง

"แต่ถ้าโชเฟอร์เป็นลักษณะเป็นโปรฯ (Professional) และมีศูนย์กลางบริหารจัดการจะเข้าข่ายการเป็น Taxi Service Operations ซึ่งแน่นอนว่าองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องอย่าง คนขับ คุณลักษณะของรถ โครงสร้างราคา ต้องสอดคล้องแนวทางของรัฐ ไม่ใช่ให้ผู้ประกอบการสร้างโมเดลราคา"

“ถ้าจะพูดถึงปัญหาของแท็กซี่ในกรุงเทพฯนี่ยาวแน่ แต่ถ้าจะหาทางออกในเรื่องนี้ นอกจากคุณภาพของผู้ให้บริการแท็กซี่ในระบบแล้วก็ต้องมาโฟกัสทีโครงสร้างราคาต้นทุนของแท็กซี่ เพื่อให้ผู้ประกอบการแท็กซี่มีต้นทุนแข่งขันได้ โดยไม่ผลักภาระให้ผู้โดยสาร และแน่นอนต้องใช้เทคโนโลยีช่วยการกระจายตัวของรถไม่ใช่กระจุกตัว”

การส่งเสริมให้มีแท็กซี่ในหลายรูปแบบก็จะช่วยพัฒนาระบบแท็กซี่ได้เช่นกันและรัฐเองก็ต้องส่งเสริม เช่น ในประเทศอังกฤษที่แบ่งประเภทแท็กซี่เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ แบบที่คนทั่วไปสามารถโบกได้ตามท้องถนน กับแบบ Private ซึ่งจะคล้ายๆ กับอูเบอร์ที่เรียกผ่านการจองเท่านั้น รูปลักษณ์ภายนอกก็ไม่ต่างจากรถส่วนบุคคลทั่วไป แต่ต้องมีเกณฑ์ที่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับแท็กซี่แต่ละแบบและผู้โดยสาร

มิเช่นนั้นพอจบจากอูเบอร์ก็จะมีผู้ประกอบการรายใหม่ ให้ใครต้องสงสัยถึงความถูกต้องกันอีก

ยุคนี้ใครๆก็พูดถึงการแชร์ นัยว่าจะช่วยประหยัดทรัพยากรและใช้สิ่งที่มีให้คุ้มค่าที่สุด มาดูกันสิว่ามีศัพท์ใดว่าด้วยการแชร์ที่เกียวกับขนส่งสาธารณะบ้าง

คาร์แชรริ่ง = การแชร์รถคันเดียวกันนั้น อาทิ การสมัครเป็นสมาชิกผู้ให้บริการเจ้าหนึ่งเพื่อยืมรถในกรณีที่ต้องการ เมื่อเสร็จธุระ ก็นำมาทำการส่งคืนพร้อมจ่ายค่าบริการ

ไรด์แชรริ่ง = รถหลายๆ คันที่มีองค์กรหนึ่งบริหาร มีสมาชิกลงทะเบียนใช้รถและจอดรับสมาชิกอีกรายเพื่อไปในทางเดียวกัน

คาร์พูล = การที่คนหนึ่งขับรถส่วนตัว แล้วจอดรับผู้ที่ต้องการไปในทางเดียวกัน โดยได้หรือไม่ได้ค่าตอบแทนก็ได้ ส่วนใหญ่จอดรับเพื่อให้ได้สิทธิในการใช้ช่องทางจราจรพิเศษ ซึ่งระบุว่าต้องมีผู้โดยสารมากกว่า 1 คนขึ้นไป