‘กินเจ’ปี60เม็ดเงินสะพัด 4.5พันล้าน ‘ออนไลน์เดลิเวอรี่’มาแรง

‘กินเจ’ปี60เม็ดเงินสะพัด 4.5พันล้าน ‘ออนไลน์เดลิเวอรี่’มาแรง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเทศกาลกินเจปี 2560 เขตกรุงเทพฯ เม็ดเงินใช้จ่ายกว่า 4,500 ล้านบาท “ทรงตัว” เทียบปีก่อน เฉลี่ย 300 บาท/วัน/คน ชี้ไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัลเอื้อธุรกิจ “ฟู้ดออนไลน์ เดลิเวอรี่”โต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ วันที่ 20-28 ต.ค.2560 คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังสนใจกินเจ โดยกลุ่มเป้าหมายหลักที่ตั้งใจจะกินเจ คือ กลุ่มวัยทำงานอย่าง พนักงานออฟฟิศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกินเจเพื่อลดละกิเลส/ งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ เป็นหลัก ขณะที่เหตุผลรองลงมาคือ ต้องการกินเจเพื่อสุขภาพอิงกระแสอาหารคลีนฟู๊ด/ออร์แกนิค และเพื่อทำบุญถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

เมื่อพิจารณาถึงช่องทางในการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มเจ จะพบว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่นิยมเลือกซื้อมารับประทานที่บ้านหรือที่ทำงานมากกว่าที่จะออกไปทานตามร้านอาหาร โดยช่องทางเลือกซื้อยอดนิยม คือ ซื้อสำเร็จรูปจากร้านอาหารมารับประทานมากที่สุด รองลงมาคือ ซื้อจากร้านอาหารข้างทาง/ แผงลอย/ ตลาดสด (แบบตักขาย) เนื่องจากสามารถแบ่งทานได้หลายคน หลายมื้อ จากหลากหลายร้าน ซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคเป้าหมายที่มีลักษณะการดำเนินชีวิตที่ค่อนข้างเร่งรีบ ชอบทานอะไรง่ายๆ ที่สะดวกรวดเร็ว แต่ต้องมีความอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการและราคาที่สมเหตุสมผล

คาดว่าเทศกาลกินเจปี 2560 ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มเจกว่า 4,500 ล้านบาท “ทรงตัว”เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 

แม้ว่าปีนี้จำนวนคนที่สนใจกินเจจะไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่จากการเพิ่มจำนวนวันในการกินเจของผู้บริโภค โดยส่วนใหญ่ตั้งใจจะกินเจทุกมื้อตลอด 9 วัน  เทียบกับปีก่อนที่ส่วนใหญ่กินเจเป็นบางมื้อ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการกินเจในปีนี้โดยรวมไม่แตกต่างจากปีที่แล้ว คือมีงบประมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 300 บาท/คน/วัน 

ในขณะเดียวกัน การให้ความสำคัญกับคุณภาพอาหาร โดยการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มเจที่ดีต่อสุขภาพและใช้วัตถุดิบพรีเมียมในการปรุง รวมถึงการมองหาทางเลือกใหม่ๆ ในการจับจ่ายอาหารและเครื่องดื่มเจ น่าจะเอื้อให้ธุรกิจ Food Online/Delivery มีโอกาสถูกเลือกใช้บริการและสามารถสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น หากทำการตลาดโดนใจผู้บริโภคยุคดิจิทัลในช่วงกินเจปีนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สิ่งที่แตกต่างชัดเจนจากปีก่อน คือ การมีช่องทาง Food Online/Delivery เข้ามาเป็นทางเลือกให้คนกรุงฯ สามารถเลือกใช้บริการ โดยช่วงกินเจปีนี้คาดว่าทั้งผู้ประกอบการเดิมในตลาด (ผู้ประกอบการออนไลน์/เดลิเวอรี่) และผู้ประกอบการหน้าใหม่ (ผู้ประกอบการที่มีหน้าร้าน แต่ต้องการเพิ่มช่องทางขายแบบออนไลน์/เดลิเวอรี่ น่าจะใช้ช่องทางนี้นำเสนอเสินค้าและบริการจากทางร้านมากขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่จะนิยมซื้ออาหารเจจากร้านอาหารมาทาน แต่ประเด็นที่น่าจับตาคือ 72% ของกลุ่มตัวอย่าง สนใจสั่งซื้ออาหารเจหากทางร้านมีบริการจัดเซตเมนูอาหารผ่านช่องทางออนไลน์และมีบริการจัดส่งถึงที่ โดยเฉพาะกับผู้บริโภคที่ตั้งใจจะกินเจทุกมื้อตลอดทั้ง 9 วัน สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยุคใหม่คุ้นเคยกับการสั่งอาหารออนไลน์/เดลิเวอรี่มากขึ้น ทั้งการสั่งจากเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือแอพพลิเคชั่น เมนูที่ผู้บริโภคสนใจจะสั่งซื้อมากที่สุด ได้แก่ เมนูอาหารไทย (เจ) ตามมาด้วยอาหารเจประเภทเส้นและอาหารคลีน/ ออร์แกนิคเจ ตามลำดับ 

อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับมาดูอีก 28% ของกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่า ไม่สนใจที่จะสั่งซื้อผ่านช่องทางนี้ ก็เพราะชอบที่จะเดินเลือกซื้อเองมากกว่า รวมถึงไม่มั่นใจคุณภาพ/รสชาติและมองว่าราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น ปัจจัยด้านคุณภาพ ราคาและความคุ้นเคยที่มีต่อช่องทางการซื้อเดิมๆ ยังส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคผ่านช่องทางนี้อยู่พอสมควร

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ เดลิเวอรี่ในช่วงกินเจ กลุ่มเป้าหมายที่ควรจะไปทำตลาดก็คือ พนักงานออฟฟิศ แพทย์/ พยาบาล ธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย รวมถึงกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ มีข้อจำกัดด้านเวลา ในทางกลับกันก็มีความอดทนน้อยลง ไม่ชอบรออะไรนานๆ หรือยอมจ่ายมากขึ้นเพื่อแลกกับความสะดวกสบาย อีกทั้งยังใช้ชีวิตผูกติดอยู่กับสมาร์ทโฟนหรือโลกออนไลน์อยู่เป็นประจำ 

จึงไม่น่าแปลกใจว่าจากผลการสำรวจ คนกรุงเทพฯ กว่า 57% ที่กินเจในปีนี้ เป็นผู้บริโภคที่เคยใช้บริการสั่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์/ เดลิเวอรี่มาก่อน เฉลี่ย 2-3 ครั้ง/เดือน อีกทั้งยังตั้งงบประมาณในการกินเจต่อมื้อสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างอีกด้วย

หากวิเคราะห์ในเชิงธุรกิจ จะเห็นว่า ช่องทางการให้บริการออนไลน์/หรือเดลิเวอรี่ของผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม แม้จะไม่ใช่ช่องทางหลักที่ดึงเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเจ แต่จากความน่าสนใจในแง่ของมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้า (อาทิ การดีไซน์เมนูอาหาร-การเลือกใช้วัตถุดิบ การให้ความสำคัญกับคุณค่าโภชนาการ/ แคลอรี่) และบริการเสริมที่เข้ามาเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภค (เช่น การจัดส่งถึงที่ จัดส่งเร็ว) คือจุดขายสำคัญที่ผู้ประกอบการ Food Online/Delivery จะดึงเข้ามาใช้และคาดว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคกลุ่มเจรุ่นใหม่ ให้หันมาตัดสินใจซื้ออาหารและเครื่องดื่มเจจากช่องทางนี้เพิ่มมากขึ้น

กลยุทธ์ความคุ้มค่าด้านราคาและการสร้างความเชื่อมั่น คือเงื่อนไขสำคัญของธุรกิจ Food Online/Delivery ที่จะสามารถช่วงชิงกำลังซื้อผู้บริโภคได้ ภายใต้การแข่งขันในตลาดธุรกิจอาหารที่รุนแรงมากขึ้น