ภักดีล้นหัวใจ ‘นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์’

ภักดีล้นหัวใจ ‘นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์’

เรื่องเล่าจากหัวใจคุณหมอผู้ได้ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทถึงพระจริยาวัตรอันงดงามของในหลวงรัชกาลที่ 9

แม้วันนี้บรรยากาศบนชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช จะต่างไปจากเมื่อหลายปีก่อนนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จมาประทับเมื่อปี พ.ศ.2552 แต่ความทรงจำของคณะแพทย์ผู้ถวายการรักษายังคงแจ่มชัด โดยเฉพาะในหัวใจของ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในเวลานั้น ผู้ซึ่งสวมบทบาทหัวหน้าคณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา ซึ่งประจักษ์ในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อโรงพยาบาลศิริราชและพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด 

นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวในโอกาสการบรรยายพิเศษเนื่องในงาน “ศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์” ที่อาคารศรีสวรินทิรา โรงพยาบาลศิริราช ว่า “สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของผมก็คือ การเป็นคณบดีที่เป็นหัวหน้าคณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ถือว่าผมได้ทำงานซึ่งยิ่งใหญ่ที่สุดของผมในชีวิตไปแล้ว เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด และเป็นงานที่สำคัญที่สุดในชีวิต ผมถือว่าไม่มีงานอะไรที่จะสำคัญมากไปกว่างานนี้อีกแล้ว”

คุณหมอธีรวัฒน์ย้อนเหตุการณ์ที่ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำให้ฟังว่า ตนเองได้ทำงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทครั้งแรกตั้งแต่ยังเป็นรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ก่อนจะมาเป็นหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี พ.ศ.2545-2550

“ช่วงที่สำคัญที่สุดก็คือในปี 2549 ช่วงนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประชวรด้วยโรคพระปฤษฎางค์ ปวดหลังนะครับ แล้วก็เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น ก็ได้เชิญแพทย์จากต่างประเทศมาเป็นผู้ถวายการผ่าตัด แล้วพวกเราก็ได้น้อมใจในการที่จะรักษาพยาบาลอย่างเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งนับแต่นั้นเป็นต้นมาผมก็ได้เห็นพระจริยาวัตรของพระองค์ท่าน งดงามที่สุดในชีวิต เป็นสิ่งซึ่งจะจารึกอยู่ในความทรงจำของผม และชาวศิริราชอย่างไม่รู้ลืม"

หลังจากนั้นเมื่อท่านดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระหว่างปี 2550-2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้กลับมาประทับที่โรงพยาบาลศิริราชอีกครั้งหนึ่งซึ่งถือเป็นช่วงระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนาน ในฐานะผู้ที่เคยถวายงานใกล้ชิด คุณหมอได้หยิบยกพระจริยาวัตรของพระองค์ที่คนไทยน่าจะได้นำไปเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตนเพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต

ทรงอดทนในการฟื้นฟูพระวรกาย

อย่างที่ทราบกันดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระประชวรขณะที่ทรงมีพระชนมายุมาก การฟื้นฟูเป็นเรื่องที่มีความยากลำบาก จะต้องทรงอดทนเป็นอย่างมากในการฟื้นฟูพระวรกายเพื่อให้แข็งแรง เพื่อที่จะได้กลับมาทรงงานเพื่อพสกนิกรของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นจากบรรทมมาเป็นประทับนั่ง จากประทับนั่งเป็นประทับยืน จากประทับยืนเป็นเสด็จพระราชดำเนิน ล้วนทรงทำด้วยความยากลำบาก แต่พระองค์ท่านก็มีความอดทนเป็นอย่างยิ่ง มิหนำซ้ำเมื่อเสด็จพระราชดำเนินได้แล้ว ก็ทรงจักรยานเพื่อสุขภาพด้วย

จักรยานเพื่อสุขภาพนี้ผมได้ให้ไปนำมาจากฟิตเนสเซ็นเตอร์ของศิริราช ซึ่งภายหลังเมื่อประธานองคมนตรีทราบว่าพระองค์ท่านต้องทรงจักรยานก็ได้ซื้อจักรยานแบบเดียวกันมาถวาย พระองค์ทรงมีวิระยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง ระหว่างทรงจักรยานผมก็กราบบังคมทูลว่า

