บางกอกแอร์เวย์สชูตั๋ว‘สองต่อราคาเดียว’สู้ศึกการบิน

บางกอกแอร์เวย์สชูตั๋ว‘สองต่อราคาเดียว’สู้ศึกการบิน

ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจการบินที่สาดสงครามราคาต่อเนื่อง ทำให้ “บางกอกแอร์เวย์ส” อีกผู้เล่นในประเภท Full service ต้องปรับตัวต่อเนื่อง

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า สภาพการแข่งขันของธุรกิจสายการบินในปีนี้ยังรุนแรงต่อเนื่อง ทำให้หลายสายการบินต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคากระตุ้นตลาดมากขึ้น โดยบางกอกแอร์เวย์สเองนับเป็นปีที่สองแล้ว ที่ต้องหันมาทำราคาโปรโมชั่นต่ำที่สุดในรอบหลายปี เช่น นำเสนอราคาเที่ยวบินในประเทศ 690 บาท สำหรับคนไทยจากต่างจังหวัดที่จะเดินทางมากรุงเทพฯ ในช่วงเดือน ต.ค. ระหว่างงานพระราชพิธี ทั้งนี้ เพื่อให้รักษาระดับการแข่งขันไว้ได้ หลังจากที่เคยออกราคาต่ำสุด 480 บาท เป็นกิมมิคในการฉลองครบรอบ 48 ปีในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มองภาพรวมของธุรกิจในปีนี้ยังทรงตัวเท่าเดิม และอัตราบรรทุกเฉลี่ยที่ตั้งไว้ 72% ตลอดทั้งปีนั้น อาจจะทำได้ราว 68% เพราะมีหลายปัจจัยลบเข้ามา นอกจากด้านการแข่งขันสูงที่กดดันราคาแล้ว ยังมาจากต้นทุนภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกราว 10% เทียบกับปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน ในช่วงเดือน ต.ค. บรรยากาศการเดินทางก็อาจชะลอไปตามเหตุการณ์ในประเทศที่อยู่ในช่วงไว้อาลัย

สำหรับการวางกลยุทธ์ด้านราคาไปจนถึงสิ้นปี ใช้จุดแข็งด้านเครือข่ายบินในประเทศและกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) หลากหลาย นำเสนอความคุ้มค่าราคาในการบิน 2 ต่อในราคาเดียว (Through fare) แบ่งเป็น ตลาดในประเทศ เสนอเส้นทางเชื่อมต่อตั้งต้นจาก 5 จังหวัดในไทยได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, สุโขทัย มาถึง กรุงเทพฯ และต่อไปยังปลายทางที่ เกาะสมุย ด้วยราคาเดียวที่ 6,990 บาท (ไป-กลับ) ซึ่งลดลงจากการซื้อตั๋วโดยสารสองต่อตามปกติ ที่มีค่าใช้จ่ายรวมแล้วกว่า 1 หมื่นบาทขึ้นไป เพราะเพียงแค่เส้นทางกรุงเทพฯ - สมุย ราคาบางช่วงเฉลี่ยสูงเกือบ 1 หมื่นบาทไปแล้ว

ส่วนตลาดต่างประเทศ เสนอตั๋วราคาเดียวสำหรับบินสองต่อจาก กัมพูชา 2 เมือง ได้แก่ เสียมราฐ, พนมเปญ, ลาว 2 เมือง คือ เวียงจันทน์, หลวงพระบาง และ เมียนมา 2 เมือง ประกอบด้วย ย่างกุ้ง และ มัณฑะเลย์ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และต่อด้วยเกาะสมุย ราคา 280 ดอลลาร์ (ราว 9.4 พันบาท) ขณะที่การซื้อแยกสองต่อ อาจจะมีราคาเฉลี่ยราว 300 ดอลลาร์ (ราว 1 หมื่นบาท) เป็นต้น โดยที่ผ่านมา ได้ทำตลาดด้วยการนำผู้ประกอบการนำเที่ยวจากกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี เข้ามาเจรจาธุรกิจกับกลุ่มโรงแรมในเกาะสมุย เพื่อกลับไปทำแพ็คเกจกระตุ้นตลาดอินบาวด์จากเพื่อนบ้านเข้ามา ช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารในภาวะที่ตลาดในประเทศทรงตัว

