‘เจริญ’รุกค้าปลีกอาเซียนดัน‘บิ๊กซี’บุกมาเลย์

‘เจริญ’รุกค้าปลีกอาเซียนดัน‘บิ๊กซี’บุกมาเลย์

“เจ้าสัวเจริญ” ปูพรมค้าปลีกอาเซียน ดันสาขาทะลุ 2 พันแห่ง เล็ง มาเลเซีย ขยายธุรกิจครบวงจร  มุ่งลงทุนให้ผลตอบแทนด้านกำไรเป็นหลัก หลังแบกภาระต้นทุนทางการเงินการกู้สูง

นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการและกรรมการ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า มีแผนขยายการลงทุนธุรกิจค้าปลีกแบรนด์บิ๊กซี ในประเทศมาเลเซีย จากที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือทีซีซี กรุ๊ป โดยบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ บีเจซี มีการเข้าไปลงทุนซื้อโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วในมาเลเซียและมีโรงงานอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ การดำเนินธุรกิจในฐานะบริษัทขนาดใหญ่ ได้ให้ความสำคัญกับการวางรากฐานจากระดับล่างมากขึ้น เพื่อให้มีความแข็งแกร่ง ล่าสุดร่วมกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสร้างเครือข่ายการค้าเพื่อเสริมแกร่ง

“บิ๊กซีจะขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคมากขึ้น เรามีทีมที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาธุรกิจให้ก้าวหน้าเพื่อขยายตัวในอาเซียน โดยธุรกิจจะต้องไม่หยุดนิ่ง ถ้าหยุดเท่ากับถอยหลัง เพราะคนอื่นเดินหน้าตลอดเวลา ซึ่งล่าสุดบริษัทกำลังมองหาโอกาสในการเข้าไปลงทุนธุรกิจใหม่ๆ ในประเทศมาเลเซีย โดยกำลังวิเคราะห์อยู่ว่าจะเป็นกลุ่มรีเทลหรือส่วนไหน เป็นการขยายธุรกิจต่อจากเวียดนาม”

ขยายตลาดภูมิภาค

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า แนวทางการขยายห้างค้าปลีกจะให้ความสำคัญในการเชื่อมต่อ (Connectivity) กับพื้นที่การค้าชายแดนเพื่อกระจายสินค้าและบริการสู่ภูมิภาคมากขึ้น โดยจะไม่โฟกัสการเข้าไปลงทุนเป็นประเทศหรือตลาดยุทธศาสตร์อีกต่อไป แต่จะมองภาพเป็นยุทธศาสตร์อาเซียนหนึ่งเดียว

ปัจจุบันบิ๊กซีและบีเจซีในประเทศไทย มีห้างค้าปลีกในเครือรวมทุกรูปแบบมากกว่า 1,200 สาขาในภูมิภาคอาเซียน โดยมีประเทศไทยเป็นแกนหลัก และเชื่อมต่อกับเวียดนาม ซึ่งมีห้างเอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต 19 แห่ง ร้านสะดวกซื้อบีสมาร์ท กว่า 170 สาขา และมีโอกาสที่จะขยายได้อีกจำนวนมาก เบื้องต้นคาดว่าจะมีสาขาได้ไม่ต่ำกว่าประเทศไทยที่มีไฮเปอร์มาร์เก็ตรวม 300-400 สาขา เนื่องจากเวียดนามเป็นตลาดใหญ่ ขนาดประชากรมากถึง 90 ล้านคน และสาขาปัจจุบันที่บีเจซี มีอยู่ส่วนใหญ่อยู่ในโฮจิมินห์

ส่วนประเทศลาว มีร้านสะดวกซื้อเอ็มพ้อยท์ มาร์ท 23 สาขา เป็นเบอร์ 1 ในเวียงจันท์ และแนวโน้มในการขยายสาขาได้อีกมาก โดยเฉพาะบิ๊กซี ขณะที่ประเทศกัมพูชา เตรียมนำบิ๊กซีเข้าไปเปิดให้บริการ โดยมีทำเลที่มีศักยภาพ 3-4 เมืองหลัก เช่น เสียมเรียบ พนมเปญ และบริเวณท่าเรือสีหนุวิลล์  ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกเพียงแห่งเดียวของประเทศกัมพูชา