“การทรงจักรยานเพื่อสุขภาพที่ถูกต้องมี 3 ประการพระพุทธเจ้าค่ะ หนึ่ง จะต้องตั้งอานสูงที่สุดที่เท้าเหยียบถึงจะได้ไม่สะเทือนเข่า สอง จะต้องมีความฝืดจะได้มีกำลังขา และที่สำคัญคืออย่าเร็วนักช้านักประมาณ 55 รอบต่อนาที” พอพูดๆ ไป ด้วยพระอารมณ์ขัน พระองค์ก็แย้มพระสรวลเล็กน้อย แล้วหันมารับสั่งว่า “คณบดีเริ่มเลคเชอร์แล้ว” ผมก็เลยรู้สึกตัวว่าจะพูดมากไปแล้ว ก็ต้องหยุดเลย ความจริงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ พระองค์ท่านทรงรู้ทุกอย่างอยู่แล้ว เพราะทรงโปรดกีฬามากๆ แล้วก็ทรงกีฬาหลากหลายรูปแบบทีเดียว

เรื่องที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงอดทนอย่างยิ่งก็คือ เสด็จทรงงานทั้งที่ยังประชวร เมื่อทรงมีพระวรกายที่แข็งแรงขึ้นก็จะทรงเยี่ยมพสกนิกร เพราะฉะนั้นถ้าใครรู้สึกว่าความอดทนของเราลดน้อยลงไป ก็อยากให้ไปเยี่ยมชมที่ฟิตเนสเซ็นเตอร์ที่ชั้น 12 แล้วไปดูจักรยานที่พระองค์ท่านทรงประทับ เราจะได้อดทนเหมือนพระองค์ท่านนะครับ

แล้วถ้าใครได้ไปศึกษา ได้ไปค้นคว้า หรือศึกษาการทรงงานของพระองค์ท่านไม่ว่ารูปแบบไหนก็ตาม เราก็จะได้สิ่งดีๆ ต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการทำงาน หรือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของเราอย่างมากมายมหาศาลทีเดียว

ทรงพระเมตตาต่อทุกคน

ตลอดระยะเวลาที่ได้ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สายพระเนตรที่ทอดพระเนตรมายังพวกเราเวลาเสด็จมาเป็นสายพระเนตรที่ทรงพระเมตตาเหลือเกิน แค่ทรงแย้มพระสรวลเล็กน้อยแค่นี้เราก็ชื่นใจหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งแล้วครับ การที่เราได้เทิดทูนบูชาใครสักคนหนึ่งแล้วได้รับความเมตตาแผ่ความเป็นมงคลมาถึง ความเป็นมงคลก็จะเกิดขึ้นกับเรา แล้วเราก็สามารถที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างดีมากขึ้นกว่าเดิม

ความเมตตาของพระองค์ท่าน อย่างเช่นเมื่อเสด็จลงจากลิฟท์ก็จะมีรปภ.คอยกดลิฟท์อยู่ เวลาประตูลิฟท์เปิดที่ชั้นล่างอาคารเฉลิมพระเกียรติ อ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ก็จะเข็นรถพระองค์ท่านออกมา พระองค์ทรงเอื้อมพระหัตถ์ไปแตะบ่ารปภ.เบาๆ แล้วก็รับสั่งว่า “ขอบใจนะ” นี่คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พ่อหลวงของเรา แม้กระทั่งเวลาเสด็จผ่าน ทรงรับสั่งถามรปภ.ว่า “วันนี้ได้นอนหรือยัง” ทรงพระเมตตาเหลือเกิน

เพราะฉะนั้นพวกเราได้แบบอย่างที่ดีในเรื่องของความเมตตา แล้วยิ่งเราเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่กายภาพบำบัด อะไรทั้งหลายก็แล้วแต่ ต้องปฏิบัติให้ได้เหมือนพระองค์ท่าน หน้าที่ของเราคือหน้าที่ที่ให้ความเมตตาแก่ทุกคน หน้าที่ให้กำลังใจแก่ทุกๆ คน เพราะฉะนั้นเราอย่าทำผิดหน้าที่ อย่าไปโกรธเคืองคนไข้ ไม่ได้นะครับ เราต้องมีแต่ความเมตตา มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินชีวิตของการเป็นแพทย์

