'ม.หอการค้า' เตรียมปรับเพิ่มเป้าจีดีพีสัปดาห์หน้า

'ม.หอการค้า' เตรียมปรับเพิ่มเป้าจีดีพีสัปดาห์หน้า

"ม.หอการค้าไทย" เผย ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.อยู่ที่ 75.0 เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 หวังเศรษฐกิจไทยดีขึ้น เล็งปรับเพิ่มเป้าจีดีพีสัปดาห์หน้า

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน 60 อยู่ที่ 75.0 จากระดับ 74.5 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 62.5 จาก 62.4 ในเดือนสิงหาคม หลังจากผู้บริโภคมีความหวังเศรษฐกิจไทยในอนาคต จะดีขึ้นตามการส่งออก และการท่องเที่ยว ที่ฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง การลงทุนภาครัฐที่จะเกิดขึ้น คลายกังวลสถานการณ์การเมือง

ทั้งนี้จะปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ในสัปดาห์หน้า ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/60 ที่จะฟื้นตัวเด่นชัด จะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้เศรษฐกิจทั้งปี 60 ขยายตัวได้ในระดับ 3.7-4.0%

สำหรับปัจจัยสนับสนุน คือ การส่งออกของไทยเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 13.23% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 55 เดือน ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 14.93% ส่งผลเกินดุลการค้า 2,090.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลให้ 8 เดือนแรกของปี 60 ส่งออกขยายตัว 8.87% นำเข้า 15.42% ส่งผลเกินดุลการค้ารวม 8,873.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 60 โต 3.8% จากเดิมคาด 3.5% และปรับเพิ่มคาดการณ์ปี 61 เป็นเติบโต 3.8% จากเดิมคาด 3.7% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้นจากการส่งออกสินค้าและบริหารที่ปรับดีขึ้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ขณะเดียวกันดัชนี SET เดือนกันยายนปรับตัวสูงขึ้น มาอยู่ในระดับเกิน 1,600 จุด เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อย เป็นการสะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้า และจากความคลายกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ

ส่วนปัจจัยลบ คือราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และ ภาคใต้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่, ราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศขยายตัวในระดับต่ำและไม่คล่องตัว