‘ไต้หวัน-สิงคโปร์’ชูสิทธิประโยชน์ชิงตลาดไมซ์

‘ไต้หวัน-สิงคโปร์’ชูสิทธิประโยชน์ชิงตลาดไมซ์

แม้ว่าไทยจะขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในผู้นำภูมิภาคเอเชียด้านการรองรับธุรกิจไมซ์ แต่ด้วยการแข่งขันจากต่างประเทศเพื่อชิงตลาดกำลังซื้อสูงนี้มากขึ้น ทำให้ต้องจับตามองในเชิงกลยุทธ์การแข่งขันที่เข้มข้นกว่าเดิม

ศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) กล่าวว่าในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “สิงคโปร์” เป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับไทยสูง โดยเฉพาะเมื่อทีเส็บกำลังเร่งตลาดโค้งสุดท้ายด้วยการดึงกลุ่มอินเซนทีฟขนาดใหญ่ (Mega Group) ที่มีหลักหมื่นคนขึ้นไป มีเพียงสิงคโปร์ประเทศเดียวที่มีสถานที่จัดการประชุมขนาดใหญ่ที่รองรับได้ ขณะที่มาเลเซีย แม้กำลังมีแผนการก่อสร้างศูนย์ประชุมพื้นที่กว่า 4 หมื่นตร.ม. แต่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี 

ดังนั้นในช่วงระยะสั้น จึงต้องจับตามองสิงคโปร์มากที่สุด โดยเฉพาะการเปิดแคมเปญระดับประเทศตัวใหม่ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ส.ค.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวสิงคโปร์แห่งประเทศสิงคโปร์ หรือ เอสทีบี เปิดตัวแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจใหม่ภายใต้แบรนด์Passion Made Possible ที่จะใช้ครอบคลุมพร้อมกันทั้งประเทศ โดยใน 7 กลุ่มสินค้าที่จัดเรียงใหม่ วางตำแหน่งกลุ่ม Progressor เจาะเป้าหมายตลาดไมซ์โดยเฉพาะ โดยมีการนำเสนอทั้งโปรแกรมการให้คำแนะนำในการจัดงานในสิงคโปร์, การให้สิทธิทางเงิน, และสิทธิพิเศษด้านภาษี สำหรับงานเทรดโชว์ที่ผ่านการรับรอง Approved International Fair (AIF) ด้วยตามเงื่อนไขที่กำหนด

ดังนั้นเพื่อให้ยังรักษาขีดความสามารถแข่งขัน ไทยจึงต้องเร่งสร้างจุดแข็งนำเสนอ “ความหลากหลาย” ของประโยชน์ที่ได้รับในการจัดงานในไทยมากขึ้น ชูจุดแข็งเรื่องการเป็นจุดหมายที่ให้ความสมดุลทั้งการทำงานและใช้ชีวิต ไม่เพียงแต่ผลสัมฤทธิ์ทางธุรกิจเท่านั้น โดยกระตุ้นตลาดคู่ขนานไปกับการให้ “สิทธิประโยชน์” ด้านเงินสนับสนุน เช่น โปรแกรม Meet Mega สำหรับกลุ่มที่มีผู้เข้าร่วมประชุม 3,000 คนขึ้นไป และใช้สถานที่ประชุมซึ่งผ่านการรับรอง จะได้รับเงินสนับสนุนในงบประมาณ 1 ล้านบาท ขณะเดียวกันให้ความช่วยเหลือธุรกิจจัดประชุมสัมมนาหรือการแสดงสินค้า ที่สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่รัฐบาลกำลังสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี 4.0 เป็นต้น

พร้อมวางกลยุทธ์ Offshore Convention หรือการส่งเสริมให้สมาคมวิชาชีพในต่างประเทศ นำสมาชิกของตัวเองออกมาจากประชุมสัมมนาที่ต่างประเทศ โดยเลือกไทยเป็นจุดหมายมากขึ้น เริ่มประสบความสำเร็จในการนำกลุ่มจากอินเดีย และเกาหลีใต้ เข้ามาได้แล้ว และปลายปีนี้ได้รับการยืนยันจากสมาคมแพทย์จากสปป.ลาว ในการเดิทางมาจัดสัมมนาในไทย

ขณะเดียวกันร่วมมือ “ไต้หวัน” ในการดึงสมาคมต่างๆ จากไต้หวันให้เข้ามาจัดงานสัมมนาในไทยมากขึ้น รวมถึงมีความเป็นไปได้ในการแบ่งปันฐานข้อมูลด้านการตลาดร่วมกัน เนื่องจากทั้งสองประเทศอยู่ในทวีปเอเชียคนละโซน มีความแตกต่างกันในกลุ่มเป้าหมายที่สามารถแลกเปลี่ยนช่วยเหลือกันได้ แม้ว่าขณะเดียวกันอาจมองได้ว่าเป็น “คู่แข่ง” ที่กำลังมาแรงอีกประเทศ เนื่องจากเริมมีการทำแผนรุกตลาดไมซ์อย่างจริงจัง