ปีหน้าจะมุ่งการขยายเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองต่อเมืองซึ่งจะไม่ต้องผ่านกรุงเทพฯ มากขึ้น เช่น ย่างกุ้ง-ภูเก็ต ที่คาดว่าจะเปิดได้กลางปี และเน้นการขยายความถี่เส้นทางเดิมที่มีอยู่ซึ่งมีผลตอบรับจากผู้โดยสารที่ดี โดยปัจจุบันบางกอกแอร์เวยส์ มีเครื่องบินประจำการ 38 ลำ และในปลายปีนี้ยังมีแผนนำเครื่องลำที่ 39 เข้ามา ได้แก่ แอร์บัส เอ319 มาเตรียมรองรับการขยายเส้นทางใหม่ๆ ด้วย

ส่วนในไตรมาส 4 มีเพียงอีก 1 เส้นทางที่เตรียมเปิดใหม่เพิ่ม ได้แก่ กรุงเทพฯ - ฟูโกว๊ก ซึ่งเป็นเกาะทางภาคใต้ของเวียดนาม เริ่มบินตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.นี้เป็นต้นไป โดยเริ่มให้บริการ 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ด้วยเครื่องบินเอทีอาร์ 72-600 ขนาด 70 ที่นั่ง เพื่อทดลองตลาดก่อนในระยะ 1 ปีครึ่งต่อไปนี้ และหากแนวโน้มดีก็จะพิจารณาเพิ่มความถี่ หรือเปลี่ยนแบบเครื่องบินขนาดใหญ่เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มต่อไป

อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าอัตราบรรทุกเฉลี่ยเส้นทางนี้ไม่น่าต่ำกว่า 70% จากการวางราคาที่ 8,095 บาท เนื่องจากเป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มยุโรปเริ่มมีการบรรจุลงในโปรแกรมเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ที่ผ่านมามีเพียงสายการบินจากยุโรปที่เข้าไปแบบเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลท์) เท่านั้น ทำให้บางกอกแอร์เวย์ส ยิ่งมีโอกาสมาก เนื่องจากเป็นสายการบินต่างชาติรายแรกที่จะเข้าไปทำการบินแบบประจำ (Schedule Flight)

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยพื้นฐานในเมืองรองรับ เช่น การพัฒนาการท่องเที่ยวยกระดับรับตลาดไฮเอนด์ ที่สอดคล้องกับจุดยืนทางการตลาดของบางกอกแอร์เวย์สได้พอดี มีโรงแรมและรีสอร์ทในระดับไฮเอนด์ที่เปิดให้บริการแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้างจำนวนมาก อีกทั้งรัฐบาลมีแนวคิดส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เติบโตขึ้น ด้วยการยกเว้นวีซ่าให้กับชาวต่างชาติที่บินตรงเข้ามายังฟูโกว๊ก และสามารถพำนักได้ถึง 30 วัน

“มั่นใจในการเลือกเปิดจุดบินที่ฟูโกว๊ก เนื่องจากเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวสูง ทั้งจากกลุ่มยุโรป และนักท่องเที่ยวไทยที่น่าจะให้ความสนใจช่วยปูทางตลาด รวมถึงได้นักท่องเที่ยวจากเวียดนามแลกเปลี่ยนเข้ามาด้วย อีกทั้งยังสามารถรองรับทั้งตลาดท่องเที่ยวและการเดินทางเชิงธุรกิจ อีกทั้งเมื่อดูตัวอย่างจากกรณีการเปิดเส้นทาง กรุงเทพฯ - ดานัง ในปีที่ผ่านมา แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีคู่แข่งที่เป็นโลว์คอสต์เปิดให้บริการในเส้นทางเดียวกัน ก็ไม่กระทบต่อผู้โดยสารมาก และยังสามารถเพิ่มความถี่จาก 4 เที่ยว/สัปดาห์ เป็น 1 เที่ยวบินทุกวัน เพราะมีตลาดที่ตอบรับดีมาก”

พุฒิพงศ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการลงทุนสร้างสนามบินแห่งใหมที่พังงา เนื่องจากยังติดขัดเรื่องสิทธิในที่ดิน แต่ยืนยันว่าสายการบินฯ มีความพร้อมจะลงทุนเสมอ และเห็นว่าการมีสนามบินในพังงาจำเป็นต่อการรองรับความหนาแน่นของคลัสเตอร์อันดามัน ซึ่งโดยศักยภาพแล้ว เชื่อว่าสามารถยกระดับการรองรับผู้โดยสารให้ได้ใกล้เคียงกับภูเก็ต และจะสามารถขยายได้มากกว่าสนามบินสมุยที่อยู่ภายใต้การดูแลในขณะนี้ ซึ่งรองรับอยู่ 2 ล้านคนต่อปี