ครั้งหนึ่งด้วยพระเมตตาของพระองค์ท่าน เมื่อคณบดีเฝ้าอยู่ก็ทรงถามว่า “ชาวศิริราชว่ายน้ำเป็นกันทุกคนหรือเปล่า” ผมก็กราบบังคมทูลไปว่า “เป็นบ้างไม่เป็นบ้างพระพุทธเจ้าค่ะ” แต่ก็มีสระว่ายน้ำสำหรับให้พวกเราหัดว่ายน้ำ ทรงห่วงใยมาก นอกจากนี้ยังทรงรับสั่งว่า “เวลาทำศาลาให้จัดที่นั่งให้นักศึกษาแพทย์อ่านหนังสือด้วยนะ” ทรงห่วงใยถึงขนาดนี้ เพราะว่าจากชั้น 16 ทอดพระเนตรลงมาก็จะความเป็นไปทั้งหมดในศิริราช เห็นไปจนถึงพระราชวังฝั่งโน้นไปจนถึงสนามหลวงเลย

อีกเรื่องหนึ่งที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวศิริราช คือระหว่างที่มีการประชุมในห้องประชุมชั้น 12 ผมรอเฝ้าเพื่อรับเสด็จกลับชั้น 16 ก็นั่งรออยู่ข้างนอก พระองค์ทรงมีรับสั่งถามผมว่า “ศิริราชมีต้นศรีตรังมั้ย” ผมก็กราบบังคมทูลไปว่า “ไม่มีพระพุทธเจ้าค่ะ” พระองค์ท่านก็ไม่ได้รับสั่งอะไร แต่รับสั่งกับพยาบาลว่า “ให้ศิริราชปลูกต้นศรีตรัง” ซึ่งผมก็ไปหาเหตุผลมามากมายมหาศาล ก็ยังหาไม่เจอว่ามีพระราชประสงค์อย่างไร แต่ก็รับสั่งให้เอาต้นศรีตรังจากจังหวัดตรังมาเลย ต้นสูงประมาณหนึ่งคืบแล้วก็ปลูก พวกเราก็เตรียมต้นใหญ่ไว้ประมาณ 3-4 ต้น พระองค์ท่านก็ปลูกต้นเล็กต้นหนึ่งที่ลานสมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก แล้วด้านซ้ายก็เป็นต้นใหญ่

ต้นใหญ่นี้ในช่วงเสด็จสวรรคตก็เหี่ยวเฉาใบร่วงลงไป ผมก็คิดว่า...แม้แต่ต้นไม้ยังร้องไห้ ใบร่วงหมดเลยนะครับ คนก็ตีความต่างๆ นานา ซึ่งตอนหลังกรมป่าไม้มาดูแลจนตอนนี้เริ่มงอกออกมาก นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มอบต้นศรีตรังให้กับศิริราช แล้วต้นศรีตรังที่ทรงให้เพาะกล้ามานี้มีความหมายนะครับ เพราะบางช่วงที่มีดินถล่มทลายก็ทรงรับสั่งว่า “เนี่ยเพราะว่าต้นไม้ไม่มีรากแก้ว” ถือว่ามีความสำคัญ และพระองค์ทรงปลูกให้เห็นเลยว่า ต้นศรีตรังปลูกตั้งแต่ต้นกล้าเล็กๆ มีรากแก้ว

มีอยู่ตอนหนึ่ง พวกเราเข้าเฝ้ากันอยู่ประมาณ 3-4 คน แล้วก็ช่วงนั้นเป็นช่วงที่แพทย์ถูกฟ้องร้องมาก ความไม่เข้าใจกันระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยและญาติก็มากมาย และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคก็จะเข้าสภา ปัญหาต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นมากมาย พระองค์ท่านก็รับสั่งว่า ให้พวกเรา “อ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าไปดูถูกใคร” ผมรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมทันที

ต้องสุภาพนะครับ ต้องให้เกียรติผู้อื่น ทุกคนมีดีหมดไม่ว่าจะทำงานในระดับไหน การให้เกียรติซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งซึ่งมีความหมายมาก เราเป็นหมอ มีหน้าที่ให้กำลังใจให้ความเมตตา ต้องให้เกียรติกับผู้ป่วยและญาติ ไมตรีจิตก็จะเกิดขึ้น ความเข้าใจกันก็จะเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ก็ดีขึ้น โอกาสเกิดการฟ้องร้องก็มีน้อยหรือไม่มี เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งซึ่งพระองค์ท่านทรงห่วงใยพวกเราในเรื่องทุกๆ เรื่อง