รุกเปิด“บิ๊กซี”มาเลเซีย

นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเข้าไปเปิดบิ๊กซีในประเทศมาเลเซียด้วย หลัง 1 เดือนที่ผ่านมา ท่านประธานเจริญ มีโอกาสเข้าพบกษัตริย์ของมาเลเซีย และมีความสนใจที่จะให้บริษัทเข้าไปลงทุน ซึ่งการเข้าไปลงทุนคาดว่าจะเป็นบิ๊กซี รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต ขนาด 3,000-4,000 ตารางเมตร  ใช้งบลงทุน 200-300 ล้านบาทต่อสาขา

“บิ๊กซี มุ่งปักธงห้างค้าปลีกไทยหัวใจคือลูกค้า ที่ประเทศกัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย โดยเป้าหมายคือการนำสินค้าและบริการของไทยไปให้เพื่อนบ้านอาเซียนที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามวิสัยทัศน์ของบริษัทต้องการเชื่อมต่อและสร้างเครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวางในภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันบริษัทมีห้างค้าปลีกทุกรูปแบบประมาณ 1,200 สาขาทั่วอาเซียน แต่ขณะนี้เรามองข้ามช็อตมากกว่า 2,000 สาขาแล้ว จะเป็นเท่าไรกำลังปรับแผน"

จากแผนดังกล่าวจะส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศและในประเทศเปลี่ยนไป ก่อนหน้านี้บริษัทมีรายได้จากต่างประเทศ 25% เมื่อได้บิ๊กซีเข้ามาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอ ทำให้รายได้ต่างประเทศไม่ถึง 10% แต่เบื้องต้นสัดส่วนรายได้ยังไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่สิ่งสำคัญคือการพิจารณาผลตอบแทนที่คุ้มค่าจากการลงทุน เนื่องจากบริษัทมีการออกหุ้นกู้ และมีภาระทางการเงินค่อนข้างมาก จึงมองความสามารถในการทำกำไรเป็นหลัก หากประเทศไหนลงทุนแล้วได้กำไรดี ก็จะนำเงินที่จะลงทุนไปยังประเทศนั้นๆ หรือหากลงทุนในไทยคุ้มค่ากว่าก็จะให้น้ำหนักการลงทุนในไทยก่อน

กระจายสินค้าป้อนผู้บริโภค

นอกจากนี้ เป้าหมายการเชื่อมต่อการค้าของบิ๊กซี ในภูมิภาค ยังให้ความสำคัญในการกระจายสินค้าป้อนถึงกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการขนส่งและกระจายสินค้าจะต้องอยู่ภายในระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง หรือเป็นไปได้อยู่ที่ 30 นาที จากปัจจุบันบริษัทยังเชื่อมต่อสินค้าถึงผู้บริโภค 3 ชั่วโมง แต่มองว่าในอนาคตสามารถเพิ่มจุดหรือขยายสาขาให้สามารถเพิ่มความถี่ในการเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้นด้วย

“การเชื่อมต่อการค้าในภูมิภาคอาเซียน อย่างบิ๊กซีสาขาอุดรธานี เราสามารถเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวได้ อุบลราชธานี ก็จะเชื่อมต่อกับช่องเม็ก ประเทศลาว ส่วนกัมพูชา ก็จะมีจุดเชื่อมต่อที่ตราด จันทบุรี ขณะที่ภาคใต้เชื่อมต่อกับรัฐกะลันตัน มาเลเซีย”

ปัจจุบันเครือทีซีซี มีธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ครบใน 2 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม หากลงทุนห้างบิ๊กซีในมาเลเซียจะเป็นประเทศที่ 3 ที่ครบวงจร จากมีโรงงานผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์หลายแห่ง มีธุรกิจกลางน้ำ โดยเครือข่ายการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าของเฟรเซอร์แอนด์นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น)

ล่าสุด บริษัทได้จัดโครงการ Big C Big Success ธุรกิจไทย โตไปด้วยกัน ซึ่งเป็นการดึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มาเป็นคู่ค้าธุรกิจมากขึ้น โดยคู่ค้าที่มีความคุ้นเคยกันจะช่วยสร้างการเจริญเติบโตธุรกิจไปยังภูมิภาคได้ด้วย ปัจจุบันบิ๊กซีมีคู่ค้าหลักหมื่นราย แต่มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่เกิน 5,000 ราย และสร้างสัดส่วนยอดขายให้กับบริษัทไม่ถึง 10%