“ไต้หวันเป็นพันธมิตรด้านตลาดไมซ์ แต่ขณะเดียวกันก็มีศักยภาพการแข่งขันที่ต้องจับตามองมากขึ้น เนื่องจากแต่เดิมเคยใช้บริษัทเอกชนเป็นที่ปรึกษาและดำเนินการตลาดด้านไมซ์ แต่เมื่อ TAITRA (สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน) ประมูลสิทธิจากรัฐบาลได้เข้ามาเป็นผู้ดูแลอุตสาหกรรมไมซ์เอง ก็เริ่มมีการทำงานเชิงรุกมากขึ้น และมีประสิทธิภาพเนื่องจากเป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการค้า ที่สอดคล้องกับธุรกิจไมซ์ในทางเดียวกันอยู่แล้ว”

ด้าน เจสซี เจิง ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์การจัดประชุมนานาชาติไทเป (ทีไอซีซี) แห่ง TAITRA กล่าวว่า ภายใต้การใช้แคมเปญ Meet Taiwan เพื่อส่งเสริมตลาดไมซ์ ในปีนี้เริ่มมีการบุกตลาดในเชิงรุกสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ในหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลคือ New Southbound Policy หรือมุ่งลงใต้เพื่อสร้างฐานตลาดและความสัมพันธ์เชิงธุรกิจการค้าและการลงทุนใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากตลาดเดิม เช่น จีน และทำให้การเข้าร่วมเทรดโชว์ IT&CM Asia ที่กรุงเทพฯ ในปีนี้ ขยายพื้นที่บูธไต้หวันเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 20 ราย และได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองระดับจังหวัด เช่น Taipei City จากเมืองหลวงไทเป, เมืองเกาสง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ทางตอนใต้ รวมถึงการท่องเที่ยวไต้หวัน เข้าร่วมเสนอความพร้อมผลักดันไต้หวันเป็นจุดหมายด้านไมซ์ที่โดดเด่นในภูมิภาค

เจสซี กล่าวด้วยว่า นอกจากต้องการเพิ่มสัดส่วนลูกค้าตลาดไมซ์จากไทยแล้ว ยังเห็นความสำคัญในการร่วมมือกับ ทีเส็บ ในด้านการผนวกรวมเป็นจุดหมายเดียวในเอเชีย เพื่อสร้างความน่าสนใจจากตลาดระยะไกล (Long Haul) จากยุโรป โดยมองว่าทั้งสองประเทศต่างมีจุดแข็งที่เกื้อหนุนกันได้ และที่ผ่านมาไต้หวัน เริ่มพัฒนาโปรแกรมการให้สิทธิประโยชน์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง เช่นเดียวกับที่ไทยเคยมีการนำเสนอไปก่อนหน้านี้

สำหรับการออกแบบสิทธิประโยชน์พิเศษในปีนี้ อยู่ภายใต้ชื่อ Business Events in Surprising Taiwan (BEST) มีกลุ่มเป้าหมายทั้งตลาดประชุมและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล  (Meeting และ Incentive) จากต่างประเทศที่พำนัก 2 คืน ด้วยจำนวน 20 คนขึ้นไป ซึ่งโปรแกรมนี้จะให้การสนับสนุนการเงินสำหรับการสำรวจสถานที่จัดประชุมตั้งแต่ 1 หมื่นดอลลาร์ไต้หวัน สำหรับกลุ่ม 100-199 คน ไปจนถึง 2.5 หมื่นดอลลาร์ไต้หวัน สำหรับกลุ่มที่มีขนาด 400 คนขึ้นไป พร้อมกับจัดบริการของที่ระลึกสำหรับบริษัทที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโปรแกรม และมีโอกาสในการรับงบประมาณสนับสนุนในการจัดประชุมในปีต่อไปด้วย

นอกจากนั้น ไต้หวัน ยังมีจุดแข็งเรื่องสถานที่จัดการประชุมรองรับกลุ่มขนาดใหญ่ และมืออาชีพในการจัดการประชุมสัมมนา มีบริษัทที่เป็นดีเอ็มซี (Destination Management Company) กว่า 10 บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการจัดอีเวนท์และดูแลการเดินทางเฉพาะแบบไมซ์ และบริษัทนำเที่ยวอีกจำนวนมากที่สามารถปฏิบัติงานในแบบดีเอ็มซีได้

สำหรับปี 2559 จำนวนนักท่องเที่ยวไทยไปเยือนไต้หวันมีจำนวน 1.95 แสนคน ซึ่งรวมถึงนักเดินทางกลุ่มไมซ์ด้วย ป็นการเติบโตกว่า 57.26% เทียบกับปี 2558 และนับตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค.2560 มีจำนวนสะสมกว่า 1.67 แสนคน เติบโตกว่า 81.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการยกเลิกวีซ่าที่ทำให้การเดินทางของชาวไทยสะดวกมากขึ้น