ทรงงานหนักเพื่อพสกนิกร

ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ทุกครั้งที่มีพระอาการดีขึ้น พระองค์จะทรงงานทันที หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ อินเตอร์เน็ต ทีวี ทุกอย่างทรงเข้าไปดูหมด แล้วก็ทรงงานตลอด พระองค์ทรงห่วงใยพสกนิกร แล้วการทรงงานของพระองค์ท่านก็ออกมาในรูปแบบที่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจตามหน่วยงานที่พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งลงไป ผมก็มีหน้าที่ถวายรายงาน ได้เห็นพระองค์ท่านทรงงาน พวกเราก็นั่งเข้าเฝ้าอยู่ รู้สึกชื่นชมและมีความสุขมากๆ ที่ได้เห็นพ่อหลวงของเราทรงงานเพื่อประชาชนของพระองค์ท่านถึงแม้ว่าจะทรงพระประชวรก็ตาม อันนี้ถือว่ามีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นทีเดียว

บางครั้งเสด็จลงมาทรงพระเกษมสำราญที่ท่าน้ำ ผมก็ต้องถวายรายงานเรื่องระดับน้ำ บางครั้งทอดพระเนตรจากข้างบนลงมาทรงเห็นว่าน้ำในคลองทำไมไม่ไหลลงเจ้าพระยา ก็รับสั่งกับพยาบาลว่า ให้คณบดีไปหาข้อมูลมา ผมก็ต้องรีบไปที่เขตไปเอาข้อมูลมาว่าคลองอยู่ตรงไหนบ้าง แล้วทำไมมันตันตรงนี้ แล้วก็รีบนำแผนที่ไปถวาย พระองค์ท่านก็ทรงรับสั่งว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะฉะนั้นทรงรอบรู้ไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ เรื่องการจราจร

เพราะฉะนั้นเราได้เห็นตัวอย่างในลักษณะนี้แล้ว กรุณาอย่าลังเลในการที่จะสร้างคุณประโยชน์ สร้างคุณงามความดีต่อชาติบ้านเมืองของเรา เพื่อถวายแด่พ่อหลวงของเรา

ในวิชาแพทย์ผมขอยกตัวอย่างพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ได้พระราชทานแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดล ในงานพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2516

“การเรียนวิชาแพทย์ คือการเรียนวิชาเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นยิ่งกว่าของตน เพราะต้องใช้ความรู้ความชำนาญทั้งหมดที่มีอยู่ สงเคราะห์ อนุเคราะห์ผู้อื่น และจะต้องอุทิศตน อุทิศเวลา แม้กระทั่งความสุขส่วนตัว เพื่อปฏิบัติการเช่นนี้อยู่ตลอดชีวิต”

นี่คือสิ่งที่พระองค์ได้พระราชทานแนวทางไว้ ซึ่งผมปวารณาว่าจะต้องตามรอยพระบาท และขอให้พวกเราได้ร่วมกันตามรอยพระบาท ทำเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมนะครับ

..................

แม้จะเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ของพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แต่ทุกเรื่องราวที่บอกเล่าโดย นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ ก็ทำให้ผู้ฟังมีทั้งรอยยิ้มและน้ำตาไปพร้อมกัน ยิ้มในพระจริยาวัตรอันงดงาม กลั้นน้ำตาเมื่อนึกถึงว่าคงไม่ได้เห็นภาพเหล่านั้นอีกแล้ว ซึ่ง นพ.ธีรวัฒน์ ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงความสุขของพ่อหลวงว่า

“เวลาเสด็จไปที่ไหนๆ ทุกคนจะเห็นว่าพระองค์มีกล้องห้อยพระศออยู่ แล้วทรงถ่ายรูปพสกนิกรที่มาเฝ้ารอรับเสด็จ พอกลับไปที่ประทับก็จะนำไปทอดพระเนตร แล้วพระองค์ท่านก็พระพักตร์แจ่มใสขึ้นเมื่อเห็นพวกเราได้แสดงความจงรักภักดี การเปล่งเสียงทรงพระเจริญก็ทรงได้ยินนะครับ”

ทว่าเหนือสิ่งอื่นใด คุณหมอฝากไว้ว่า “เรามีตัวอย่างที่ดีมากๆ ใครสนใจด้านไหน ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่พระองค์ท่านทำให้ถ่องแท้ แล้วหากได้ตามรอยพระบาทก็จะเป็นสิ่งที่ดี พระองค์น่าจะมีความสุขที่เราได้ถวายงานไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม”

สำหรับพสกนิกรชาวไทยแล้ว จากนี้ตราบนิรันด์...“พระมหากษัตริย์ทรงจารึกในดวงใจพวกเราทุกคน”